‘ทางราษฎร์กิโลเมตรที่ 0’ การบันทึกสีสันแห่งปรากฏการณ์การเมืองไทยของช่างภาพสื่อสารมวลชนระดับตำนาน วินัย ดิษฐจร / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

‘ทางราษฎร์กิโลเมตรที่ 0’

การบันทึกสีสัน

แห่งปรากฏการณ์การเมืองไทย

ของช่างภาพสื่อสารมวลชนระดับตำนาน

วินัย ดิษฐจร

 

โดยปกติ เรามักจะคุ้นเคยกับภาพถ่ายสื่อสารมวลชน (Photojournalism) หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ภาพข่าว จากสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร

ภาพถ่ายประเภทนี้มีหน้าที่ในการบอกเล่าเรื่องราว หรือนำเสนอประเด็นต่างๆ ในสังคม

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง, สงคราม, ความรุนแรง ไปจนถึงเรื่องราวรอบตัวทั่วไป อย่างเรื่องธรรมชาติ, สิ่งแวดล้อม หรือวิถีชีวิตของผู้คน

ในขณะเดียวกัน ภาพถ่ายประเภทนี้ก็ยังถูกนำเสนอในแง่มุมของงานศิลปะและถูกจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะได้ด้วยเช่นกัน

ดังเช่นภาพถ่ายในนิทรรศการศิลปะครั้งล่าสุด ของช่างภาพสื่อสารมวลชนระดับตำนานของเมืองไทยอย่าง วินัย ดิษฐจร อดีตช่างภาพของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และช่างภาพสำนักข่าว EPA (European Pressphoto Agency) ประจำประเทศไทย ผู้ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในสายข่าวและสารคดี

ที่มีชื่อว่า ทางราษฎร์กิโลเมตรที่ 0 นั่นเอง

 

นิทรรศการศิลปะภาพถ่ายครั้งนี้ของวินัย เป็นการนำเสนอมุมมองของปรากฏการณ์การเมืองไทยอันหลากหลาย ที่เกิดขึ้นรายรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานที่แห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ประชาชนต่างเพศ ต่างวัย ต่างฝ่ายการเมือง ต่างความเชื่อ ร่วมกันใช้แสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“นิทรรศการครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานภาพถ่ายทางการเมืองในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาของผม เริ่มตั้งแต่ช่วงไม่กี่เดือนก่อนการรัฐประหารปี 2549 ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือม็อบเสื้อเหลือง ก่อนหน้านี้ผมก็เข้าไปถ่ายภาพเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนะ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเป็นช่างภาพสายการเมือง แต่เป็นสายท่องเที่ยวมากกว่า แต่ผมก็สนใจเหตุการณ์ทางการเมือง และชอบแวะไปดูและถ่ายภาพการชุมนุมต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ถ่ายเยอะนัก เพราะไม่ค่อยมีสตางค์ ต้องใช้หางฟิลม์ของบริษัทที่เหลือๆ พอล้างเสร็จก็ตัดเก็บเอาไว้”

ส่วนเหตุที่นิทรรศการครั้งนี้มีชื่อว่า “ทางราษฎร์กิโลเมตรที่ 0” วินัยเฉลยว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากคำกล่าวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ที่กล่าวว่า

“อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่าถนนสายต่างๆ ที่ออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศ…”

ทำให้มีการปักหมุดกำหนดให้ทางหลวงของประเทศไทยโดยนับต้นทางจากอนุสาวรีย์แห่งนี้ อีกทั้งตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเองก็ถูกออกแบบให้มีความหมายซ่อนเร้น ทั้งสัดส่วน, ความกว้าง, ความสูง, รายละเอียดการตกแต่งประดับประดาของตัวอนุสาวรีย์ ล้วนถอดออกมาจากตัวเลขซึ่งสัมพันธ์กับวันที่ 24 มิถุนายน 2475

องค์ประกอบเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นวัตถุบูชา รูปเคารพ หรือแสดงถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์อันใด หากแต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น ถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์แห่งนี้ จึงเปรียบได้กับถนนแห่งราษฎร หรือถนนของประชาชนทุกคนนั่นเอง

 

“งานชุดนี้ของผมได้รับแรงบันดาลใจจากภาพจำตอนเด็กๆ ที่เคยเห็นภาพถ่ายเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นภาพผู้ชุมนุมหลายแสนคนยืนอยู่รอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของผมมากๆ และเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองด้วย

ที่ผ่านมา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองหลายฝ่ายหยิบมาใช้และพยายามยืดโยงความเป็นเจ้าของ

