สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ บนถนนการเมือง 3 ทศวรรษ ความฝันและการต่อสู้ครั้งสุดท้าย/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

บนถนนการเมือง 3 ทศวรรษ

ความฝันและการต่อสู้ครั้งสุดท้าย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ที่เดินบนถนนการเมืองมา 30 ปี มองปัญหาการเมืองไทยในยุคนี้มี 2 ส่วนที่ทำให้ประเทศชาติยังไม่ไปไหน

ส่วนแรกคือ “ประชาธิปไตย” เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นเหตุการณ์ที่จำลองเหมือนในปัจจุบันเหมือนกงล้อประวัติศาสตร์ตกหล่มอยู่กับที่

ตอนนั้นที่เป็น ส.ส. ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2535 เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจ ตอนนั้นเรียกว่า รสช. แล้วก็มาเขียนรัฐธรรมนูญที่จะสืบทอดอำนาจตนเอง โดยเปิดโอกาสให้คนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นนายกฯ ซึ่งประชาชนไม่ยอมรับ ท้ายที่สุดประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในขณะนั้นที่เป็นที่มาของคำพูดว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

ณ วันนี้มันก็เหมือนเดิม เพราะเราถูกรัฐประหารอีก คณะรัฐประหารซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น คสช. ในยุคนี้ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในการสืบทอดอำนาจของตนเองแต่หนักหนากว่าเดิม เนื่องจากสมัยก่อนแค่คนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. สามารถเป็นนายกฯ ได้ แต่ปัจจุบันนี้มี ส.ว. 250 คน มีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ควบคุมประเทศชาติอีก 20 ปี ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก

นอกจากยังไม่พัฒนาแล้วยังย่ำอยู่กับที่

ส่วนที่สอง คุณหญิงสุดารัตน์บอกว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน มีแค่วันเดียวในวันที่กาบัตรเลือกตั้ง จากนั้นผู้บริหารก็แทบจะไม่เห็นหัวประชาชน ไม่เคยฟังเสียง โดยเฉพาะ 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีประชาชนอยู่ในหัวใจ ไม่เคยนึกถึงหรืออาจจะนึกถึงแต่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนไม่เป็น

ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือเรื่องของเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนไม่มีส่วนร่วม การกระจายอำนาจไม่มี ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด เศรษฐกิจเริ่มแย่มาก่อนแล้ว เราใช้งบประมาณที่มากเกินไป ปีละ 3 ล้านล้านบาท แต่ถามว่าการลงไปช่วยเหลือหรือการกระจายรายได้หรือการสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชนเท่าไหร่ ยิ่งในชนบทเราจะพบว่าน้อยมากที่ได้รับความช่วยเหลือ

แม้จะมีโครงการบัตรประชารัฐ บัตรคนจน คนละครึ่ง และอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำเงินไปผ่านคนจนเพื่อช่วยคนรวยทั้งสิ้น จึงส่งผลให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยสูงขึ้นตลอด 7-8 ปีหลังจากรัฐประหารรอบล่าสุด และทุกครั้งที่มีรัฐประหารเราจะเห็นความห่างของความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกครั้งที่เกิดขึ้น ครั้งนี้มันยาวนาน 7-8 ปี ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ทุกคนก็รู้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นไปตามกติกาที่เขาเขียนขึ้นมาสืบทอดอำนาจ ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์อย่างแท้จริง

ดังนั้น วันนี้ดิฉันเห็นว่าเศรษฐกิจแบบนี้มันไปต่อไม่ได้เพราะเราไม่ได้ให้โอกาสประชาชนอย่างทัดเทียมกัน

เราควรให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยเป็นธรรม ให้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ในการพัฒนาสินค้าของตนเองอย่างทัดเทียม

ต้องยอมรับเลยว่าตลอด 30 ปีทางการเมืองที่ทำงานมาไม่เคยเห็นประชาชนต้องทุกข์ยากแสนสาหัสเท่ากับในห้วงเวลานี้มาก่อน

ดิฉันอาจจะเกิดไม่ทันสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แค่ในห้วง 30 ปีที่ทำงานมา ดิฉันคิดว่าประชาชนทุกข์ยากมากหลายอย่างย่ำอยู่กับที่และหลายอย่างแย่ลงไปกว่าเดิม

