ธงทอง จันทรางศุ | ตาบอดคลำ ‘โยคี’

ธงทอง จันทรางศุ

วันนี้เรามาเล่นเกมตาบอดคลำช้างกันสักวันดีไหมครับ

สำนวนว่า “ตาบอดคลำช้าง” นี้เป็นสำนวนเก่าแก่ของคนไทย ตามความเข้าใจส่วนตัวของผมหมายความว่า เรากำลังจะพยายามศึกษาเรื่องราวอะไรสักอย่างหนึ่งที่ใหญ่โตมโหฬาร แต่ตัวเราเองก็ไม่แน่ใจว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรแท้ จึงใช้มือลูบคลำไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็เดาผิดเดาถูกไปตามเรื่อง เปรียบกับช้างที่เรากำลังใช้มือคลำอยู่ ผลสุดท้ายแล้วก็จะพอเข้าใจว่าช้างตัวนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร แต่ความเข้าใจนั้นอาจจะไม่ถูกต้อง 100% ก็เป็นได้

“ช้าง” ที่ผมจะคลำในวันนี้ คือถ้อยคำศัพท์แสงในภาษาไทยที่โผล่ขึ้นมาสู่ความรับรู้ของผมเนื่องจากคดีคุณแตงโมตกจากเรือเมื่อหลายวันก่อน แล้วต่อมามีคุณผู้ชายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้สองคน ซึ่งแต่แรกตั้งใจจะบวชพระอุทิศกุศลให้คุณแตงโมผู้ล่วงลับ แต่ติดขัดด้วยข้อกฎหมายเพราะมหาเถรสมาคมมีคำสั่งห้ามไว้เป็นการเด็ดขาด ไม่ให้พระอุปัชฌาย์ตามวัดต่างๆ บวชให้กับคนที่มีคดีติดตัว เมื่อบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ก็เลยมาบวชพราหมณ์เป็นโยคี บวชแล้วยังธุดงค์ไปทางชายแดนด้านตะวันตกแถวเมืองกาญจนบุรีเสียด้วย

ป่านนี้จะสึกหาลาเพศเสียแล้วกระมัง

ข้อเท็จจริงข้างต้นผมสรุปมาจากสื่อมวลชนสาขาต่างๆ ซึ่งระดมกันทำข่าวต่อเนื่องนานวัน โดยผมไม่ได้ไปร่วมพิธีบวชหรือพิธีสึกแต่อย่างใด

หัวใจของเรื่องอยู่ตรงที่ว่า เมื่อบวชพระไม่ได้ก็เลยไปบวชพราหมณ์ บวชพราหมณ์เสร็จเรียบร้อยแล้วเรียกว่าเป็นโยคี

และตามภาพข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ก็ดี หรือในโทรทัศน์ก็ดี โยคีนั้นก็โกนผม ใส่เสื้อใส่กางเกงเหมือนอย่างคนธรรมดาแบบเราท่านนี่แหละ เพียงแต่ใช้สีน้ำตาลอย่างที่หลายท่านเรียกว่าสีกรัก

อ่านข่าวมาได้แค่นี้ ความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมมีติดตัวมาบ้างก็แตกกระจายไม่เหลือเป็นเสี่ยงเลยครับ อะไรคือบวชพราหมณ์ บวชพราหมณ์เสร็จแล้วผู้นั้นจะเป็นโยคี ใช่หรือไม่ จงอธิบาย (10 คะแนน) ฮา!

เรื่องบวชพระคืออะไรนั้นเข้าใจได้ไม่ยากเพราะเห็นกันมาตลอดชีวิตแล้ว และหลายคนก็เคยบวชพระแล้วด้วย

ส่วนบวชพราหมณ์นั้นเป็นของเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในบ้านเมืองเราเมื่อไม่ช้านานมานี้เอง จะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมของคนไทยก็เห็นจะได้

อันว่าพราหมณ์ของแท้นั้น เป็นชื่อวรรณะหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ซึ่งจำแนกคนออกเป็นสี่หมู่ใหญ่แยกตามชาติกำเนิด คือ กษัตริย์ หมายถึงสกุลนักรบและผู้ปกครอง พราหมณ์ หมายถึงสกุลนักบวช แพศย์ หมายถึงสกุลผู้ทำการค้าขาย และศูทร หมายถึงสกุลผู้ใช้แรงงาน

ในระบบวรรณะของพราหมณ์นี้ คนที่เกิดมาในตระกูลพราหมณ์ก็เป็นพราหมณ์มาตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก แต่ยังไม่มีฐานะเป็นนักบวชนะครับ เพราะใช่ว่าคนที่มีวรรณะพราหมณ์ด้วยการเกิดจะต้องกลายเป็นนักบวชเสมอไป หากแต่ต้องรอให้เติบใหญ่และมีความสมัครใจบวชเป็นพราหมณ์ นุ่งขาวห่มขาวเรียนพระเวทนั่นแหละจึงจะมีฐานะเป็นนักบวชขึ้นมา

ในเวลาเรียนวิชาภาษาไทยเมื่อตอนผมเป็นเด็ก ศัพท์คำว่า “ทวิชชาติ” ซึ่งแปลว่าผู้เกิดสองครั้ง จึงหมายความถึง นกหรือพราหมณ์

