จับสัญญาณ ‘สูตรพิสดาร’ ‘2 กม.ลูก’ เข้าทางใคร?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จับสัญญาณ

‘สูตรพิสดาร’

‘2 กม.ลูก’ เข้าทางใคร?

การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ สัดส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นประธาน กำลังพิจารณากันอยู่ในขณะนี้ ท่ามกลางข่าวลือการยุบสภา ว่าจะมีการยุบสภาก่อนกฎหมายลูกเสร็จ หรือจะยุบสภาทีหลัง โดยทาง กมธ.คาดว่าทั้ง 2 ฉบับน่าจะจบได้ช่วงเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ “สาธิต” ประธาน กมธ. ยืนยันว่า จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทำอย่างรอบคอบ พิจารณาให้เหมาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้เสร็จเร็วที่สุด ไม่กังวลอะไร เพราะเวทีนี้มีข้อยุติและมีการลงมติในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ อีกอย่างใน กมธ.ก็มีทั้ง ส.ว. ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล

แต่ดูเหมือนสิ่งที่เป็นปัญหาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส. คือข้อถกเถียงเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้งเลขเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ จะเป็นเบอร์เดียวกันหรือแยกเบอร์ รวมทั้งวิธีคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ซึ่งบัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวหรือแยกเบอร์ อาจไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่

แต่ที่พรรคการเมืองติดใจคือในเรื่องของวิธีคำนวณ ส.ส.พึงมี ที่พรรคเล็กที่ได้ ส.ส.เพียงคนเดียว อาจจะได้ ส.ส.เพราะคะแนนถึง หรือได้ ส.ส.จากการปัดเศษก็ตาม ออกมาโวย เพราะหากใช้วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหารด้วย 100 คน พรรคเล็กก็มีสิทธิ์สูญพันธุ์ แต่ถ้าหารด้วย 500 คนก็จะเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม หากหารด้วย 500 คน แม้จะเป็นธรรมกับทุกพรรคก็ตาม แต่พรรคที่เสียเปรียบคือพรรคเพื่อไทย ที่อาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เป็นได้ แต่ถ้าหารด้วย 100 พรรคเพื่อไทยจะได้ฟรีๆ 30 เสียง เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหากหารด้วย 500 ก็จะเข้าทางพรรคก้าวไกลเช่นกัน

ส่วนพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะหารด้วยอะไร ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย จำนวน ส.ส.ที่ได้ จะได้เสียเล็กน้อย หรือไม่ก็เท่าทุน

 

นี่เองจึงทำให้ นพ.ระวี มาศชมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ออกมาเป็นตัวตั้งตัวตี หรือตัวแทนพรรคเล็ก แสดงความกังวลว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเล็กมีสิทธิ์สูญพันธุ์เป็นแน่ โดยจะแปรญัตติให้ใช้วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยการหารด้วย 500 เพราะต้องยึดเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 ที่กำหนดว่า ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยวิธีคำนวณจะให้นับทุกคะแนนจากบัตรเลือกตั้งทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วนำมาหารด้วย 500 ตามจำนวน ส.ส.ทั้งสภา แล้วนำคะแนนของแต่ละพรรคมาหารด้วยจำนวนดังกล่าว จึงจะทำให้ได้ ส.ส.พึงมี และคิดว่าไม่น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น นพ.ระวียังจะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เนื่องจากถูกร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับแก้เป็น 2 ใบละเมิดสิทธิและเสรีภาพ จึงมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

และเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น ก็จะยื่นถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ต้องการการคำนวณแบบ MMP ระบบจัดสรรปั่นส่วนผสมแบบเดิม เพราะเป็นระบบที่เป็นธรรมกับทุกพรรค ซึ่งก็ต้องดูว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่ก็ไม่น่าจะทำได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการแปรญัตติสู้กันต่อในชั้นกรรมาธิการ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าจะให้คำนวณด้วยการหารด้วย 500 หรือ 100 กันแน่

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ หลัง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค พลาดตำแหน่งประธาน กมธ. ท่ามกลางเสียงแตกของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่พอใจการทำหน้าที่ประธานของ “ไพบูลย์” ที่มักไม่ฟังเสียงใคร ดังนั้น ความเห็นต่างๆ ของพลังประชารัฐก็คงต้องรอในที่ประชุม กมธ.พิจารณากัน

