คิดแบบมหาอำนาจ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

คิดแบบมหาอำนาจ

 

ง่ายเกินไปที่จะบอกกับทั้ง 2 ฝ่ายว่า หยุดเถอะ โลกระอุ ชาวบ้านเดือดร้อนกันไปทั่วแล้ว

2 ฝ่ายที่ว่านั้นคือ รัสเซียกับสหรัฐอเมริกา

สงครามนี้ไม่ใช่ “รัสเซีย” กับ “ยูเครน”

รัสเซียเปิดหน้า แต่ที่ยืนอยู่ข้างหลังยูเครนนั้นคือสหรัฐอเมริกา

ถ้าหากว่าจะประณามรัสเซียเป็นผู้รุกราน สงครามครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากที่สหรัฐอเมริกาเคยบุกยึดและทำลายอิรัก

นั่นก็คือผู้รุกราน และกระหายสงคราม

แต่ทุกครั้งที่ประเทศใหญ่ก่อสงครามขึ้นจะต้องหา “เหตุผล” มาโฆษณาชวนเชื่อเสมอ ถึงแม้ว่าเนื้อแท้เป็นการรุกราน การแทรกแซง หนุนหลังการแบ่งแยกดินแดน สนับสนุนรัฐประหาร หรืออยู่เบื้องหลังรัฐบาลหุ่นเชิด แต่ “ผู้รุกราน” จะต้องสร้าง “ความชอบธรรม” ให้กับปฏิบัติการนั้นๆ เช่น ในครั้งที่กองทัพสหรัฐอเมริกาบุกอิรักก็อ้างว่า อิรักครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง)

เมื่อรัสเซียบุกยูเครนก็ต้องมีคำอธิบาย!

 

อย่าลืมว่า ก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลายนั้น “อภิมหาอำนาจ” ในโลกนี้มีอยู่ 2 ขั้ว คือสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต

หน่วยสืบราชการลับระดับโลกก็มี “ซีไอเอ” กับ “เคจีบี” และบ่อยทีเดียวที่ 2 ขั้วมหาอำนาจมีการเจรจาลดกำลังอาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์กันในยุโรปและประเทศสมาชิกนาโต

อย่าลืมว่า สหรัฐอเมริกากับนาโต คือเนื้อเดียวกัน!

แต่สหภาพโซเวียตแตก แคว้นต่างๆ แยกตัวเป็นรัฐอิสระ อาทิ ยูเครน อาเซอร์ไบจาน มอลโดวา อุซเบกิสถาน เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อาร์เมเนีย จอร์เจีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ทรานส์นีสเตรีย เติร์กเมนิสถาน เชชเนีย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นเครือข่ายอุดมการณ์เดียวกันต่างก็เป็นอิสระจากอิทธิพลสหภาพโซเวียตกันหมดแล้ว

ในโลกจึงคงเหลือเพียง 1 เดียว คือ สหรัฐอเมริกา

อเมริกาจึงเป็น “อภิมหาอำนาจ”

 

แต่แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลาย “รัสเซีย” ก็ยังคงเป็น “มหาอำนาจทางทหาร” เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา

จะว่าไป “อภิมหาอำนาจ” ก็คงไม่ไว้วางใจ

ดุลอำนาจทางทหารของรัสเซียน่าเกรงขาม

ฝ่ายรัสเซียก็คงจะไม่ยินดีที่โลกนี้จะมีเพียง “สหรัฐอเมริกา” เป็นผู้นำ 1 เดียว และคงนอนไม่หลับ ถ้าอเมริกามาป้วนเปี้ยนแถว “พื้นที่รอบบ้าน” ซึ่งอดีตเคยเป็นรัฐบริวารกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายประเทศเอาใจออกห่างรัสเซียไปฝักใฝ่อเมริกา

“วลาดิมีร์ ปูติน” ปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมาพร้อมกับฟื้นฟูความทรงจำทางประวัติศาสตร์การทหารรัสเซียที่เกรียงไกรถึงขั้น “กองทัพนโปเลียน” เคยพ่ายยับสูญเสียกำลังทหารนับแสนใน “สงครามผู้รักชาติ” ปี ค.ศ.1812

ขุดประวัติศาสตร์ขึ้นมาใช้เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” แยกแยะมิตรศัตรูของอดีตสหภาพโซเวียต

“สงครามรัสเซีย-ยูเครน” จึงมิใช่ปัญหาลิ้นกับฟัน

หากแต่เป็นดุลอำนาจของโลก!

จากมุมมองของ “ปูติน” โลกใบนี้มิได้มีเพียง “โลกตะวันตกกับสหรัฐอเมริกา” หากแต่ยังมี “โลกตะวันออก” และ “โลกยูเรเซีย”

รัสเซียยึดพื้นที่บางส่วนในจอร์เจีย ผนวกไครเมียที่เดิมเป็นของสหภาพโซเวียตลับคืนมา บุกยูเครนและสร้าง “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย” ขึ้นมาพร้อมกับให้ความสำคัญกับรัฐอิสระที่แตกตัวออกไปจากสหภาพโซเวียตและประเทศพันธมิตรรอบบ้าน

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเป็น “บทเรียน” ให้รัสเซียต้องเร่งดำเนินยุทธศาสตร์สร้างแนวเศรษฐกิจยูเรเซีย มุ่งหน้าสู่ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง

ปูตินใช้ลัทธิยูเรเซียนปลุกให้คนรัสเซียตื่นตัวลุกขึ้นต่อต้านสหรัฐอเมริกาที่กำลังดำเนินนโยบายปิดล้อมด้วยการดึงเอายูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต

 

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตไทยทั้งในรัสเซีย เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับ “มติชนออนไลน์” ว่า รัสเซียพูดมากว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยบอริส เยลต์ซิน ว่ารอบบ้านคือความปลอดภัยรัสเซีย จะไม่ยอมให้ใครมาป้วนเปี้ยนหน้าบ้านส่งผลกระทบกับความมั่นคง แต่สหรัฐก็ขยายการรับสมาชิกนาโตออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ฮังการี โปแลนด์ เช็ก และประเทศในยุโรปตะวันออก รัสเซียจึงส่งทหารเข้าไปจอร์เจียเมื่อปี 2008 เพื่อสั่งสอนที่จอร์เจียประกาศเข้าเป็นสมาขิกนาโต จากนั้นรัสเซียก็ยึดไครเมีย ปี 2014 ขณะที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรก็ส่งที่ปรึกษาเข้าไปในยูเครน ให้อาวุธ ให้เงิน เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองโดยอ้างประชาธิปไตย

สงครามทุกครั้งย่อมต้องมี “เหตุผล”

ตั้งตน “เป็นใหญ่” จึงใช้คำว่า “สั่งสอน” เป็นมหาอำนาจจึงกล้ารุกราน หรือแทรกแซง โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาถึงแม้จะอยู่คนละซีกโลก แต่ด้วยความที่ “เป็นใหญ่” จึงขนทหาร ขนอาวุธยุทโธปกรณ์ไปทำ “สงครามเวียดนาม” สมัยนั้นสหรัฐอเมริกาก็หา “เหตุผล” มาอธิบายให้กับการรบราฆ่าฟันกันอย่างโหดร้ายทารุณที่มีคนตายไปไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนได้เหมือนกัน

 

การมีระบบความคิดแบบจักรวรรดิ ไม่ว่าจะเป็นจักรวรรดินิยมแห่งโลกเสรี หรือจักรวรรดินิยมในโลกสังคมนิยม ตั้งแต่ยุคที่ยังมีสหภาพโซเวียต จึงไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และรายละเอียดปลีกย่อยของชีวิตเล็กๆ เช่นเดียวกับประเทศเล็กๆ ถ้าเป็นรัฐกันชนของประเทศอภิมหาอำนาจก็ย่อมมีสถานะเป็นแค่ “เบี้ย” บนกระดานยุทธศาสตร์ทางการเมืองและความมั่นคงของจักรวรรดิ

ถึงจะรักสงบก็ไม่อาจสงบ แม้หวังเป็นปึกแผ่นก็จะแตกแยก

อิสรภาพทางการเมืองของ” ยูเครน” ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง ฝักใฝ่ทางหนึ่งก็จะถูกอีกฝั่งโค่นล้ม ไล่ล่า จะไม่มีแม้แต่แผ่นดินอาศัย

แน่นอนว่าในแง่มุมของปูติน วันนี้สหรัฐอเมริกายังคงประพฤติตัวเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ครอบงำโลก อาศัยรัฐกันชนจ่อคอหอยรัสเซียนับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

รัสเซีย-ยูเครน ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง อดีตรัฐบริวารสหภาพโซเวียตและประเทศพันธมิตรรายรอบก็มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์คล้ายคลึงกัน

การจัดระเบียบโลกไม่ใช่หน้าที่ของสหรัฐอเมริกา

บริเวณภูมิรัฐศาสตร์ “ยูเรเซีย” นี้ รัสเซีย ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางสามารถจัดการกันเองได้!?!!!