ที่ราบลุ่มน้ำแม่กลอง จำลองความศักดิ์สิทธิ์มาจากเมืองกุสินารา / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ที่ราบลุ่มน้ำแม่กลอง

จำลองความศักดิ์สิทธิ์

มาจากเมืองกุสินารา

 

สระน้ำโบราณแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีชื่อเรียกว่า “สระโกสินารายณ์”

แต่ต่อให้พลิกพจนานุกรมจนมือหงิก ก็คงจะหาความหมายของคำว่า “โกสินารายณ์” ไม่เจอแน่ เพราะชื่อสระน้ำโบราณที่ว่านี้ ควรจะเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “กุสินารา” ซึ่งก็คือชื่อเมืองตามพุทธประวัติ อันเป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกเลยสักนิดที่สระน้ำแห่งนี้จะถูกนับเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสระน้ำที่สร้างขึ้นในเขตเมืองที่จำลองความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองกุสินารามา

และก็ศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่ถูกใช้เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำ 108 แห่งจากทั่วประเทศ ที่ถูกนำไปใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ.2562 นี้เลยแหละครับ

 

มีผู้เสนอแนวความคิดที่ว่า พื้นที่บริเวณสระโกสินารายณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น น่าจะเป็นเมือง “ศัมภูวปัฏฏนะ” (หรือที่เดิมเคยอ่านกันว่า ศัมพูกปัฏฏนะ) ที่ปรากฏชื่ออยู่ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งนครธม ประเทศกัมพูชา

แต่ข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด เพราะยังมีผู้ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งได้เสนอข้อคัดค้านอยู่

แถมยังเป็นไปได้ด้วยว่า ชื่อเหล่านี้อาจจะเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้พิธีกรรม ซึ่งก็คือพิธีที่จัดขึ้นพร้อมการสถาปนาจารึกหลักดังกล่าวเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกันกับการเฉลิมพระนามของเมือง หรือกษัตริย์ ในพิธีกรรมต่างๆ อันเป็นชื่อที่ปรากฏอยู่เฉพาะในพระสุพรรณบัฏ หรือจารึก ไม่ได้เป็นชื่อที่ถูกใช้เรียกจริง

และต้องระลึกไว้ด้วยว่า การเรียกพื้นที่เมืองโบราณ ที่มีสระโกสินารายณ์เป็นส่วนหนึ่งของเมืองว่า ศัมภูวปัฏฏนะ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของนักวิชาการในยุคหลังเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า จึงควรเป็นร่องรอยตกค้างของชื่อ “กุสินารา” ที่ยังถูกใช้เรียกเป็นชื่อของสระน้ำแห่งนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่สำคัญคือ ในสมัยโบราณชื่อ “กุสินารา” นี้ คงจะไม่ได้ถูกใช้เรียกเป็นชื่อของสระน้ำแห่งนี้เป็นการเฉพาะ เพราะว่ามีหลักฐานการใช้เป็นชื่อเรียกพื้นที่บริเวณเมืองโบราณแห่งนี้อย่างกว้างๆ อยู่ด้วย

 

หลักฐานที่ชัดเจนมีอยู่ใน ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่า เมืองกาญจนบุรี ของกรมหมื่นศักดิพลเสพ (ต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพ) ซึ่งเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ได้เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “เมืองกุสินาราย” ดังข้อความที่ว่า

“จักเสด็จสาลวัน ที่บัลลังก์อาสน์ศิลา บรมศาสดานิพพาน สวนอุทยานมลราช ที่ประพาสนอกบุรี นามธานีกุสินาราย”

คำว่า “กุสินาราย” ก็ควรจะเป็นคำที่เพี้ยนมาจาก “กุสินารา” เช่นเดียวกับ “สระโกสินารายณ์” โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณสระโกสินารายณ์นี้ อยู่ห่างจากบริเวณ “พระแท่นดงรัง” ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณที่กรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพเรียกว่า “ธานีกุสินาราย” เพียงไม่ถึง 30 กิโลเมตรเท่านั้นนะครับ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ในเขตปริมณฑลระหว่างกัน

ข้อความในลิลิตเรื่องดังกล่าวยังอธิบายเอาไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า พื้นที่เมืองกุสินารายนี้ คือสถานที่ที่ “บรมศาสดานิพพาน” แน่นอนว่า “บรมศาสดา” ที่ว่านี้ย่อมหมายถึง “พระพุทธเจ้า”

ดังนั้น การเรียกพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่า “กุสินาราย” หรือ “โกสินารายณ์” นั้น จึงหมายถึงเมือง “กุสินารา” ที่ตามพุทธประวัติอ้างว่าเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ร่องรอยของการนำชื่อเมืองกุสินารามาใช้ในดินแดนบริเวณดังกล่าวนี้ ยังมีปรากฏในเอกสารยุคต้นกรุงเทพฯ ฉบับอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น “นิราศพระแท่นดงรัง” ของสามเณรกลั่น ผู้เป็นลูกบุญธรรมของกวีเอกยุคต้นกรุงเทพฯ อย่างสุนทรภู่ โดยนิราศเรื่องนี้ยังเขียนถึงการไปนมัสการพระแท่นแห่งนี้พร้อมสุนทรภู่อีกด้วย ดังความที่ว่า

“…แล้วจากท่ามาถึงตรงคุ้งพงตึก

อนาถนึกสงสัยได้ไต่ถาม

ท่านผู้เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ

ว่าตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินราย…”

