สวมหูฟัง และเคลิบเคลิ้มไปกับ ‘พอดแคสต์’/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

สวมหูฟัง

และเคลิบเคลิ้มไปกับ ‘พอดแคสต์’

 

แม้ว่าในยุคนี้วิดีโอจะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและเข้าถึงคนได้เป็นวงกว้างและรวดเร็ว

แต่สื่อที่เน้นการฟังเสียงอย่างเดียวอย่างเช่นพอดแคสต์ที่เป็นคล้ายๆ รายการวิทยุให้เราเลือกฟังได้เป็นตอนๆ ตามเวลาที่เราสะดวกก็ครองตำแหน่งของการเป็นสื่อที่มีเสน่ห์ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเข้าถึงผู้พูดได้แบบสนิทชิดเชื้อที่สุดแม้ว่าจะไม่เคยเจอตัวจริงกันมาก่อนเลยก็ตาม

ฉันคิดว่าเสน่ห์ของพอดแคสต์ก็คงคล้ายๆ กับฉันในวัยรุ่นที่ชอบฟังรายการวิทยุแล้วจินตนาการไปเรื่อยเปื่อยว่าดีเจเสียงเพราะที่กำลังเจื้อยแจ้วเจรจาอยู่นั้น ตัวจริงหน้าตาน่าจะเป็นอย่างไร หรือนิสัยส่วนตัวจะเป็นคนแบบไหน

พอดแคสต์ก็ให้ฟีลลิ่งในแบบเดียวกัน แต่อาจจะแตกต่างกันตรงที่ผู้ฟังเลือกฟังเมื่อไหร่ก็ได้ เบื่อตอนไหนก็กดข้าม หรือถ้าชอบตอนไหนอยากฟังซ้ำก็กดถอยกลับไปได้เลยทันที

ลักษณะเฉพาะตัวของพอดแคสต์ที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนรู้จักผู้จัดรายการมาเนิ่นนานถือว่าไม่ได้เป็นความลับหรือเป็นความรู้ใหม่อะไร นี่เป็นเสน่ห์ของแพลตฟอร์มที่รู้กันอยู่แล้ว

และฉันก็คิดว่าไม่ใช่แค่พอดแคสต์ด้วยแต่ครอบคลุมถึงแพลตฟอร์มที่เน้นใช้เสียงในการสื่อสารทั้งหมด ทั้งวิทยุ คลับเฮาส์ และหนังสือเสียง (ฉันฟังหนังสือเสียงผ่านแอพพลิเคชั่น Audible)

 

มีเรื่องหนึ่งที่เพิ่งจะมีการค้นพบเมื่อเร็วๆ มานี้ และเป็นการค้นพบที่น่าสนใจด้วยก็คือ ถึงจะเป็นสื่อที่ใช้เสียงเหมือนกัน แต่ผู้ฟังจะรู้สึกว่าได้เข้าใกล้ผู้จัดรายการมากแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังด้วย

นักวิจัยจาก UC San Diego, UCLA และ UC Berkeley ได้ทำการทดลองในรูปแบบต่างๆ กับผู้เข้าร่วม 4,000 คน การทดสอบหนึ่งที่ทำกับคน 1,310 คนก็คือให้คนกลุ่มนี้ฟังการรายงานข่าวเกี่ยวกับแม่และลูกสาวไร้บ้าน โดยแบ่งให้บางคนฟังผ่านหูฟัง ในขณะบางคนก็ฟังผ่านลำโพง

สิ่งที่นักวิจัยกลุ่มนี้ค้นพบก็คือคนที่ฟังผ่านหูฟังจะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจแม่ลูกในข่าวมากกว่ากลุ่มที่ฟังเรื่องเดียวกันนี้ผ่านทางลำโพง

นักวิจัยบอกว่าการฟังผ่านหูฟังทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า in-head localization หรืออธิบายสั้นๆ ก็คือการทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนผู้พูดเข้าไปอยู่ในหัวตัวเอง

ผู้ฟังพอดแคสต์มักจะรู้สึกว่าผู้พูดอยู่ใกล้กับตัวเองมากกว่าการดูคลิปวิดีโออยู่แล้ว ยิ่งฟังผ่านหูฟังด้วยความรู้สึกใกล้ชิดนั้นก็จะยิ่งถูกขยายให้เด่นชัดขึ้นมาอีก และจะส่งผลให้คล้อยตามผู้พูดได้ง่ายขึ้น

ฉันลองถามตัวเองว่าการใส่หูฟังและฟังเสียงอย่างเดียว กับการดูคลิปวิดีโอและใส่หูฟังเพื่อฟังเสียงของคลิปไปด้วยจะมีความแตกต่างกันขนาดนั้นเชียวหรือ

