จากตำบลช่อมะกอก สู่แสงดาวอีกดวง… ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ – บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

จากตำบลช่อมะกอก

สู่แสงดาวอีกดวง…

‘วัฒน์ วรรลยางกูร’

 

“หลายคนที่อ่านปีศาจหรือแลไปข้างหน้า จะมีไฟอยากออกชนบท อันนี้เราได้เห็นจริงๆ ว่าวรรณกรรมมันมีพลัง เราเห็นเพื่อนๆ เราหลายคนเข้าร่วมการต่อสู้ก็เพราะผลจากการอ่านวรรณกรรมดีๆ แต่ว่ามันก็คงมีส่วนอื่นอยู่ด้วยที่ผลักดันความคิดของเขา วรรณกรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างแรงบันดาลใจ พระเอกอย่างสายสีมาในปีศาจนี่เป็นแบบฉบับ คือยอมรับว่ามีพลังจริงๆ”

นักเขียนบางคน เราจะรู้จักก็จากงานเขียนของเขา หรือไม่ก็จากบทสัมภาษณ์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

นักเขียนบางคน เช่น นักเขียนรุ่นใหญ่อย่าง ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ สารภาพว่าผู้เขียนรู้จักแต่ชื่อกับผลงาน ที่เคยอ่านอย่าง ตำบลช่อมะกอก, คือรักและหวัง, ปลายนาฟ้าเขียว และที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อย่าง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ โดยผู้กำกับฯ เป็นเอก รัตนเรือง

เมื่อตอนหาข้อมูลก็ได้ประวัติรวบกระชับใน ช่อการะเกด 9 สบสังวาสสโมสร ไตรมาสที่หนึ่ง 2535 ว่า

วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นนามปากกาของ นายวีรวัฒน์ วรรลยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2498 ที่จังหวัดลพบุรี แต่มาเติบโตที่จังหวัดปทุมธานี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายแล้วเข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมเรื่องสั้นเล่มแรกคือ นกพิราบสีขาว (พ.ศ.2518) และเล่มต่อๆ มามี อาทิ กลั่นจากสายเลือด (พ.ศ.2519) ข้าวแค้น (พ.ศ.2522) น้ำผึ้งไพร (พ.ศ.2533) ลูกพ่อคนหนึ่ง (ถากไม้เหมือนหมาเลีย) (พ.ศ.2529) เรื่องสั้น “ความฝันวันประหาร” และ “รถไฟสังกะสี” ได้รับรางวัล “เรื่องสั้นดีเด่น” จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยประจำปี 2525 และ 2528 ตามลำดับ ปัจจุบันทำงานเขียนอิสระ สมรสแล้ว มีบุตร 3 คน

ก่อนจะกลับมาอ่าน ‘ต้นธาร’ เบื้องหน้าและเบื้องหลังอันเป็นผลงานเรื่องแรกอย่าง ‘ตำบลช่อมะกอก’

วัฒน์ วรรลยางกูร ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาว่า นี่คือนิยายเรื่องแรกในชีวิตการเขียน นิยายที่เริ่มบทแรกแล้วยังไม่รู้จะเขียนต่อไปอย่างไร ยิ่งนึกไม่ถึงว่ามันจะเป็นหนังสือขายได้, เป็นหนังสือต้องห้าม (2519), เป็นหนังสือที่ต้องลักลอบพิมพ์ (2521), เหมือนกับหนังสือในอีกหลายๆ เล่มในสถานการณ์นั้น

ผมเริ่มเขียนบทแรกในเดือนตุลาคม 2518 เป็นช่วงบรรยากาศการต่อสู้ทางการเมืองกำลังดุเดือด เป็นบรรยากาศของการเลือกข้าง สองเดือนก่อนหน้านั้น เพิ่งมีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย กรณีจับ 9 ชาวนานักศึกษาที่ภาคเหนือ และกรณีการเข่นฆ่าล่าสังหารผู้นำชาวนาในถิ่นต่างๆ ราวปลิดใบไม้ร่วงในระยะนั้น

ช่วงนั้นมีการเคลื่อนไหวของชาวนา ผู้นำสหพันธ์ถูกสังหารเป็นข่าวที่สะเทือนใจ การเคลื่อนไหวของพวกเขามีผลต่อความรู้สึกของเรา เรารู้สึกร่วม ไปชุมนุมด้วย ไปทำข่าว ไปสัมภาษณ์ชาวนามาทำสารคดีลงหน้ากลางในอธิปัตย์ชื่อ “เสียงจากคนกบฏ”

