ปลาซิวไล่สวบ ‘ป.’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ปลาซิวไล่สวบ ‘ป.’

 

ปกติ “ปลาซิว” เป็นปลาไร้พิษสง ขี้ตกใจ ไม่สู้ ตายง่าย

จนมีการเปรียบเทียบคนขี้แพ้ คนไม่สู้ ว่าเป็นพวก ใจปลาซิว

แต่กระนั้น ในผญาอีสานดั้งเดิม ก็ให้ราคาปลาซิวอยู่เหมือนกันในกรณีรวมฝูงสู้ บางทีก็สามารถมีพิษสงเป็นปลาซิวไล่สวบแข่ (จระเข้) ได้

จึงไม่พึงประมาทปลาซิว-ปลาสร้อย

 

อย่างในแวดวงการเมืองตอนนี้ “3 ป.” ซึ่งเปรียบเป็น “ปลาตัวใหญ่”

อาจจะขาดความรอบคอบ หรือมองข้ามความสำคัญของปลาซิว ปลาสร้อยไป

ทำให้งานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อโชว์ความเป็นเอกภาพ 3 ป. มีเฉพาะพรรคแกนนำสำคัญ คือ พรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา มาร่วม ขาดพรรคเล็กไป

นำไปสู่การตัดพ้อจากพรรคเล็ก อย่างนายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย ที่บอกว่าพวกตนเป็นชนชั้นสอง

ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงก่อปัญหาความรู้สึกเท่านั้น

หากแต่ได้แปรเป็นเกมการเมืองอันแหลมคม

เมื่อกลุ่มพรรคเล็กนัดรับประทานอาหารกลางวันกันเอง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ห้องอาหารจีน โรงแรมโกลเดน ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 ปรากฏว่า มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย และ ส.ส.เศรษฐกิจไทย ที่กำลังเป็นตัวแปรสำคัญในเสียงสนับสนุนรัฐบาล มาปรากฏตัวร่วมด้วย

ภายใต้คำอธิบาย “เราเป็นนักการเมืองพี่ๆ น้องๆ มีความผูกพันกันมา…ผมชวนน้องเขามาร่วมอุดมการณ์ช่วยสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ทุกคนที่อยู่ในพรรคเล็กทั้งหมด ผมเป็นคนเจรจา เราเอาเขามาอยู่ตรงนี้ เราจึงทิ้งเขาไม่ได้”

“แม้จะเป็นพรรคเล็กแต่ผมให้เกียรติทุกพรรค กว่าจะรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลได้เสียง 20 กว่าเสียงเมื่อตอนปี 2562 มีความสำคัญมาก แต่เวลาผ่านมา 3-4 ปี กลับไม่ให้ความสำคัญกับเขาเลย เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ”

 

ตีความคำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากย้อนศรกลับไปยัง 3 ป.และแกนนำรัฐบาล ที่มองข้ามและไม่ให้ความสำคัญกับพรรคเล็ก

ตรงกันข้ามคนที่ไม่ลืม และให้ความสำคัญกับปลาซิว ปลาสร้อย คือ ร.อ.ธรรมนัส

และปลาซิว ปลาสร้อยเหล่านี้ ก็ดูจะยื่นไมตรีกลับแก่ ร.อ.ธรรมนัส

โดยนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม บอกว่า “ตั้งแต่ร่วมรัฐบาลกันมา ร.อ.ธรรมนัสคือคนที่มาทาบทามพวกเราและดูแลพวกเราอย่างดีมาโดยตลอด เมื่อ ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว พวกเราก็ไม่คิดจะทอดทิ้ง ร.อ.ธรรมนัส ยังคงให้ความสำคัญ เพราะพวกเราเป็นเพื่อนพี่น้องกัน”

ด้วยการประกาศตัวเป็นพี่เป็นน้องกันระหว่าง ร.อ.ธรรมนัสกับแกนนำพรรคเล็กนี้เอง

ย่อมทำให้ 3 ป.รู้ดีว่าพลาด และคงปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ได้

เพราะหาก ร.อ.ธรรมนัสดึงพรรคเล็กเข้าไปเป็นพวก แล้วเกิดมีปัญหากับรัฐบาล

เสียงสนับสนุนในสภาก็อาจไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลโคลงเคลง หรือล้มครืนลงได้

นี่เอง จึงนำมาสู่การแก้เกม ด้วยการดึงเอาพรรคเล็กกลับมาโดยการตั้งวงเปิบสามัคคีอีกรอบ

โดย 3 ป. พรรคแกนนำรัฐบาลทั้งหมด เชิญพรรคเล็กเข้าร่วม ในวันที่ 17 มีนาคม ที่สโมสรราชพฤกษ์

นัดก่อนหนึ่งวันที่พรรคเศรษฐกิจไทยจะประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค

จึงเป็นเหตุผลที่จะไม่เชิญ ร.อ.ธรรมนัสและพรรคเศรษฐกิจไทย เข้าร่วมเพราะถือว่ายังไม่มีหัวหน้าและเลขาธิการพรรค

ถือเป็นการ “กัน” ให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนนอก

ตอกย้ำความเป็นอื่นระหว่างร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถึงวันนัดหมาย “เปิบสามัคคี” กับพรรคเล็ก 17 มีนาคม

มีการขับเคลื่อนทางการเมืองที่น่าสนใจจากฝั่งฟาก 3 ป.เอง

โดยตอนแรกมีการระบุว่า การนัดหมายกับพรรคเล็กครั้งนี้ “ป.ประยุทธ์” มอบให้นายสุชาติ ชมกลิ่น ซึ่งมีภาพใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ประสานงาน

แต่จู่ๆ ก็มีกระแสข่าวว่า ฝั่งฟาก ป.ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการให้เลื่อนออกไป เพราะเกรงว่าพรรคเล็กจะกระทบกระทั่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะหัวหน้าพรรคเล็กบางคนเอนเอียงไปทาง ร.อ.ธรรมนัส

กระแสข่าวดังกล่าว สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับการเปิบสามัคคีที่นัดหมายกันไว้

จนโฆษกรัฐบาลต้องออกมายืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงนัดหมายกับพรรคเล็กตามเดิม ไม่มีการเลื่อนออกไป

ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวจาก ป.ป้อมอีกครั้ง ด้วยการเชิญพรรคเล็กมาคุยนอกรอบก่อนในวันที่ 14 มีนาคม ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร

โดยด้านหนึ่งมองว่า เป็นความประสงค์ของ พล.อ.ประวิตรที่ต้องการเคลียร์ใจกับพรรคเล็กก่อนที่จะพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งกัน

แต่อีกด้านหนึ่ง มองว่านี่เป็นการช่วงชิงการนำทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตรหรือไม่

คือนอกจากดึงการประสานงานจากนายสุชาติซึ่งถือเป็นคนของ พล.อ.ประยุทธ์ มาอยู่ในมือตนเองแล้ว

พล.อ.ประวิตรยังต้องการที่จะกำหนดทิศทางและวาระเกี่ยวกับพรรคเล็กไว้ในมือของตนเอง ไม่ใช่ไปขึ้นตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่

 

ซึ่งการหารือเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ก็มีร่องรอยให้เห็นเช่นนั้น

โดย พล.อ.ประวิตรได้พยายามโชว์บทบาทของผู้กำหนดวาระต่างๆ เอง

อาทิ ให้ทุกพรรคไปร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ พล.อ.ประยุทธ์ในวันที่ 17 มีนาคม โดยพร้อมเพรียง

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตรได้สอบถามถึงการไปร่วมรับประทานอาหารกับ ร.อ.ธรรมนัส ว่าเป็นการรวมกลุ่มเพื่อล้มนายกฯ หรือไม่ ปรากฏว่าพรรคเล็กต่างยืนยันว่าไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้แต่อย่างใด

เมื่อพรรคเล็กสอบถามถึงการปรับคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตรบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ปรารภว่าอยากให้ปรับ ครม. แต่ตนเองไม่อยากให้ปรับ เพราะปรับ ครม.ทุกครั้งจะยุ่งยาก มีปัญหาตามมา เกิดความขัดแย้งอีก จึงจะไม่มีการปรับ ครม.

พรรคเล็กยังสอบถามว่า จะมีใครดูแล ส.ส.พรรคเล็ก เพราะที่ผ่านมามี ร.อ.ธรรมนัสดูแล แต่ตอนนี้ไม่มี จึงรู้สึกเคว้ง พล.อ.ประวิตรบอกว่าจะดูแลด้วยตนเอง

และที่เป็นไฮไลต์สำคัญก็คือ การที่ พล.อ.ประวิตรบอกให้พรรคเล็กอยู่ช่วยรัฐบาลทำงานไปถึงช่วงการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนแล้วจะยุบสภา และจะมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงปีใหม่ หรือเลยปีใหม่ไปเล็กน้อย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ขยายความถึงการยุบสภาว่า “ผมพูดเองว่าพอจบเอเปคแล้วรัฐบาลก็ว่างแล้ว ถ้าจะยุบก็ยุบได้ตอนนั้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี นี่เป็นความคิดของผมเอง”

ส่วนการพูดคุยกับพรรคเล็กนั้น พล.อ.ประวิตรบอกว่า ไม่มีอะไร เขาก็แล้วแต่ผม

ส่วนการดูแลกลุ่มพรรคเล็กนั้น พล.อ.ประวิตรย้ำว่า ดูแลมาตลอด ดูแลมาตั้งแต่เริ่มต้น “ร.อ.ธรรมนัสก็ไม่เกี่ยว เพราะผมดูแลคนเดียว”

ฟังจากสิ่งที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวข้างต้น คงมองเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากเป็นความพยายามที่จะ “กำหนดเกมและทิศทาง” ให้กลุ่มพรรคเล็กนั่นเอง

 

แต่กระนั้น เมื่อไปฟังเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์

ดูจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับ พล.อ.ประวิตรนัก

อย่างการระบุว่าการยุบสภาจะมีขึ้นภายหลังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า “เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประวิตรพูดในมุมของท่าน แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของนายกฯ ที่จะตัดสินใจ จะมาบอกก่อนทำไม ทำไมต้องรีบบอก”

ส่วนการนัดรับประทานข้าวกับพรรคเล็กนั้น พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีอะไรที่เป็นประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่รัก ไม่สามัคคี ไม่ให้เกียรติกัน มันไม่ใช่ ผมให้เกียรติเสมอ ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นนายกฯ เป็นสุดยอดเสียเมื่อไหร่”

ส่วนที่พรรคเล็กเกิดความน้อยใจในตัวนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “คนเรานั้นน่ะ มันก็ควรใจใหญ่ ทำตัวให้หัวใจมันใหญ่ขึ้นมาเสียหน่อย ไม่ใช่หัวใจเล็ก ต้องรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน”

ส่วนเสียงในสภาที่พรรคเล็กมีบทบาทสำคัญนั้น นายกฯ บอกว่า ก็แล้วแต่เสียงในสภา บังคับใครไม่ได้อยู่แล้ว

รวมถึงแผนที่จะล้มนายกฯ นั้น พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “ก็ให้มาล้มเถอะไป ใครจะล้มก็ล้มไปเถอะ ผมไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”

 

ฟังน้ำเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ดูจะยังมีระยะห่างกับพรรคเล็กอยู่ไม่น้อย

ซึ่งก็คงต้องติดตามว่า การนัดเปิบสามัคคีในวันที่ 17 มีนาคม ผลจะออกมาอย่างไร

จะลดช่องว่างลงได้หรือไม่

หรือเป็นอย่างที่นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ ว่าการกินข้าวกับพรรคเล็ก คงไม่เกิดประโยชน์ ถ้าคุยแล้วยังไม่ใส่ใจกันเหมือนเดิม

โดยย้ำว่าพรรคเล็กก็เป็น ส.ส. ไม่ใช่พรรคข้างถนน

“การอยู่เป็นรัฐบาลต้องอาศัยมือ ไม่ใช่อาศัยคำพูด เราก็มีมือของเรา อยู่ที่จะยกให้หรือไม่ ถ้าไม่ยกให้ก็ต้องทำใจ”

สะท้อนภาวะที่ต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตนเอง

ที่ผ่านมาพรรคเล็กอาจจะมีสิทธิมีเสียงไม่มากนัก

แต่ในตอนนี้สถานการณ์พลิกผันไป โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีเป็นอื่นจากกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส และอ้าแขนรับเพื่อนจากพรรคเล็กไปเป็นแนวร่วม ยิ่งทำให้เสียงรัฐบาลมีปัญหา

โดยเฉพาะหากกลุ่มพรรคเล็กเป็นอื่น

นี่จึงทำให้อำนาจต่อรองของพรรคเล็กตอนนี้จึงมีสูงยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะหากรัฐบาลตั้งเป้าจะลากยาวอยู่ไปจนถึงหลังประชุมเอเปค

เสียงในสภาก็ยิ่งต้องมีเอกภาพ

นี่เองทำให้เหล่าปลาซิว ปลาสร้อยใช้เป็นช่องต่อรองอำนาจ ผลประโยชน์ อย่างเข้มข้น

เพราะอีกฝั่งฟากโดยเฉพาะฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสก็พร้อมจะดึงพรรคเล็กไปเป็นพวก เพื่อบีบคั้นรัฐบาล

อาหารมื้อเดียวอาจไม่พอ คงต้องมีการเสริมเสบียง เสริมกล้วยกันอีกต่อเนื่อง

ดังที่มีเสียงเย้ยๆ จากคนแดนไกล นายทักษิณ ชินวัตร ว่า “พรรคเล็กพรรคน้อยมีแต่คนแย่งกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงข้าว ดูเหมือนใครๆ ก็อยากจะเป็นเจ้ามือเลี้ยงข้าวหนูๆ ทั้งหลาย ท่านนายกฯ ก็จะเลี้ยงข้าวอีก คิดว่าพรรคเล็กคงขอบคุณมาก อิ่มดี ทำให้พวกที่ได้เป็น ส.ส.ปัดเศษ ช่วงนี้คงจะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ดี”

ซึ่งก็เป็นไปดังที่นายทักษิณว่า เพราะหากปล่อยให้ท้องว่าง

ปลาซิว ปลาสร้อย ก็อาจไล่สวบ “ป.ปลา” ตัวใหญ่จนกระเจิงได้!