คุณหญิงสุดารัตน์บอกว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนวางมือทางการเมือง โดยมีการพูดคุยกับครอบครัวว่าครบ 30 ปีทางการเมืองจะวางมือเพราะโดยส่วนตัวจะเป็นคนที่ชอบพยายามส่งเสริมคนใหม่ให้เข้ามาทางการเมือง อย่างในอดีตที่ส่งเสริมคนใหม่ เช่น คุณติ๋ว-ศันสนีย์ นาคพงศ์ คุณแซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี จนไปถึงคุณศิธา ทิวารี เป็นต้น ในสมัยนั้นเราชอบสร้างคนแบบนี้ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังอยากจะที่จะสร้างแบบนี้

หากบ้านเมืองยังเป็นแบบนี้ มันไม่มีทางออก มันตึงซ้าย ตึงขวา อยู่ในวังวนของวิกฤตการเมืองมาหลายปีแล้วคนที่ต้องรับเคราะห์กรรมคือประชาชนจากการแย่งอำนาจกัน ดิฉันจึงคิดว่าอยากจะสร้างพรรคการเมืองดีๆ ดิฉันเองเกิดมาจากพรรคพลังธรรม ส่วนตัวคิดว่าหลักของพรรคดี คือ เป็นพรรคการเมืองที่พยายามที่จะอุทิศตัวเองที่จะพยายามทำเพื่อส่วนรวมได้ แต่ท้ายสุดก็มีอันเป็นไป

ดิฉันคิดว่าก่อนที่ตนเองจะยุติชีวิตทางการเมือง ดิฉันอยากจะมีโอกาสได้สร้างพรรคการเมืองที่เป็นเครื่องมือในการทำงานให้กับประชาชนที่ดีที่สุดสักพรรคหนึ่ง เพราะวันนี้ดิฉันมองไม่เห็นว่าจะมีพรรคไหนที่จะเป็นความหวังของประชาชนได้

ดิฉันอยากสานฝันเป็นพรรคที่เป็นทางรอดและทางออกให้กับประเทศ ดิฉันอาสาทำหน้าที่เป็นเสาเข็มเป็นสะพานที่จะเชื่อมโยงคน ไม่ว่าจะรุ่นไหนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คนรุ่นกลาง คนรุ่นใหญ่ ที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามาช่วยกันทำงานให้กับบ้านเมือง

ต้องยอมรับว่า การเมืองต่อให้แข็งแรงแค่ไหน มันก็อยู่ไม่ได้กับใน SYSTEM แบบนี้ ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ยกเว้นคนอยู่บนยอดพีระมิดคนรวยจะไม่ค่อยรู้สึก แต่คนกลางลงมาล่าง ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของประเทศแย่ลงทุกคนทั้งเรื่องของเศรษฐกิจโลกและยังมีเรื่องของโรคระบาด

ถ้าผู้นำเราบริหารจัดการเป็น รัฐบาลมีความสามารถพอก็จะพาให้ประชาชนรอดได้

แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลหรือผู้นำเราไม่มีความสามารถมันจึงเกิดปัญหาอย่างที่เราเห็น ประสบเหมือนคนทั่วโลกกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโรคระบาด แต่เราหนักกว่าเขา เศรษฐกิจแย่กว่าเขา

วันนี้โอกาสในการที่จะฟื้นเศรษฐกิจ มีนะแต่เงินก็ถูกใช้ไม่ถูกทางในประเทศนี้ ปัญหาไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่คือใช้เงินไม่ถูกทาง สิ่งนี้คือสิ่งที่คิดว่าต้องแก้วันนี้

เป้าหมายของพรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์บอกว่า คือจะทำให้คนไทยเข้าถึงโอกาส โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ส่วนตัวนิยามว่าคือคนตั้งแต่ SME ลงไปถึงเกษตรกรผู้ใช้แรงงานคือเป็นคนตัวเล็กที่ถูกกฎเกณฑ์ต่างๆ ของราชการกดทับเขา เจ้าหน้าที่รีดไถจะทำอะไรก็ต้องขออนุญาต ถ้าเป็นคนรวยก็ขออนุญาตได้ง่าย คนจนอยากจะเข้าถึงแหล่งทุน ยิ่งยากมาก

