จากสงครามยูเครน…ถึงเส้นโซบะและซูชิแซลมอน : สุภา ปัทมานันท์

ร้านโซบะยืนกิน

สงครามที่เกิดจากรัสเซียบุกยูเครน ยังไม่มีทีท่าจะจบลงเลย ยืดเยื้อมาเป็นเดือนแล้ว ส่งผล

กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องหลบภัยสงคราม มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวยูเครนและทหารรัสเซีย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ห่างไกลจากสนามรบก็ได้รับผลกระทบจากสงครามนี้ไม่น้อย ไม่นับว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่รัสเซียประกาศว่าเป็น “ประเทศที่ไม่เป็นมิตร” ของรัสเซีย

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนคือ อาหารที่คนญี่ปุ่นรับประทานกันเป็นประจำ คือเส้นบะหมี่โซบะ

กำลังจะขึ้นราคา

เส้นโซบะ(そば)ทำจากเมล็ดบักวีต(そば殻)มีโปรตีน ใยอาหารสูงและมีแคลอรี่ต่ำ เป็นอาหารกินง่าย อิ่มท้องเร็ว เวลาหิวได้โซบะร้อนๆสักชามก็มีแรงขึ้นแล้ว มีทั้งเส้นโซบะเย็นด้วย

รัสเซียเป็นผู้ผลิตบักวีตรายใหญ่ที่สุดในโลก ปีที่แล้วญี่ปุ่นนำเข้าบักวีตจากจีน

สหรัฐอเมริกา และรัสเซียเป็นอันดับที่3 หรือประมาณกว่า 10 % ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทั้งเมล็ดบักวีตที่มีเปลือกและลอกเปลือกแล้ว ที่นำเข้าจากรัสเซียต้องหยุดชะงักลง จากการที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาและชาติยุโรป ทำให้เรือสินค้าต่างๆคงค้างอยู่ที่ท่าเรือ

วัตถุดิบที่นำเข้าจากรัสเซียขนส่งมาทางเรือจากเมืองวลาดิวอสตอก ตู้สินค้าที่บรรทุกบักวีตยังจอดค้างอยู่ที่ท่าเรือ ยังไม่สามารถออกเรือมาถึงญี่ปุ่นได้ นอกจากนี้ ก็ยังติดปัญหาเรื่องการชำระราคาค่าสินค้าจากมาตรการการชำระเงิน SWIFT มีบริษัทญี่ปุ่นที่นำเข้าสินค้าจากรัสเซียเป็นสัดส่วนถึง 15% กำลังพิจารณาหาลู่ทางการนำเข้าสินค้าจาก อุสเบกิชสถาน มองโกเลีย เป็นต้น

เจ้าของร้านโซบะยืนกิน(立ち食い)ที่มีลูกค้าแวะเวียนมาไม่ขาดสายที่โตเกียว บอกว่า ขายบะหมี่โซบะน้ำซุปร้อนๆพร้อมท็อปปิ้งให้เลือก ราคาสมน้ำสมเนื้อ ชามละตั้งแต่ 200 เยน (60 บาท)มาโดยตลอด แต่ตอนนี้วัตถุดิบที่นำเข้าต่างๆ พากันขึ้นราคา ทั้งน้ำมันทอดแป้งเทมปุระ และแป้งสาลี รวมทั้งวัตถุดิบอื่นๆก็ขึ้นราคากันไปหมดแล้ว เดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพิ่งขอปรับราคาขึ้นชามละ 10 เยนไป จากราคา 220 เยน (66 บาท) เป็น 230 เยน (69 บาท)

แม้ว่าก่อนหน้านี้ต้องปิดร้านเร็วขึ้นจากมาตรการป้องกันโควิดของรัฐบาล แต่ก็มียอดขายวันละ 500 ชาม มาถึงตอนนี้ต้องมาปวดหัวกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก “สงครามเป็นสถานการณ์ที่น่าเศร้าก็จริงอยู่ แต่กิจการร้านของผมก็กำลังจะอยู่หรือจะไปเหมือนกัน” กระนั้นก็ยังมีเสียงจากลูกค้าประจำปลอบใจว่า “แวะเวียนมากินเป็นประจำ จะขึ้นราคาบ้างก็ไม่เป็นไรหรอก”

สงครามยูเครนยังส่งผลกระทบทำให้ “แซลมอน” จากนอร์เวย์ขาดตลาด ญี่ปุ่นนำเข้าปลาแซลมอนดิบกว่า 80% จากนอร์เวย์ โดยขนส่งมาทางอากาศที่ต้องบินผ่านน่านฟ้าของรัสเซียซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด แต่เมื่อรัสเซียได้ประกาศห้ามนอร์เวย์และอีก 36 ประเทศบินผ่านน่านฟ้ารัสเซียตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเลี่ยงน่านฟ้ารัสเซีย ทำให้ต้องบินเป็นเส้นทางตัวยู (u) จากนอร์เวย์มาตะวันออกกลางแล้วเข้าสู่ญี่ปุ่น ซึ่งต้องบินระยะทางยาวขึ้นและใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงขึ้นไปด้วย ทำให้การขนส่งลดน้อยลง และไม่สามารถนำเข้าปลาแซลมอนมาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมแล้ว

ร้านซูชิหันมาใช้ปลาแซลมอน 銀ザケ (Coho Salmon) แซลมอนเลี้ยงที่จังหวัดมิยางิ ที่มีข้อดีคือ มีไขมัน นุ่ม ละลายในปาก ซึ่งราคาสูงกว่าของแซลมอนนอร์เวย์ เมื่อตอนที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่11 ปีที่แล้ว เกิดความเสียหายมาก จนต้องนำเข้าจากชิลีระยะหนึ่ง ขณะนี้ร้านซูชิต้องจองคิวสั่งซื้อล่วงหน้าและมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน

ยังมีร้านเบเกอรี่ต่างๆ ที่ต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบแป้งสาลีที่ใช้ทำขนมปังมีราคาสูงขึ้น คนญี่ปุ่นไม่ท้ออยู่แล้ว ทดลองปรับสูตรด้วยการผสมแป้งที่ทำจากข้าวญี่ปุ่น(米粉)แป้งที่ทำจากข้าวมีความเหนียวนุ่ม แต่จะไม่พองฟูเมื่ออบเสร็จ ต้องพยายามทดลองผสมเข้ากับส่วนผสมต่างๆ เพื่อช่วยรักษาต้นทุนไว้ ไม่ต้องขึ้นราคากับลูกค้า เพราะปลายปีที่ผ่านมาหลายๆร้านก็ได้ปรับราคาไปแล้ว 20 เยน เจ้าของร้านบอกว่า “ถ้าจะต้องขึ้นราคาอีก รู้สึกลำบากใจจริงๆ”

บริษัทผู้นำเข้าข้าวสาลี ได้รับอนุมัติให้ขึ้นราคาขายแป้งสาลีได้ในเดือนเมษายน อีก17% ดังนั้น ราคาแป้งสาลีจึงทำให้ราคาขนมปัง ขนมอบ เส้นอุด้ง เส้นบะหมี่ ต่างๆที่ต้องใช้แป้งสาลีเป็นส่วนประกอบสำคัญต้องขึ้นราคาตามไปอย่างแน่นอน

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2021 ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากรัสเซียมีมูลค่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่นำเข้า เช่น น้ำมันและก๊าซ(24.1%) ถ่านหิน (18%) น้ำมันดิบ(16.6%) รวมแล้วเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ด้านพลังงาน นอกจากนี้ยังมี พาลาเดียม (palladium) ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก แร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อการผลิตเครื่องฟอกไอเสียในรถยนต์ให้มีพิษน้อยลง และเป็นวัสดุใช้ในการทำทันตกรรม กลุ่มโลหะเงินและทองคำขาว (10%) และกลุ่มอาหารทะเล เช่น ปูหิมะ(snow crab) (8.9%) เป็นต้น

นักวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์มารูเบนิ(丸紅経済研究所)เตือนว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีแผนสำรองรองรับในระยะยาว เพราะรัสเซียมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมีสัดส่วน 3% ของ GDP โลก มีพื้นที่กว้างใหญ่ ครอบคลุมทั้งทางบก ทะเล และน่านฟ้า ดังนั้นผลผลิต และบริการต่างๆของรัสเซียจึงมีผลในวงกว้าง แน่นอนว่าผลพวงจากสงครามกับยูเครนครั้งนี้คงยังแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ ไปอีกเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สินค้าต่างๆจะต้องขึ้นราคาไปด้วย

“เพื่อรับมือกับสินค้าที่ขาดตลาดหรือมีราคาสูงขึ้น เช่น วัตถุดิบอาหาร เราจำเป็นต้องหาวัตถุดิบอื่นมาใช้แทนบ้าง ส่วนวัตถุดิบด้านพลังงานที่หามาทดแทนไม่ได้ ก็ต้องช่วยกันพยายามประหยัดการใช้ทั้งในครัวเรือนและหน่วยงาน องค์กร เสมือนหนึ่งเรากำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ”

นอกจากต่อสู้กับผลกระทบจากโควิด-19 มากว่า 2 ปีแล้ว ตอนนี้คนญี่ปุ่นต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น วัตถุดิบที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมีราคาสูงขึ้น และเริ่มขาดแคลน

ผลจากสงครามยูเครน…มาถึงเส้นโซบะและซูชิแซลมอนแล้ว…