นกเกิดสองครั้งอย่างไรหรือครับ ครั้งแรกแม่นกตกไข่ออกมาเป็นฟอง นั่นเป็นการเกิดครั้งที่หนึ่ง เมื่อฟักไข่เป็นลูกนกออกมา นั่นเป็นการเกิดครั้งที่สอง

คนที่บวชเป็นพราหมณ์ก็เหมือนกันครับ เกิดครั้งแรกก็เป็นพราหมณ์แล้วด้วยวรรณะ ด้วยชาติตระกูล เมื่อเติบโตขึ้นบวชเป็นพราหมณ์ ต้องถือว่าเป็นการเกิดในฐานะพราหมณ์รอบที่สอง จึงเรียกว่าทวิชชาติดังที่ว่า

เราต้องไม่ลืมว่าผู้ที่มีอยู่ในวรรณะพราหมณ์ที่ไม่สมัครใจจะบวชหรือเกิดรอบที่สองเป็นพราหมณ์นุ่งขาวห่มขาวอย่างที่ว่า แต่คิดไปทำมาหากินอะไรอย่างอื่นก็ไม่มีใครห้ามปราม และถึงอย่างไรก็ยังนับว่าอยู่ในวรรณะพราหมณ์อยู่นั่นเอง

หลายปีก่อนผมไปเที่ยวเมืองอินเดียกับเพื่อนฝูง พนักงานประจำคณะทัวร์ของเราก็เป็นพราหมณ์แบบที่ว่านี่แหละครับ เวลารถติดรถชน คุณพราหมณ์ของเราลงไปเจรจาประเดี๋ยวเดียวเหตุการณ์ก็คลี่คลาย ด้วยวรรณะที่มีติดตัวอยู่ พูดจาอะไรคนอื่นก็เชื่อฟังนับถือ

คนอินเดียเขาดูกันออกครับว่าใครวรรณะอะไร เรื่องอย่างนี้เห็นจะฝังอยู่ในดีเอ็นเอกระมัง

เมืองไทยของเราผู้ที่อยู่ในตระกูลพราหมณ์ก็ยังถือคติอย่างนี้นะครับ คนที่จะบวชเป็นพราหมณ์ได้ต้องอยู่ในสกุลพราหมณ์ เช่น รังสิพราหมณกุล โกมลวาทิน รัตนพราหมณ์ คุรุกุล บุรณศิริ หรือวสุพราหมณ์ มาก่อนเท่านั้น

นามสกุลบุนปาน วงษ์เทศ หรือจันทรางศุ จะไปขอให้พระมหาราชครูบวชเป็นพราหมณ์ให้ไม่ได้เป็นอันขาด

ที่ว่ามาข้างต้นนี้เป็นพราหมณ์ของแท้ และไม่เกี่ยวกับเรื่องบวชพราหมณ์ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด อย่างที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าเรื่องบวชพราหมณ์นี้เป็นเรื่องของคนไทยคิดขึ้น มีความหมายหลักคือเป็นผู้ที่ถือศีลแปด ซึ่งหนึ่งในศีลแปดข้อนั้นคือการถือพรหมจรรย์ แค่นี้ก็ดูหรูหราขึ้นมาแล้ว

ส่วนผู้ที่บวชพราหมณ์จะโกนหัวหรือไม่ จะนุ่งขาวห่มขาวหรือแต่งตัวอย่างอื่นใด ไม่มีข้อกำหนดเคร่งครัดครับ เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวชพราหมณ์ตามขนบที่ว่านี้จะใส่เสื้อกางเกงสีกรัก หรือสีอื่นใด ก็แล้วแต่ใจปรารถนา

นี่เองจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถบวชพระได้ ให้สามารถบวชอะไรได้สักอย่างหนึ่งที่ไม่มีกฎกติกามารยาทเคร่งครัดนัก การบวชพราหมณ์นี้จึงทำได้ทั่วไป ไม่เลือกว่าชายหรือหญิง และไม่ติดขัดในเรื่องคดีความอะไรด้วย

ส่วนที่ว่า “บวชพราหมณ์” แล้วกลายเป็น “โยคี” ไปได้อย่างไรนั้น ผมเปิดพจนานุกรมดูแล้วเห็นอธิบายว่า โยคี คือฤๅษีพวกหนึ่ง พอไล่ตามไปว่า แล้วฤๅษีคืออะไรเล่า พจนานุกรมก็บอกว่า ฤๅษีคือนักบวช พวกหนึ่งมีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ

นี่อาจจะตีขลุมได้กระมังว่า ในเมื่อผู้บวชพราหมณ์แบบไทยของเราคือผู้ที่สมาทานศีลแปด ออกจากบ้านเรือนที่อยู่ตามปกติ ไปอยู่ตามวัดหรือที่สงบเงียบต่างๆ ก็น่าจะสงเคราะห์ได้ว่าอยู่ในความหมายของศัพท์คำว่า ฤๅษี และโยงไปหาคำว่า โยคี ได้ด้วยในที่สุด

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ จะผิดถูกอย่างไรผมไม่รับผิดชอบนะครับ

อ่านจบแล้วนึกว่าตัวใครตัวมันก็แล้วกัน

ก็ทุกวันนี้คนไทยเราตัวใครตัวมันอยู่แล้วนี่นา!