ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
การศึกษา
กางแผน ศธ.แก้สารพัดปัญหา
‘ภาวะเรียนรู้ถดถอย’ ของเด็กไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าว “ครู” ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ออกมาสะท้อนปัญหาการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่าส่งผลให้นักเรียนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เกาะสมุยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และเกิดกับเด็กทั่วทั้งโลกอีกด้วย!!
ภาวะการเรียนรู้ถดถอย คือการเสียโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งจะมีผลให้เด็กเกิดภาวะถดถอยของความรู้ ทำให้ทักษะต่างๆ ที่เด็กควรจะได้รับ การพัฒนาตามช่วงวัย ก็จะสูญเสียตามไปด้วย เช่น ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน ทักษะการปรับตัว ทักษะการเข้าสังคม เป็นต้น
ซึ่งหากขาดการพัฒนาทักษะเหล่านี้ อาจทำให้เด็กขาดโอกาสในการสร้างบุคลิกของตน
ย้อนกลับมามองประเทศไทย แรกเริ่มเมื่อโรคโควิด-19 ระบาดครั้งแรก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับมือโดยการสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาติดเชื้อ พร้อมกับปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใหม่ จากที่เรียน “ออนไซต์” ในห้องเรียน มาเป็นเรียนทาง “ออนไลน์” และรูปแบบอื่นๆ แทน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนรูปแบบอื่นๆ ประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากับการเรียนรูปแบบออนไซต์…
นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้ประเทศไทยพบปัญหาการเรียนรู้ถดถอยแล้ว ยังพบปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่ลดลง เมื่อบ้านต้องปรับตัวเป็นโรงเรียน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ทางการเงิน และเศรษฐกิจของครอบครัว จะกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดว่านักเรียนมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ครอบครัวสามารถสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน อินเตอร์เน็ต ให้นักเรียนสามารถเรียนออนไลน์ได้หรือไม่
ซึ่งมีหลายครอบครัวที่ไม่สามารถสนับสนุนลูกหลานได้ ทำให้นักเรียนขาดอุปกรณ์การเรียน ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้
เมื่อนักเรียนไม่มีความพร้อม ปัญหาที่ตามมาคือ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เพิ่มขึ้น และกว้างมากขึ้น เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้น!!
ทั้งนี้ ยังพบปัญหาด้าน “ปฏิสัมพันธ์” เมื่อเรียนผ่านระบบออนไลน์เป็นเวลานาน ทำให้นักเรียนขาดการปฏิสัมพันธ์ ขาดทักษะการเข้าสังคม ที่สำคัญ เด็กอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิต มีความเครียด อ่อนล้าอีกด้วย
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาประกาศชัดเจนว่า ในปีการศึกษา 2565 ให้สถานศึกษาในสังกัด ศธ.โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการเรียนการสอนที่เน้นซ่อมสร้างเพื่อให้เกิดคุณภาพ ไม่ใช่จัดการเรียนการสอนเพื่อต่อยอดสู่ความเป็นเลิศ!!
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกมารับลูกทันทีว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยขึ้นกับเด็กไทย แต่โลกเรากำลังพบเจอกับโรคระบาดอยู่ ดังนั้น จะช่วยกันอย่างไร และจะมีวิธีการเติมความรู้ให้เด็กๆ ได้อย่างไร
ซึ่งในปีการศึกษา 2565 สพฐ.จะเน้นการสอนซ่อมสร้าง เพื่อให้เกิดคุณภาพ มีเป้าหมายหลักคือ ต้องเสริมเรื่องการอ่านออกเขียนได้ โดยจะใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น ช่วยสอนเสริมทางออนไลน์ ให้ใบงาน เป็นต้น
ขณะที่นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เปิดแผนแก้ไขปัญหาเช่นกัน โดยระบุว่า สกศ.ได้สำรวจ วิจัย สังเคราะห์ ข้อมูลของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ พบว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้เรียนมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย ซึ่งภาวะการเรียนรู้ถดถอยในแต่ละชั้นปีแตกต่างกัน และผู้เรียนในแต่ละพื้นที่ มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่แตกต่างกัน
จากการวิจัยพบว่า ผู้เรียนในเมืองที่มีอุปกรณ์การเรียนครบ จะมีความรู้ถดถอยเล็กน้อย ขณะที่ผู้เรียนในต่างจังหวัด หรือชนบท ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ มีความรู้ถดถอยมากถึง 2 ปี!!