ส่วนพรรคภูมิใจไทยได้แต่ออกมาบอกว่าไม่ได้คุยอะไรกับ นพ.ระวีเลย คงต้องรอฟังที่ประชุม กมธ.ว่าจะไปในทิศทางใด

 

แต่พรรคเพื่อไทย โดยนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี ในฐานะโฆษก กมธ. ยันทันทีว่า จะใช้ 500 มาหารเพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้ เพราะขัดหลักการบัตรเลือกตั้งสองใบ ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ก็ต้องคุยกันในชั้น กมธ. ว่าเอาอย่างไรกันแน่ แต่ดูเหมือนเพื่อไทยจะยินดีกับการหารด้วย 100 เพราะทำให้พรรคได้ประโยชน์มากกว่า

ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขา กมธ. เห็นว่าการคิดคำนวณ ส.ส.ต้องหารด้วย 100 เพราะเจตนารมณ์ของมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข คือให้หารด้วยจำนวน 100 คน เพื่อให้เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์โดยตรง ไม่ใช่ใช้จำนวน 500 คน ซึ่งเป็นโดยอ้อม ส่วนที่มีการอ้างถึงถ้อยคำในมาตรา 93 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญนั้น ในชั้นการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กมธ.เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกัน แม้ไม่แก้ไขจะไม่มีผลในทางบังคับใช้ เหมือนเป็นไส้ติ่งเท่านั้น

“การหารด้วย 100 ก็เพื่อให้ได้คะแนนที่พึงมีของ ส.ส. 1 คน เช่น เมื่อหารคะแนนได้คะแนนพึงมี 3.5 แสนคะแนน จะเท่ากับพรรคไหนที่ได้คะแนนดังกล่าวจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน หากได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน ให้คิดคะแนนจากเศษคะแนน โดยให้สิทธิทุกพรรคนำคะแนนเศษจัดลำดับสูงสุด เพื่อคำนวณหา ส.ส.ที่เหลือ เพื่อให้ครบ 100 คน กรณีดังกล่าวจะทำให้พรรคขนาดเล็ก หรือพรรคเฉพาะทาง มีสิทธิ์ได้ที่นั่งในสภา”

นายนิกรระบุ

 

ทั้งนี้ ในที่ประชุม กมธ.ล่าสุด การพิจารณามาถึงแค่มาตรา 3 ว่าด้วยเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่ถึงเรื่องที่เป็นปัญหากันอยู่ ทั้งการกำหนดหมายเลขบัตรเลือกตั้ง จะเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ทั้ง ส.ส.เลขและบัญชีรายชื่อ หรือจะใช้คนละเบอร์ รวมถึงเรื่องวิธีคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันมาก เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกัน คงต้องรอให้ถึงวาระดังกล่าวเสียก่อนถึงจะรู้เบื้องต้นว่าเป็นอย่างไร

โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ. ยืนยันว่า หมายเลขผู้สมัครในร่างของพรรคเพื่อไทย ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกัน ซึ่งประชาธิปัตย์ก็เห็นว่าควรเป็นหมายเลขเดียวกัน แต่ในร่างของ ครม.เป็นคนละหมายเลข ก็ต้องสู้กันอีก

“ส่วนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความชัดเจนตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ต้องหารด้วย 100 เท่านั้น เพราะการจะหารด้วย 500 คงเป็นไปไม่ได้ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ และคงไม่ทำให้พรรคเล็กต้องสูญพันธุ์ หรือพรรคใหญ่เกิดแลนด์สไลด์อย่างที่กังวลกัน เพราะแนวคิดที่เสนอกันมายังคงต้องถกเถียงกันอีกมาก” ชินวรณ์อธิบาย

คงต้องรอดูว่าพรรคที่เสียเปรียบจะดิ้นทางไหน หรือพรรคที่ได้เปรียบจะนิ่งเฉย รอเสียงข้างมากใน กมธ.ชี้ขาด และจะทันต่อกระแสการยุบสภาหรือไม่

จะเข้าทางพรรคการเมืองไหนคงต้องลุ้นกันต่อไป