ตำบลช่อมะกอก มันเป็นงานที่ไปกับการเคลื่อนไหว ซึ่งตัวคนเขียนเองก็ไปกับการเคลื่อนไหว คนที่แวดล้อมอยู่ก็พวกนี้ทั้งนั้น อยู่ในบรรยากาศเหล่านั้น เวลามีการปะทะกัน เราก็ได้เห็น ได้ยินเสียงปืน เป็นช่วงชุมนุมต่อต้านการกลับมาของประภาส การเขียนนี่ก็มีลักษณะใกล้ชิดเหตุการณ์มาก ถ้าสังเกตก็จะรู้ว่าคนเขียนเองก็ไม่เป็นกลาง เราก็เขียนแบบเลือกอยู่ข้างหนึ่งแล้ว เลือกที่จะเป็นปากเสียงของพวกเขา

“เป็นวิธีการเข้าร่วมการต่อสู้ในแบบของเรา ในแบบของนักเขียนคนหนึ่ง เราสามารถเข้าร่วมการต่อสู้ได้ด้วยวิธีนี้ เป็นการต่อสู้ที่เราเองก็มีเป้าหมายอยากให้สังคมมันดีขึ้น”

 

ด้านสำนักพิมพ์สามัญชน ซึ่งตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ ก็ได้เขียนไว้อย่างเข้มข้นว่า

วัฒน์ วรรลยางกูร เริ่มชีวิต “นักเขียน” ของเขาอย่างค่อนข้างจริงจังก็ในสมัยนั้น โดยที่อีกภาคหนึ่งเป็นนักข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์ “อธิปัตย์” ของศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นั่นจึงไม่น่าสงสัยว่าบรรยากาศการพูดคุยที่เขาสัมผัสคลุกคลีระยะนั้นจะไม่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของเขา…ซึ่งไม่ว่าวัฒน์จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม นั่นเท่ากับว่าเขาได้สร้างประวัติศาสตร์ปรากฏแก่วงวรรณกรรมไทยไว้สองสถานะแล้ว ก็คือ

ข้อแรก ตำบลช่อมะกอก คือนวนิยายในสกุล “เพื่อชีวิต” เล่มแรกที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียน “รุ่นใหม่” ที่เติบโตขึ้นมาภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ข้อสอง ในบรรดานักเขียนยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ด้วยกัน วัฒน์ วรรลยางกูร นับเป็น “คนแรก” ที่ลงมือสร้างงานวรรณกรรมประเภทนวนิยายก่อนคนอื่น โดยขณะเดียวกันก็ต้องบันทึกต่อไปอีกว่า ตำบลช่อมะกอก เป็นการเปิดศักราชชีวิตนักเขียน “นวนิยาย” ของวัฒน์อีกด้วย

และการที่เขาเริ่มบทแรกของนวนิยายเรื่องดังกล่าวในวาระครบสองปี 14 ตุลาคมพอดี นั้นน่าจะสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะจุดยืนของผู้เขียน

 

หลังจากนั้นผู้เขียนก็ได้มาทำความรู้จักตัวตนของวัฒน์ วรรลยางกูล มากขึ้น โดยการกลับไปอ่านมุมมองความคิดที่มีต่อการทำงานเขียน รวมทั้งตัวตนและผองเพื่อนใน WRITER ฉบับที่ 11 ประจำเดือนสิงหาคม 2536 แม้จะเป็นบทสัมภาษณ์ที่ล่วงผ่านมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม แต่ทว่าในหลายช่วงหลายตอน เขาก็กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘อำนาจวรรณกรรม’

“เราได้อ่านหนังสือหลายๆ เล่มช่วยเปิดมิติความคิดความอ่านให้กว้างขึ้น ตั้งแต่เป็นช่วงนักเรียนมัธยม เราอ่านหนังสือ เรารู้ว่าที่เราเป็นตัวเป็นตนมาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเราได้จากหนังสือ มันก็น่าจะมีอิทธิพล มีผลต่อคนอื่นด้วยเช่นกัน…นักเขียนรุ่นใหม่บางคนเจอกัน เขาก็บอกอ่านงานของผมมาตั้งแต่มัธยม นี่เป็นอำนาจวรรณกรรมหรือเปล่า ก็ให้ความรู้สึกที่ดีเหมือนกันนะ”

“การอ่านหนังสือคุณภาพเป็นมรดกที่พ่อทิ้งไว้ให้โดยไม่ตั้งใจคือ มีตู้หนังสืออยู่ตู้หนึ่งที่ไม่มีใครสนใจ เราก็เอามาอ่าน มีหนังสือหลายเล่มที่ทำให้ผมสนใจวรรณกรรม เช่น ละครแห่งชีวิต ของ ม.จ.อากาศ ดำเกิง และสงครามชีวิต หนังสือสองเล่มนี้อ่านแล้วเหมือนมีคนมาปลอบประโลมใจ ‘ไผ่แดง’ ผมก็ได้อ่านตอนอยู่ ป.7 อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นการต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยที่คอมมิวนิสต์ก็มีความน่ารัก เป็นมนุษย์มนาเหมือนกัน อ่านแล้วไม่ได้เกลียดคอมมิวนิสต์เท่าไหร่ ไอ้แกว่นก็น่ารักเพียงแต่บื้อๆ ไปหน่อย”