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหานั้น สกศ.ได้เสนอแผนแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาว สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้น คือมาตรการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ 7 มาตรการ (RECOVER) คือ
1. Redesign การออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ใหม่ที่ตอบสนองบริบทความเปลี่ยนแปลง และความต้องการของผู้เรียน
2. Empower เสริมพลังพัฒนาครู และผู้บริหารสถานศึกษา
3. Collaborate สร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
4. Open resources พัฒนาคลังสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้แบบเปิด
5. Value สร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และสุขภาวะที่ดีของผู้เรียน ทั้งสุขภาพ และสุขภาพจิต
6. Elevate ยกระดับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ
และ 7. Regard จัดสวัสดิการความปลอดภัย สร้างขวัญ และกำลังใจแก่ครู
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว คือ CSC MODEL คือ Care plan connecting โดยเริ่มพัฒนาให้เด็กเยาวชนในทุกระดับ และประเภทการศึกษามี care plan รายบุคคล จากนั้นเชื่อมโยง และพัฒนาให้เกิดขึ้นในทุกระดับ
โดยส่งต่อข้อมูลอย่างเป็นระบบ – Supportive networking พัฒนาอาสาสมัคร ศธ. และ Digital platform รวบรวมข้อมูลการศึกษาต่อ – Centralink, provincial learning community ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สานต่อ และพัฒนาแนวคิด learning ecosystem ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ไขปัญหาของ ศธ.นั้น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กลับมองว่า นโยบายที่ออกมานั้นดี แต่ทำอย่างไรที่จะสอนซ่อม และสร้างคุณภาพให้เด็ก จะดำเนินการด้วยวิธีการใด ใช้อุปกรณ์การเรียนการสอน และเตรียมงบประมาณเท่าใดในการดำเนินการ เพราะขณะนี้เห็นแต่นโยบายออกมาเท่านั้น ยังไม่มีวิธีปฏิบัติออกมาให้เห็น
“ศธ.จะมีมาตรการอะไรมารองรับนโยบายที่ให้ไป จะติดตามผลการปฏิบัติอย่างไร จะอบรมพัฒนาครูอย่างไร มีงบอะไรมาสนับสนุน เพื่อให้ครูทำงานดีขึ้น และง่ายขึ้น ถ้า ศธ.ไม่วางแผนให้ดี นโยบายที่ออกมาจะกลายเป็นนโยบายลอยลม คือเป็นนโยบายที่ดูดี ทำให้เห็นว่า ศธ.ตระหนักถึงปัญหาเท่านั้น แต่จะรู้ได้อย่างไรว่านโยบายที่ให้โรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง นำไปปฏิบัตินั้น มีการขับเคลื่อน หรือทำให้เปลี่ยนแปลงจริงๆ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
ที่สำคัญ ศ.ดร.สมพงษ์ระบุว่า ภาวะการเรียนรู้ถดถอยควรจะเป็นวาระของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทุ่มเทแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ขอให้ น.ส.ตรีนุชอย่าออกแต่นโยบายเท่านั้น แต่ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร และจะติดตามผลอย่างไร ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าออกนโยบายแก้ไขภาพลักษณ์เท่านั้น
จับตาต่อไปว่า ศธ.จะแก้ไขปัญหาการศึกษาที่เข้าขั้น “วิกฤต” ได้อย่างไร อย่าลืมว่าโรคโควิด-19 ยังจะอยู่กับเราไปอีกนาน…
ดังนั้น จะทำอย่างไรที่ทุกคนอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 พร้อมกับพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยให้ได้!! •