ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ ลดธงอาลัย ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ชะตากรรม ‘รวดร้าว’ ผู้ลี้ภัยการเมือง/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ด้วยรักแห่งอุดมการณ์

ลดธงอาลัย

‘วัฒน์ วรรลยางกูร’

ชะตากรรม ‘รวดร้าว’ ผู้ลี้ภัยการเมือง

 

การสิ้น ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ เมื่อ 21.30 น. วันที่ 21 มีนาคม 2565 ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศส หลังเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่นั่นจากอาการป่วยหลังการผ่าตัดเนื้องอกที่ตับ

ถือเป็นการสูญเสียใน 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง คือการสูญเสียนักเขียนชั้นนำของประเทศ

ด้านหนึ่ง คือการสูญเสียนักต่อสู้ทางการเมือง ที่ยืนหยัดเพื่อความเป็นประชาธิปไตย เสมอภาค และเท่าเทียม

 

วัฒน์เกิดวันที่ 12 มกราคม 2498 ที่ตำบลตะลุง อ.เมือง จ.ลพบุรี

เรียนชั้นประถมถึงมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวินิตศึกษา จ.ลพบุรี

เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี

ที่นี่เขาเริ่มสนใจการเขียนอย่างจริงจัง

เขียนเรื่องสั้นลงหนังสือโรเนียวของโรงเรียนในนามปากกา “วัฒนู บ้านทุ่ง”

พร้อมกับส่งผลงานกลอนและเรื่องสั้นไปยังนิตยสารต่างๆ

ผลงานแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ คือเรื่องสั้นชื่อ “คนหากิน”

และมีผลงานกลอนได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์

รวมถึงเรื่องสั้นชื่อ “มุมหนึ่งของเมืองไทย” ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย

การมุ่งมั่นกับงานเขียนทำให้สอบตกต้องเรียนซ้ำชั้น แต่สอบเทียบได้จึงเข้ากรุงเทพฯ สมัครเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อต้นปี 2517 ในบรรยากาศอันเบ่งบานของประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ได้รู้จักนักเขียน-นักกิจกรรมหลายคน จึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง

ทำให้เรียนอยู่ไม่กี่เดือนก็หันเหไปทำงานหนังสือพิมพ์จริงจัง

ฝึกฝนเขียนข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้นและนวนิยาย จนมีคอลัมน์ประจำชื่อ “ช่อมะกอก” จนกลายเป็นนวนิยายเรื่อง “ตำบลช่อมะกอก” ในที่สุด

เริ่มมีผลงานเรื่องสั้นและบทกวีพิมพ์คือ “นกพิราบสีขาว” (2518) และ “กลั่นจากสายเลือด” (2519) จนทำให้เป็นที่รู้จักของนิสิตนักศึกษา และคนหนุ่มสาวเดือนตุลาขณะนั้น

พร้อมๆ กับเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับนิสิตนักศึกษาอย่างเต็มตัว

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

วัฒน์ที่ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องหลบเข้าป่า

ช่วงนั้นมีโอกาสเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายมากมาย

มีผลงานรวมเล่มออกมา 3 เล่ม คือ รวมเรื่องสั้นและบทกวี 2 เล่ม คือ “ข้าวแค้น” (2522) กับ “น้ำผึ้งไพร” (2523) ส่วนเล่มที่ 3 เป็นนวนิยายชื่อ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” (2524)

ปี2524 หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย วัฒน์กลับมาใช้ชีวิตนักเขียนทำงานหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ไฮคลาส และถนนหนังสือ ก่อนลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัว เขียนนวนิยายเรื่อง “คือรักและหวัง” และ “จิ้งหรีดกับดวงดาว” ตีพิมพ์ในนิตยสารลลนา

รวมถึงอีกหลายๆ เรื่อง เช่น บนเส้นลวด มนต์รักทรานซิสเตอร์ เทวีกองขยะ นอกจากนี้ ยังมีผลงานเรื่องสั้น สารคดี

ปี 2525 เรื่องสั้นชื่อ ความฝันวันประหาร ได้รับการเลือกสรรจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี

เป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารหลายฉบับ ในระยะหลังสนใจเพลงลูกทุ่งมีผลงานเขียนเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งออกมาอย่างต่อเนื่อง

ปี 2550 กองทุนศรีบูรพามอบรางวัลนักเขียนรางวัลศรีบูรพาให้กับวัฒน์

งานเขียนของวัฒน์ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไทย ทั้งนวนิยายเรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ซึ่งสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน เมื่อปี 2544 กำกับการแสดงโดยเป็นเอก รัตนเรือง และเรื่องสั้น “สงครามชีวิตส่วนตัวของทู-ทา” ที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นตอนหนึ่งในภาพยนตร์ปี 2555 รวมถึงเรื่อง “สถานี 4 ภาค” โดยผู้กำกับฯ บุญส่ง นาคภู่

 

แม้วัฒน์ วรรลยางกูร จะได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียน

แต่สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า ผลงานที่ดีที่สุดของวัฒน์ไม่ใช่งานวรรณกรรม

หากคือการต่อสู้ทางการเมือง ต่อสู้เพื่อคนเท่ากัน

“ถ้าจะรำลึกถึง ขอให้รำลึกเรื่องการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค เพื่อประชาธิปไตย” สุจิตต์ย้ำ

ทั้งนี้ หลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อเดือนกันยายน 2549 วัฒน์เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ทำให้หลายคนเรียกเขาว่า “นักเขียนเสื้อแดง”

และหลังรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อพฤษภาคม 2557

วัฒน์ตัดสินใจ “หนี” ออกนอกประเทศ หลังประเมินว่าคงจะถูกดำเนินคดีฐานต่อต้านรัฐประหาร

ซึ่งเป็นตามนั้นเมื่อ คสช.มีคำสั่งให้วัฒน์ไปรายงานตัว 2 ครั้ง

แต่วัฒน์ไม่ยินยอมจึงถูกออกหมายจับในที่สุด

และรวมถึงในเดือนสิงหาคม 2557 ศาลอนุมัติหมายจับวัฒน์ ในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน

 

วัฒน์เคยเปิดเผยกับบีบีซีไทยเรื่องการ “ลี้ภัย” ว่า เดินทางเข้ากัมพูชาโดยผ่านช่องทางธรรมชาติ

พักอยู่ในกัมพูชา 7 เดือน

จากนั้นนั่งเรือล่องแม่น้ำโขงจากจังหวัดสตึงเตรงไปยังแขวงจำปาสักของลาว

ย้ายที่อยู่ในลาวหลายครั้ง กระทั่งไปปักหลักทางตอนเหนือของประเทศลาว ร่วมกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ทางการไทยต้องการตัวอีกหลายคน

แต่ต่อมา นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน แกนนำกลุ่มแดงสยาม ที่มาลี้ภัยที่ลาวเช่นกันหายตัวไปพร้อมกับผู้ติดตามอีก 2 คน คือ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ “สหายภูชนะ” อดีตการ์ด นปช., นักจัดรายการวิทยุใต้ดิน และนายไกรเดช ลือเลิศ หรือ “สหายกาสะลอง” อดีตแนวร่วม นปช., ผู้ควบคุมการถ่ายทอดรายการวิทยุใต้ดิน เมื่อธันวาคม 2561

ต่อมามีผู้พบร่างผู้เสียชีวิต 2 ศพลอยอยู่ที่แม่น้ำโขงบริเวณ จ.นครพนม ผลการตรวจสอบดีเอ็นเอ พบว่าตรงกับ “สหายภูชนะ” และ “สหายกาสะลอง”

ขณะที่นายสุรชัย แซ่ด่าน ไร้ร่องรอย

เหตุการณ์ “หายตัว” นี้ทำให้วัฒน์สะเทือนใจ และเริ่มไม่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิต

จึงตัดสินใจยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยผ่านสถานทูตฝรั่งเศสในลาว

ที่สุดได้รับการอนุมัติและเดินทางถึงกรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม 2562

ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นในฐานะ “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง”

 

พ.ศ.2564 วัฒน์ วรรลยางกูร เริ่มป่วย พบเนื้องอกที่ตับ จึงเข้ารับการผ่าตัดแม้จะฟื้นตัวค่อนข้างดี

แต่ในเดือนมกราคม 2565 ติดเชื้ออย่างรุนแรง

ระบบการทำงานของอวัยวะหลายอย่างล้มเหลว

อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์พยุงชีพต่างๆ แพทย์ส่งข่าวแจ้งครอบครัวในไทย ถึงภาวะวิกฤตดังกล่าว