“ถือว่าเป็นความบังเอิญที่ได้อ่านหนังสือดีๆ ก่อนหน้านั้น ผมก็อ่านนิยายบันเทิงเริงรมย์ธรรมดา”

 

และเมื่อ ‘อ่าน’ วัฒน์ วรรลยางกูร ในตอนที่เรียบเรียงเขียนงานสารคดีชีวิตบุคคล ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ ก็ยิ่งทำให้เราได้รู้จักอดีตอันน่ารื่นรมย์ที่เจ้าตัวบอกเล่าอย่างมีความสุขผ่านสารรักจากท้ายทุ่งว่า

ผมคุ้นกับเรื่องราวของครูไพบูลย์ บุตรขัน มาตั้งแต่เด็ก เพราะเติบโตจนเรียนจบชั้นประถมที่ทุ่งเชียงราก ที่วัดดาวเรือง นั่งเรือหางยาวจากคลองแม่น้ำอ้อมออกมายังแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อใดก็แลเห็นบ้านท้องคุ้งอยู่ลิบๆ และเล่าขานกันว่า บ้านของนักแต่งเพลงชื่อดังอยู่ที่นั่น

วัย ป.4 ที่ปทุมธานี หรือ ป.4 ที่ลพบุรีนั้น ในกระเป๋าหนังสือของเพื่อนบางคนมีหนังสือเพลงเล่มละสองบาทแล้ว ลุงของผมสมัยเป็นหนุ่ม นักเลงประจำหมู่บ้านโรงหีบ (ใกล้วัดดาวเรือง) ชอบเพลงของคำรณและสุรพล ขนาดตั้งก๊วนสูบกัญชาตามรอยคำรณกันเลย หนุ่มรุ่นน้าชายจับกลุ่มเปิดหนังสือเพลงเล่มละบาท-สองบาทร้องกันที่ศาลาท่าน้ำวัดดาวเรือง หรือไม่ก็ที่ศาลาลอยลมท้ายวัด เพลงเหล่านี้มาอยู่ในความทรงจำโดยไม่ได้ท่องจำ แม้เมื่อผมหันไปฟังเพลงลูกกรุง เพลงสุนทราภรณ์ เพลงสากลในช่วงระยะสั้นๆ หรือกระทั่งถึงยุคเพลงเพื่อชีวิต ความทรงจำเกี่ยวกับเนื้อเพลงลูกทุ่งไม่อาจถูกลบเลือนไปได้ง่ายๆ ราวกับมันเป็นต้นไทรที่ลงรากยึดริมฝั่งคลองที่คลื่นซัดสาดกี่ฤดูน้ำหลากยังเกาะรากยืนต้นมั่นคง

เพราะในวัยประถมเจ็ด ผมติดตามฟังรายการเพลงลูกทุ่ง (ช่วงปิดเทอมและกลับมาอยู่บ้านแม่ที่ปทุมธานี) วันละ 9-12 ชั่วโมง บรรยากาศในเพลงส่วนใหญ่ที่ศรคีรีร้องช่างคุ้นเคย เพราะมันมีที่มาจากทุ่งเชียงรากและคลองแม่น้ำอ้อมที่ผมเคยอาบกินแหวกว่ายมาแต่เล็กนั่นเอง

 

แม้นั่นจะเป็นเพียงบางส่วนเสี้ยวเล็กๆ ที่ผู้เขียนได้ทำความรู้จักตัวตนของนักเขียนผ่านผลงานของเขา แม้จะเพียงผิวเผิน แต่จากบันทึกปากคำ สัมผัสถ้อยภาษาอันสละสลวยงดงาม บรรยากาศท้องทุ่ง เพลงลูกทุ่ง และการยืนหยัดต่อสู้ในวิถีและเส้นทางที่เลือกเดิน แม้ชีวิตจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ขรุขระและยากลำบาก แต่นั่นก็ทำให้เราได้เห็นถึงจุดยืนอันหนักแน่นของนักเขียนคนหนึ่งจากจุดเริ่มที่ไม่ยอมพ่ายดัง ‘วรรคทอง’ อันลือลั่นในบทเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ที่ว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย”

และหนึ่งคนนั้นในวันนี้ก็คือชายชื่อ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’

หมายเหตุ : อาลัยแด่วัฒน์ วรรลยางกูร เจ้าของรางวัลศรีบูรพา ที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศสและจากไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยวัย 67 ปี

ข้อมูลประกอบการเขียน :

– นิตยสาร ช่อการะเกด สบสังวาสสโมสร ไตรมาสที่หนึ่ง 2535

– ไรท์เตอร์ แมกกาซีน ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2536

– นวนิยายตำบลช่อมะกอก/วัฒน์ วรรลยางกูร/สนพ.สามัญชน พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2533

– หนังสือ คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน/วัฒน์ วรรลยางกูร/แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 สิงหาคม 2550