คำว่า “โกสินราย” นั้นก็ย่อมเป็นคำที่เพี้ยนมาจาก “กุสินารา” เช่นเดียวกัน ส่วนสิ่งที่ในนิราศของสามเณรกลั่นเรียกว่า “ตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินราย” นั้น ควรจะหมายถึง โบราณสถานที่พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ตั้งอยู่ห่างจากพระแท่นดงรังเพียงไม่ถึง 20 กิโลเมตร

ควรจะสังเกตด้วยว่า ในนิราศดังกล่าวระบุว่า “ผู้เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ” หมายความว่าเป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมานานแล้ว โดยเป็นเรื่องตั้งแต่เมื่อ “ครั้งแผ่นดินโกสินราย” คือเป็นเรื่องเมื่อครั้งยุคเมืองโกสินราย หมายความว่า เป็นเรื่องเมื่อยุคเก่าก่อนตั้งแต่เมื่อพื้นที่แถบนี้ยังถูกเรียกว่า โกสินราย คือกุสินารา

ซึ่งไม่ใช่ชื่อเรียกบ้านเมืองบริเวณเมื่อครั้งที่สามเณรกลั่น และสุนทรภู่ได้เดินทางมาถึง

 

ชื่อโกสินรายยังปรากฏใน “นิราศพระแท่นดงรัง” ของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีผู้มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งในยุครัชกาลที่ 3 ได้เรียกพื้นที่บริเวณพระแท่นดงรังว่า โกสินราย ดังความที่ว่า

“…นี่จนจิตฤทธีหามีไม่

ยิ่งคิดไปยิ่งทอดฤทัยถอน

โอ้พระแท่นแผ่นผาอยู่ป่าดอน

แต่ปางก่อนที่นี่เป็นที่เมือง

ชื่อกรุงโกสินรายสบายนัก

เป็นเอกอรรคออกชื่อย่อมฦๅเลื่อง

ทั้งแก้วแหวนเงินทองก็นองเนือง

ไม่ฝืดเคืองสมบัติกระษัตรา…”

จะเห็นได้ว่า เสมียนมี หรือหมื่นสมพัตสรนั้น ก็ระบุความเอาไว้ไม่ต่างกับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกันอย่างสามเณรกลั่น ที่อ้างว่าแต่เดิมนั้นพื้นที่บริเวณนี้เป็นบ้านเป็นเมืองมาก่อน โดยมีชื่อว่า “โกสินราย” หรือ “กุสินารา” และเสมียนมีเองก็ดูจะเชื่อว่าบ้านเมืองโบราณที่ชื่อโกสินรายแห่งนี้ เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานจริงๆ เพราะในนิราศเรื่องเดียวกันนี้เองก็ได้ระบุเอาไว้อย่างนั้น ไม่ต่างไปจากที่สามเณรกลั่น และกรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพได้อ้างด้วยเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บริเวณพื้นที่เมืองกุสินาราจำลองแห่งนี้ ควรจะมี “พระแท่นดงรัง” เป็นจุดศูนย์กลางของความศักดิ์สิทธิ์ เพราะทั้งกรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพ และเสมียนมีต่างก็เรียกพระแท่นดงรังว่า “โกสินาราย” และ “โกสินราย” ตามลำดับ ซึ่งก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยนะครับว่า ผู้คนในยุคโน้นมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานที่พระแท่นดงรัง

 

ตํานานของพระแท่นดงรังมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าได้อาพาธคือ ป่วย (ส่วนจะป่วยเป็นโรคอะไรนั้น ตำนานไม่ได้บอกเอาไว้) จนกระทั่งเสด็จปรินิพพาน ในพื้นที่บริเวณพระแท่นดงรัง โดยยังมีเรื่องเล่าต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อปรินิพพานแล้ว ผู้คนก็พากันนำร่างของพระองค์ขึ้นไปบนเขาที่อยู่ข้างๆ พระแท่น แล้วทำการถวายพระเพลิง เขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “เขาถวายพระเพลิง” มาจนกระทั่งทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกอะไรที่พระแท่นดงรังจะเป็นศูนย์กลางของการจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองกุสินารามาไว้ที่พื้นที่บริเวณนี้

หากจะพิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า พระแท่นดงรัง ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง โดยแม่น้ำดังกล่าวเกิดจากการที่แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแควน้อยไหลมาสมทบกันที่ ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จนเกิดเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ที่เรียกว่าแม่น้ำแม่กลอง ไหลผ่านเขต อ.เมือง, อ.ท่าม่วง และ อ.ท่ามะกา ใน จ.กาญจนบุรี มายัง อ.บ้านโป่ง, อ.โพธาราม, อ.เมืองราชบุรี จากนั้นไหลเข้าเขต อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม แล้วไปออกอ่าวไทย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่มีชื่อ “สระโกสินารายณ์” ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับแม่น้ำสายดังกล่าว

เช่นเดียวกับการที่นิราศพระแท่นดงรังของทั้งสามเณรกลั่น และเสมียนมี กับลิลิต เสด็จไปขัดทัพพม่า เมืองกาญจนบุรี จะเรียกพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่า เมืองโกสินราย หรือกุสินาราย ตามลำดับ

พูดง่ายๆ ว่า พื้นที่บริเวณที่เป็นการจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองกุสินารา ซึ่งมีพระแท่นดงรังเป็นศูนย์กลาง ควรจะกินบริเวณครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง อย่างน้อยก็ตั้งแต่บริเวณพระแท่นดงรัง, พงตึก และรวมไปถึงเมืองโบราณที่สระโกสินารายณ์ตั้งอยู่เลยนั่นเอง •