ครอบครัวซึ่งประกอบด้วยลูกสามคนจึงเดินทางไปฝรั่งเศส

โดยเหล่ามิตรสหายได้ประกาศระดมทุนเพื่อสมทบทุนค่าเดินทางของพวกเขา

ลูกทั้ง 3 คนเดินทางถึงกรุงปารีสเมื่อต้นกุมภาพันธ์

พ่อ-ลูกก็ได้พบกันในหอผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลอยู่ประมาณ 1 เดือน โดยอาการของวัฒน์ฟื้นตัวขึ้นมาจึงเดินทางกลับประเทศ

แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น วัฒน์ก็จากไป

ทิ้งผลงานให้ลูกๆ นำไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มสุดท้าย ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญในชีวิตของเขา–ชีวิต 7 ปีที่ลี้ภัย

ลูกๆ ของวัฒน์บอกกับบีบีซีภาษาไทยว่า แม้พ่อจะได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมาในฝรั่งเศส และมีความสุขกับชีวิตที่นี่ในระดับหนึ่ง แต่อยากบอกรัฐไทยว่าการจัดการผู้เห็นต่างด้วยกฎหมายหรือด้วยการสร้างความหวาดกลัวควรจะยุติได้แล้ว

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยเผยแพร่รายงานว่า หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผู้ถูกผลักดันให้ลี้ภัยไปนอกประเทศจากสถานการณ์ทางการเมืองและการไล่ล่ากวาดล้างที่เกิดขึ้นนับร้อยราย

ทั้งด้วยเหตุผลไม่ต้องการเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

ความหวาดกลัวจากการถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ทหาร

การถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 และคดีเกี่ยวข้องกับอาวุธ

ศูนย์ทนายฯ ยังระบุอีกว่า ถึงจะลี้ภัยแล้ว ยังพบว่ามีบุคคลที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านถูกบังคับให้สูญหายหลายคน

เช่น 3 คนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ในเดือนพฤษภาคม 2562 มีรายงานว่าทางการเวียดนามได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้กลับไทย แต่ทางการทั้ง 2 ประเทศปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และไม่มีใครติดต่อพวกเขาได้อีก

และผู้ลี้ภัยในลาวอีก 3 คนหายไป

2 คนพบกลายเป็นศพลอยมาตามแม่น้ำโขงเมื่อธันวาคม 2561 ในสภาพถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ โดยไม่มีคำตอบชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไรและโดยใคร ส่วนอีก 1 รายหายสาบสูญ

“ผู้สูญหาย” ดังกล่าว อาทิ นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” นายสยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ นายไกรเดช ลือเลิศ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋” นายอิทธิพล สุขแป้น หรือ “ดีเจซุนโฮ”

รวมถึงนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ด้วย

การสูญหายดังกล่าว สร้างความหวาดกลัว หวาดระแวงให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างมาก

เพราะนอกจากความยากลำบากในการอยู่ในต่างประเทศแล้ว

ยังไม่รู้ว่าจะมีชะตากรรมอันเลวร้ายเหมือนคนที่สูญหายหรือไม่

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุอีกว่า คดีการเมืองยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563-19 มีนาคม 2565 ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 183 คน ใน 194 คดี

ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 14 ราย

ศาลมีการออกหมายจับอย่างน้อย 54 หมายจับ

คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้วจำนวน 96 คดี

โดยเฉพาะแกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีทางการเมืองคนละหลายคดี

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ 23 คดี นายอานนท์ นำภา 14 คดี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี นายภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี น.ส.เบนจา อะปัญ 7 คดี นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง 5 คดี นายพรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี นายชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี นายวรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี เป็นต้น

แม้คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย แต่ก็เป็นผู้เผชิญภัยคดีการเมืองที่ไม่รู้ว่าชะตากรรมในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะครบ 8 ปี ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

แต่คดีการเมืองและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ยังไม่ลดดีกรีความรุนแรงลง

ยิ่งกว่านั้น นำไปสู่ความเศร้าสลดอย่างต่อเนื่อง

รวมถึง “วัฒน์ วรรลยางกูร” ที่ไม่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนตลอดกาล