เกี่ยวกับ Lazada / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

เกี่ยวกับ Lazada

 

เกี่ยวกับธุรกิจจีนซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย โดยมองผ่าน Lazada แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าปลีกแบบออนไลน์ที่เพิ่งประกาศเฉลิมฉลองครบรอบทศวรรษ พบมีความสัมพันธ์กับบริบทบางมิติของสังคมไทยอย่างแยกไม่ออก

โดยเฉพาะดัชนีล่าสุด “สัดส่วนของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่ซื้อสินค้า/บริการ ผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา โดยคำนวณจากจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในช่วงอายุ 16-74 ปี ที่ซื้อสินค้าบริการผ่านช่องทางออนไลน์ เทียบกับจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั้งหมดในช่วงอายุ 16-74 ปี ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตัวชี้วัดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินกิจกรรมดิจิตอลของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้า/บริการ ผ่านช่องทางออนไลน์ ยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงระดับการพัฒนาด้านดิจิตอลในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินและการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการใช้งานอินเตอร์เน็ตและการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์”

บางตอนสำคัญรายงานประจำปี การศึกษา Thailand Digital Outlook 2564 จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีบทสรุปให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง

“จากรายงานสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ปี พ.ศ.2563 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า ในปี พ.ศ.2563 ในจำนวนผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ต 49.7 ล้านคนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่เคยซื้อสินค้าหรือบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตร้อยละ 56.5 ส่วนผู้ที่เคยซื้อสินค้าหรือบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตร้อยละ 43.5 โดยเป็นผู้หญิงร้อยละ 58.4 และผู้ชายร้อยละ 41.6…ผลการสำรวจในการดำเนินการในโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 โดยแบบสำรวจการศึกษาจัดทำดัชนีตัวชี้วัดการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย ปี พ.ศ.2564 (ภาคประชาชน) พบว่า สัดส่วนของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่ซื้อสินค้า/บริการ ผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 78.5”

 

เกี่ยวกับ Lazada Group ควรตั้งต้นจากที่มา

“ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 Lazada เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มค้าขายทางอิเล็กทรอนิกส์ (eCommerce platform) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินธุรกิจก้าวหน้าในอัตราเร่งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม ด้วยระบบการค้าและเทคโนโลยี ที่มีระบบโลจิสติกส์และการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค Lazada เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในภูมิภาค ซึ่งตั้งเป้าหมายจะสามารถตอบสนองผู้ซื้อสินค้าถึง 300 ล้านรายภายในปี 2573… ตั้งแต่ปี 2559 Lazada ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญแห่งเอเชียตันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia flagship platform) ของ Alibaba Group” อ้างข้อมูลจากต้นแหล่ง

ยังจำได้ถึงถ้อยแถลงของผู้บริหารผู้ก่อตั้งคนสำคัญ (Maximilian Bittner) เมื่อ Lazada ซึ่งมีบางคนเรียกว่า “Amazon of Southeast Asia” เดินทางมาครบรอบ 1 ปีในไทย เมื่อปลายเดือนมีนาคม2556

“Lazada ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2555 ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ลาซาดาประเทศไทยสูงสุดกว่า 4 ล้านคนต่อเดือน โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 25-30 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา”

ในขณะนั้น (2556) การซื้อขายแบบออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประชากรราว 600 ล้านคน มีสัดส่วนแค่ 1% ของการค้าปลีกทั้งระบบ เปรียบเทียบกับจีนแผ่นดินใหญ่มีสัดส่วน 8% ขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนมากกว่า 10% แล้ว

และแล้ว Alibaba ได้เข้ามาในจังหวะที่ดีในปี 2559 หลังจาก Lazada ผ่านมือผู้ถือหุ้นหลากหลาย พร้อมๆ กับปัญหาอยู่บ้างในช่วงต้นๆ Alibaba เพิ่มการลงทุนใน Lazada อย่างกระฉับกระเฉง จนในที่สุดปี 2560 กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จาก 51% เป็น 83% ตามมาด้วยการส่งคนของตนเองเข้ามาบริหาร

 

Alibaba ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีน ท่ามกลางโอกาสที่มากับช่วงเวลาพลิกผันและสับสนในภูมิภาค ช่วงเดียวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และการส่งคืน “ฮ่องกง” ให้ทางการจีน (ปี 2540) ถือเป็นพวก start up เข้ากับกระแสโลก เทคโนโลยีและสื่อสารยุคใหม่ ซึ่งเริ่มต้นในเวทีเฉพาะปิดกั้นไว้เฉพาะภายในจีนไว้อย่างแน่นหนา ไม่ให้ยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาเช่นที่อื่นๆ ขณะตนเองมีโอกาสเปิดกว้าง สามารถก้าวสู่โลกการเงินภายนอกได้อย่างเต็มที่ ภาพย่อยนั้นได้สะท้อนภาพใหญ่ ความเป็นไปทางเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างมหัศจรรย์

ความสำเร็จของ Lazada และการขยับตัวครั้งใหญ่ของ Alibaba เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเครือข่ายธุรกิจจีนอื่นๆ โดยเฉพาะ Shopee

“…แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน” (https://shopee.co.th/) ทั้งนี้ “ในปี 2558 Shopee เปิดตัวในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย”

เรื่องราว Shopee ที่น่าสนใจ มีมากกว่านั้น เป็นที่รู้กันว่าบริษัทแม่คือ Sea Group ก่อตั้งเมื่อปี 2542 (เจ้าของธุรกิจเกมออนไลน์ การชำระเงินออนไลน์และค้าปลีกออนไลน์) เดินหน้าสู่จังหวะสำคัญเมื่อได้เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) เมื่อตุลาคม ปี 2560 สามารถระดมเงินได้นับพันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่กิจการประสบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ในจังหวะนั้นเอง Tencent คู่แข่งรายสำคัญของ Alibaba ในจีน ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน Sea Group ด้วยสัดส่วน 39.7%

Tencent ก่อตั้งในจีนก่อนหน้า Alibaba เพียงปีเดียว (ปี 2541) ทั้งสองถือเป็นผู้นำ ผู้กำกับสื่อใหม่ในสังคมจีน เป็นปัจจัยสำคัญ มีส่วนผลักดันให้สังคมจีนก้าวเป็นผู้นำค้าปลีกออนไลน์ระดับโลกอย่างรวดเร็ว สัมพันธ์กับพัฒนาการสำคัญ แอพพลิเคชั่น Social media ของทั้ง Alibaba (เปิดบริการปี 2552) และ Tencent (ปี 2554)

กิจการทั้งสองก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อ Tencent เข้าตลาดหุ้นฮ่องกง (Stock Exchange of Hong Kong หรือ HKEX) ในปี 2547 ขณะที่ Alibaba ก้าวไปขั้นใหญ่เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange หรือ NYSE) ในปี 2557 กลายเป็นกรณีครึกโครม

 

เรื่องราว Lazada และ Shopee เร้าใจยิ่งขึ้น เมื่อต้นปีผู้บริหาร Lazada ประเทศไทย กล่าวถึงโอกาสธุรกิจที่มีมากขึ้น ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ด้วยการเติบโตในในอัตราเลข 2 หลัก และมีบางช่วงทะยานถึง 3 หลัก (อ้างจากข่าว Lazada sets out long-term business plan, Bangkok Post 5 JAN 2022) เป็นภาพเชื่อมโยงกับการเติบโตทั้งภูมิภาคในช่วงทศวรรษซึ่งมีสัดส่วนจากเพียง 1% เป็นไปเกือบ 10% ของการค้าปลีกทั้งระบบแล้ว เมื่อเปรียบเทียบประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นจากไม่ถึง 10% เป็นมากกว่า 30%

เรื่องราวข้างต้น ให้ภาพใหญ่ สะท้อนวิวัฒนาก•ารสังคมไทยกับอิทธิพลระดับโลกที่น่าสนใจยิ่งๆ ขึ้น

จับภาพสังคมธุรกิจไทย จากยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งมีอิทธิพลของโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา พ่วงด้วยอิทธิพลตะวันออกจากญี่ปุ่น ผ่านสินค้าและบริการ ชักนำวิถีชีวิตสมัยใหม่สู่สังคมไทย ขยายวงกว้างขึ้นจากเมือง สู่หัวเมือง อิทธิพลนั้นยังคงอยู่

ครั้นหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 กระแสอิทธิพลพัฒนาอีกขั้น เชื่อมโยง เข้าถึงกิจกรรมทางสังคม เข้าถึงพฤตจิกรรมการบริโภคของปัจเจกชนอย่างกว้างขวาง และลงลึกยิ่งขึ้น หยั่งรากสู่กิจกรรมสำคัญของปัจเจก นั่นคือการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคโดยตรง

เป็นมหากาพย์ใหม่ ว่าด้วยกระแสอิทธิพล มาจากหลายแหล่งอย่างหลากหลายขึ้น •