ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
ศัลยา ประชาชาติ
รัฐแจกไม่หยุด
ลดผลกระทบสงคราม
น้ำมันแพง ค่าครองชีพเพิ่ม- เงินเฟ้อพุ่ง
เยียวยาถ้วนหน้า 28 ล้านคน
30 กว่าวัน หลังโลกผวากับภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลสะเทือนถึงประเทศไทยทั่วทุกด้าน
ราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล พุ่งทะลุ 130 เหรียญต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 13 ปี คาดการณ์กันว่าราคาน้ำมันดิบจะทะลุ 130 หรือ 150 เหรียญ ก็เป็นได้
30 วันที่โลกอีกด้านเผชิญหน้ากับปัญหาความมั่นคง-สงคราม แต่ประเทศไทยสงบนิ่งในห้องประชุมเย็นเยียบ ที่หอสูงในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ผ่านวัน ผ่านสัปดาห์ กระทั่ง 1 เดือน ภายใต้การบริหารของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ คุมกระทรวงพลังงาน มีดุลอำนาจแต่ไม่อาจกุมสภาพ-ออกมาตรการ เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนทุกหย่อมหญ้า และใช้เวลาไปกับการ “ระดมความเห็น”
ในที่สุด ผู้ที่มีอำนาจสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องแถลงมติคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ประกาศเยียวยาทุกชนชั้นที่ได้รับผลกระจากสงครามอย่างเป็นทางการ 10 มาตรการ
มาตรการเยียวยารอบใหม่ ทำให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ต้องใช้เงินมาอุดหนุนถึง 7 หมื่นล้านบาท จาก 3 บัญชีประกอบด้วย 1.งบกลางปี 2565 รายการฉุกเฉินเร่งด่วน 2.วงเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้เงินโควิด และยอดเงินรายการที่ 3 คือ เงินกู้จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
การเยียวยาประชาชนรอบใหม่ 10 มาตรการ แม้ไม่ได้เป็นการแจกเงินสด แต่เป็นการลดรายจ่าย ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ถือบัตรสวัสดิการสังคม พ่อค้าแม่ค้า คนขับมอเตอร์ไซค์ มนุษย์เงินเดือนที่ทำประกันสังคม ตามมาตรา 33 และกลุ่มอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งเกษตรกรด้วย
นายกรัฐมนตรีสรุปคำอภิปรายจากห้องประชุม ครม. แถลงว่า “สถานการณ์การสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่จบได้เร็วนัก จึงได้สั่งการให้ระดมความคิดเพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน”
มีประชาชนทุกชนชั้น ได้รับผลของนโยบายสาธารณะ แบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่ อีกครั้ง ในมาตรการเยียวยา 10 ข้อ 90 วัน หลังสงคราม ทำให้ประชากรเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศได้รับผลสะเทือน 28.02 ล้านคน ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 เพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน
มาตรการที่ 2 ให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5,500 คน
มาตรการที่ 3 ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
มาตรการที่ 4 ยังคงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
มาตรการที่ 5 ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
มาตรการที่ 6 ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม
มาตรการที่ 7 ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง หรือจ่ายคนละครึ่งกันกับรัฐบาล
มาตรการที่ 8 กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
มาตรการที่ 9 มีผู้ได้ประโยชน์ลูกจ้าง 11,190,109 ราย นายจ้าง 480,000 ราย เป็นการลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
มาตรการที่ 10 ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,925,572 ราย จากเคยจ่ายจาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10,664,848 ราย จ่ายลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน
ทั้ง 10 มาตรการ ครอบคลุมดุลอำนาจของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง แต่ตกหล่น รายการเยียวยาปัญหาภายใต้การกำกับของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ
พล.อ.ประยุทธ์จึงคุมเกมด้วยข้อสั่งการเพิ่มเติมว่า “ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต่างๆ ในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็นเข้าประเทศด้วย”
พร้อมด้วยมาตรการครอบจักรวาล “ผมขอย้ำว่า รัฐบาล ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงาน กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ได้มากที่สุด ให้พ้นวิกฤตซ้อนวิกฤตนี้ไปให้ได้ โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเร่งเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูประเทศที่ได้วางไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว”
“ทั้งเรื่องโอกาสการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ การเปิดประเทศและการท่องเที่ยวในระยะต่อไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้ รวมไปถึงการช่วยลดภาระ แบ่งเบาค่าครองชีพด้วยมาตรการต่างๆ และแก้ปัญหาหนี้สินให้พี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ในภาวะที่สินค้าและบริการ ทุกรายการพาเหรดขึ้นราคา รวมทั้งค่าขนส่งปัจจัยการผลิตทั้งของเกษตรกร และต้นทุนการผลิตทุกธุรกิจ-อุตสาหกรรม พุ่งทะยานสูงขึ้น ส่งผลสะเทือนถึงประชาชนที่ต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ภาวะเศรษฐกิจในระดับจุลภาค ปัจเจกบุกคคล กดดันส่งผ่านไปถึงปัญหาเศรษฐกิจส่วนรวมระดับมหภาค กระทบดัชนีเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเกือบทะลุกรอบ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังขีดเส้นกำกับไว้ไม่เกิน 1-3%
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ประสานเสียงกดดัชนีเงินเฟ้อ จากการแจกมาตรการเยียวยา ครั้งล่าสุด ว่า “มาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพช่วงน้ำมันแพง ไม่ได้ช่วยเหลือเป็นการทั่วไป แต่จะดูแลเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มเปราะบาง โดยจะใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเครื่องมือ”
ขุนคลังเปรียบเทียบว่า ปัญหาเงินเฟ้อ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูง หลายประเทศอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ 1-3% แม้จะมีบางช่วงที่อาจทำให้เงินเฟ้อใกล้ระดับ 3% หรืออาจเกินกรอบไปบ้าง แต่ยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้เงินเฟ้อเกินกรอบ 3%
มาตรการเยียวยารอบล่าสุด อาจไม่ใช่รอบสุดท้าย หากปัญหาสงครามยังท้าทายความสามารถการบริหารเงินและอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวาระปีท้ายสุด