แต่ฉันก็คิดว่าความแตกต่างที่ว่าอาจจะมาจากการปิดประสาทสัมผัสไปอย่างหนึ่ง เมื่อตาไม่มีอะไรให้ตั้งใจดู หูก็เพิ่มความไว ทำให้เราตั้งใจฟังมากขึ้น สัมผัสรายละเอียดที่อยู่ในน้ำเสียงผู้พูดได้มากขึ้น และไม่มีรายละเอียดด้านภาพมาทำให้เราไขว้เขวหรือเสียสมาธิ

นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐให้อาสาสมัคร 800 คนลองฟังคลิปเสียงของผู้หญิงคนหนึ่งที่เล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองสูญเสียคุณพ่อกับคุณแม่ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดจากคนขับใช้มือถือในระหว่างขับรถ

คนที่ฟังคลิปเสียงนี้ผ่านหูฟังมีแนวโน้มจะอินไปกับเนื้อเรื่องมากกว่าและคิดว่าการใช้โทรศัพท์ในระหว่างขับรถเป็นเรื่องที่อันตรายมากกว่าคนที่ฟังคลิปผ่านลำโพง

 

การค้นพบนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับแบรนด์และนักโฆษณาทั้งหลายที่ต้องเฝ้าหาช่องทางการโฆษณาที่เหมาะกับสินค้าและบริการของตัวเองให้ได้มากที่สุด ตลาดการโฆษณาผ่านพอดแคสต์กำลังอยู่ในช่วงเติบโตที่คาดกันว่าจะไปแตะ 2,000 ล้านดอลลาร์ได้ภายในปี 2023

ความได้เปรียบของการโฆษณาในพอดแคสต์ก็คือผู้ฟังพอดแคสต์บอกว่าโฆษณาไม่ได้รบกวนความรู้สึกพวกเขาเท่ากับโฆษณาที่อยู่บนโทรทัศน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ และผู้ฟังก็มีแนวโน้มที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเพราะมีความเชื่อมั่นในตัวผู้จัดรายการ

ประสิทธิภาพของการโฆษณาก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีกถ้าผู้ฟังฟังรายการนั้นด้วยหูฟังไม่ว่าจะเป็นแบบครอบหูหรือแบบใส่เข้าไปในรูหูก็ตาม

นักวิจัยสรุปผลการทดลองนี้ว่าปัจจัยสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือพฤติกรรมของผู้ฟังนั้นไม่ได้อยู่แค่ ‘สิ่งที่พูด’ หรือ ‘คนที่พูด’ เท่านั้น แต่อยู่ที่รูปแบบและวิธีที่ใช้ในการฟังด้วย

 

ส่วนตัวฉันในฐานะคนที่ชอบฟังรายการและหนังสือเสียงบ่อยๆ คิดว่าการที่ผู้ฟังรู้สึก ‘เข้าใจ’ และ ‘ให้อภัย’ โฆษณาที่แฝงมาในเนื้อหาที่กำลังฟังอยู่อาจจะมาจากการที่พอดแคสต์เป็นทางเลือกรับฟังที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่รับฟังได้ฟรีมาโดยตลอดและแทบไม่เคยมีโฆษณาเลย ดังนั้น หากรายการไหนขายโฆษณาได้ ผู้ฟังก็จะรู้สึกยินดีไปด้วย และพร้อมที่จะสนับสนุนแบรนด์ที่สนับสนุนนักจัดที่พวกเขาชื่นชอบ

ประกอบกับหลายๆ รายการพอดแคสต์เลือกที่จะใช้รูปแบบโฆษณาที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา ไม่เล่นกับเสียงมากเกินไปจนน่ารำคาญ นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ฟังยังไม่ต่อต้านโฆษณาบนพอดแคสต์สักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ฟังจะผูกพันกับน้ำเสียงของผู้พูดแค่ไหน หรือเข้าอกเข้าใจว่ารายการพอดแคสต์ก็จะต้องโฆษณาเพื่อหารายได้เพียงไร

แต่ถ้าแบรนด์และนักการตลาดรีบร้อน ถาโถมเงินอัดโฆษณาเข้าไปจนผู้ฟังรู้สึกอิ่มล้นก็อาจจะเสียเรื่องได้อยู่เหมือนกัน

ฉันคิดว่าผลวิจัยนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับคนทำคอนเทนต์ที่ต้องการสร้างสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้ฟังของตัวเองให้มากขึ้น ยิ่งลงทุนกับอุปกรณ์บันทึกเสียงคุณภาพดีให้สามารถจับน้ำเสียงและถ่ายทอดออกไปได้อย่างแจ่มชัดก็น่าจะทำให้สร้างฐานแฟนที่เหนียวแน่นขึ้นมาได้ไม่ยาก

การใส่หูฟังแล้วมีเสียงใครสักคนมาเล่าอะไรให้เราฟังอยู่ข้างๆ หูโดยเฉพาะตอนก่อนนอนนี่ก็ชวนเคลิบเคลิ้มอยู่เหมือนกันนะคะ