ล้านนาคำเมือง : สีโหม้

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สีโหม้”

สีโหม้ วิชัย คือ คนเชียงใหม่คนแรกที่เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา

สีโหม้ วิชัย เป็นบุตรของหนานสีวิชัย และนางวันดี เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2411 ที่บ้านสันป่าข่อย ด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง ในเชียงใหม่ บริเวณนั้นเป็นหมู่บ้านของชาวคริสเตียน

สมัยนั้น เมืองเชียงใหม่มีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คือ เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ระยะเวลาเดียวกันอังกฤษได้เข้ายึดครองพม่าตอนใต้กับตอนกลางแล้ว และกำลังขยายการลงทุนด้านป่าไม้สักในพม่าและล้านนา

ในปี พ.ศ.2401 นายแพทย์แดเนียล แม็กกิลวารี มิชชันนารีชาวอเมริกันได้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาที่เมืองไทย และขยายมาล้านนาในปี 2409

อีกทั้งได้รักษาโรคให้คนล้านนาโดยเฉพาะไข้มาลาเรีย โรคคอพอก และไข้ทรพิษ ซึ่งได้ผลดีจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในหมู่ประชาชน

ในปี พ.ศ.2412 หนานชัย และน้อยสัญญา ผู้นำระดับหมู่บ้าน ซึ่งเคยบวชเรียนมาแล้ว ได้ตัดสินใจหันไปนับถือคริสต์ศาสนา ยังผลให้คนทั้งสองถูกจับ และมีคำสั่งจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ประหารชีวิตอย่างลับๆ

แต่การเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารียังดำเนินการต่อไปด้วยดี เนื่องจากได้รับพระบรมราชานุญาตจากในหลวงรัชกาลที่ 5

นายแพทย์แม็กกิลวารี มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งคือนายแพทย์มาเรียน ชิก และได้เผยแผ่ศาสนาในเมืองเชียงใหม่พักหนึ่ง แล้วลาออกไปค้าไม้สักและตั้งโรงเลื่อยไม้ โดยได้เข้าหุ้นกับนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ หนานสีวิชัย ซึ่งหันไปนับถือศาสนาคริสต์และได้ทำงานใกล้ชิดกับหมอชิก ก็ได้ลาออกตามหมอชิกไปช่วยทำธุรกิจด้วย

ต่อมาภรรยาหมอชิกต้องกลับไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสุขภาพไม่ดี และต้องนำลูกสาวทั้งสองคนกลับไปด้วยแต่ไม่มีคนดูแล

หนานสีวิชัย จึงส่งสีโหม้ให้ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อเป็นเพื่อนของเด็กทั้งสองในระหว่างการเดินทาง

ซึ่งขณะนั้นสีโหม้มีอายุเพียง 20 ปี ไม่เคยเข้าโรงเรียนมาก่อน เพราะตอนนั้นยังไม่มีโรงเรียน (โรงเรียนชายวังสิงห์คำ ซึ่งเป็นโรงเรียนชายแห่งแรกของเชียงใหม่ก่อตั้งในปี 2430) สีโหม้รู้ตัวหนังสือล้านนาเพียงอ่านออกเขียนได้ ส่วนภาษาอังกฤษก็ไม่เคยเรียนมาก่อน

ระหว่างที่พำนักอยู่ที่สหรัฐเป็นเวลาปีเศษ เขาได้เขียนจดหมายเป็นตัวหนังสือล้านนา ถึงพ่อแม่ จำนวน 24 ฉบับ โดยได้บรรยายเรื่องราวและสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างเดินทาง ตั้งแต่ออกจากเมืองไทยจนไปถึงสหรัฐอเมริกา

และกล่าวถึงบ้านเมือง และสภาพของสิ่งต่างๆ ความเจริญอันหลากหลายที่ได้พบในสหรัฐอเมริการวมทั้งนำมาเปรียบเทียบกับสภาพของกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

นับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของล้านนา และเป็นหลักฐานสำหรับคนที่พูดคำเมืองควรจะได้ศึกษาคำเมืองในอดีต

สีโหม้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2481 อายุได้ 70 ปี