SME ของไทยมี 3 ล้านกว่าราย เขากู้ธนาคารได้แค่ 4 แสนราย ทั้งที่พวกเขาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะ SME เกิดการจ้างงานคนถึง 15 ล้านคน

เป้าหมายของเราคือต้องการปลดปล่อยคนตัวเล็กให้มีโอกาสทำมาหากินจากราชการที่กดทับ

ประการต่อมาคือ เอ็มเพาเวอร์ คือ สร้างพลังให้เขาเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อคนตัวเล็ก ทุกวันนี้คนจนเป็นหนี้นอกระบบเพราะอยากจะเปิดร้านขายกาแฟรถเข็น ต้องไปกู้นอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 17 ถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน ในขณะที่คนรวยเสีย 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

เราเลยจะจัดตั้งกองทุน SME ให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยดอกเบี้ยต่ำ และให้เขาสร้างเครดิตตัวเอง

เราต้องทำให้ทุกคนมีรายได้มากขึ้นถึงจะรวยได้ รัฐถึงจะเก็บภาษีได้ เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนสูงมาก

ตามรัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐต้องลงทุนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่งบลงทุนของรัฐบาลไม่ได้สร้างงานสร้างรายได้สร้าง GDP คนไทย กลับไปซื้อเครื่องบิน ซื้อรถถัง ซื้อเรือดำน้ำ มันไปสร้าง GDP ให้ประเทศอื่นเขา ไม่สร้าง GDP ให้กับประเทศหรือคนไทย

ประสบการณ์ 30 ปีของตน มีความตั้งใจ อยากให้ทุกนโยบายจะอยู่บนหลักการ เอ็มเพาเวอร์การสร้างพลังให้คนตัวเล็กแข็งแรงจากการถูกกดทับ มีความฝันว่าก่อนตาย อยากเห็นเกษตรกรไทยจะเป็นแบบเกษตรกรญี่ปุ่น ซึ่งเขาใช้ภูมิปัญญาของเขาบวกกับความหรูของโลกยุคใหม่ ให้เด็กๆ ลูกหลานเขาใช้ความรู้ของโลกยุคใหม่ไปบวกภูมิปัญญาพ่อแม่ทำของขายได้แล้วนี่คือสิ่งที่เกษตรกรไทยต้องเป็นแบบนั้นและคนตัวเล็กต้องมีโอกาสทำมาหากิน

ตลอด 30 ปีทางการเมืองอุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยน เรายืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตยมาตั้งแต่วันแรก ที่เป็น ส.ส. เมื่อ 22 มีนาคม 2535 เข้าสภาได้ไม่เกิน 5 ครั้ง จากนั้นก็ต้องไปร่วมกับประชาชนในการที่จะหยุดการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ แล้วคงจะไม่จบชีวิตทางการเมืองด้วยการเป็นที่เหยียบยืนของเผด็จการอย่างแน่นอน

ถ้าเรารักจะเป็นนักการเมือง เราต้องเป็นนักการเมืองที่ดี ดิฉันถูกหล่อเลี้ยงอบรมจากคุณพ่อ สมพล เกยุราพันธุ์ ให้เป็นนักการเมืองที่ดี พ่อจะพูดใส่หูเสมอนะ ว่าการเป็น ส.ส. คือการเป็นขี้ข้าของประชาชน เราต้องรับใช้ประชาชนเอาผลงานแลกคะแนนเสียง

ดังนั้น ถ้าไปย้อนดูหนังสือพิมพ์เก่าสมัยดิฉันเป็นรัฐมนตรี ดิฉันจะเป็นรัฐมนตรีที่ติดท็อปหนึ่งท็อปสอง ที่มีผลงานตลอดก็คือจะเป็นรองก็แค่นายกฯ เท่านั้นเอง

“ดิฉันภูมิใจว่าวันนี้ที่พ่อสอนให้ดิฉันเป็นขี้ข้าประชาชนทำงานแลกคะแนน ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดิฉันภูมิใจว่าในชีวิตไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงแม้ดิฉันจะดูโครงการใหญ่ทั้งนั้น แม้ส่วนตัวอาจจะถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองเมื่อการรัฐประหารปี 2549 ที่กล่าวหาดิฉันเรื่องโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ ดิฉันได้พิสูจน์ตัวเองจนชนะหมด”

ชมคลิป