หลังปี 2549 ทุกคนต่างถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของประชาธิปไตยในบริบทของตนเอง, ทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลือง หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)

พอหลังรัฐประหารปี 2557 ก็เริ่มมีกิจกรรมของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ได้มีแค่เสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงแล้ว ผู้ชุมนุมก็อายุน้อยลงอย่างน่าทึ่ง

หลังช่วงปี 2563-2564 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงความหลากหลายอย่างน่าสนใจ เริ่มมีกิจกรรมทางการเมืองที่เราคาดไม่ถึง ทั้งม็อบแฮมทาโร่, ม็อบพ่อมด-แม่มด รวมตัวกันเสกคาถาต่อต้านเผด็จการ, ม็อบนัดกินส้มโอ, ม็อบศิลปะและดนตรี, การชุมนุมของเหล่า LGBTQ, การรื้อถอนกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ การคลุมผ้าสีแดง ผ้าสีขาวรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ที่สำคัญ กลุ่มผู้ชุมนุมที่โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา ที่ต่างยกระดับเพดานของข้อเรียกร้องไปจนถึงโครงสร้างที่ใหญ่โตมากๆ จนน่าประหลาดใจ

สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การตื่นรู้ของผู้คนที่ลุกขึ้นมาใช้ศักยภาพของตัวเองต่อสู้คัดง้างกับอำนาจที่กดทับอยู่ ถึงแม้ผู้ชุมนุมเหล่านี้จะถูกอำนาจรัฐสลายกำลังไป แต่ทุกครั้งก็จะมีคนรุ่นใหม่ๆ คนรุ่นต่อไปที่ลุกขึ้นมาสู้อีกไม่รู้จบ

“ผมมองว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจเหล่านี้ต่างกลัวเด็กๆ เพราะเด็กๆ มีเวลา มีพลัง และมีโอกาสที่จะทดลองได้มากกว่าคนรุ่นเก่าๆ”

 

“ภาพถ่ายทุกภาพในนิทรรศการนี้เป็นภาพจากเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองต่างๆ อย่างเหตุการณ์การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หรือการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2558 ครบรอบ 9 ปี รัฐประหารปี 2549”

“หรือในช่วงหลังจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 คนในเมืองจะมองคนเสื้อแดงเป็นศัตรู แต่พอหลังจากรัฐประหารปี 2557 เรื่อยมาจนปี 2562-2564 คนเสื้อแดงกลับมาเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่ต่างหยิบยกการต่อสู้และความเสียสละของพวกเขามาพูดถึงและยกย่องมากขึ้น มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเยอะมาก บางคนพลิกกลับมาแรงมาก การถ่ายภาพบันทึกปรากฏการณ์เหล่านี้เอาไว้ก็เหมือนกับให้ภาพถ่ายได้ทำงานด้วยตัวมันเอง”

ในนิทรรศการครั้งนี้ วินัยรวบรวมภาพถ่ายเหตุการณ์ทางการเมืองหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพยายามจัดให้ภาพถ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองหลายๆ ฝ่ายหันมาเผชิญหน้ากันโดยไม่เรียงลำดับเวลา

แต่จัดเรียงตามจังหวะและสีสันของอารมณ์ความรู้สึกในภาพให้โต้ตอบและสร้างบทสนทนาซึ่งกันและกัน

 

“เวลาถ่ายภาพในการชุมนุม ผมพยายามถ่ายให้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย โดยส่วนตัวผมชอบถ่ายให้เห็นใบหน้าและดวงตาของผู้คน เพราะผมอยากสื่ออารมณ์ในเหตุการณ์ออกมา, ก่อนหน้านี้ผมทำงานเป็นภาพถ่ายขาวดำ ทั้งภาพถ่ายสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหารปี 2547 ไปถ่ายในเรือนจำก็มี แต่ในงานชุดนี้ผมถ่ายเป็นภาพสี เพราะผมมีความรู้สึกกับเหตุการณ์เหล่านี้เป็นสี ทั้งการเมืองเรื่องสีเสื้อ หรือการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมสีสัน”

“ตอนถ่ายภาพชุดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สมัยก่อน ผมมีความรู้สึกเป็นขาวดำ อาจเป็นเพราะผมได้รับอิทธิพลจากช่างภาพยุคเก่าที่ทำงานในอัฟกานิสถาน เพราะตอนนั้นประเด็นของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของความรุนแรงและการใช้อำนาจกดรัฐทับ แต่ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ถึงแม้สถานการณ์ความรุนแรงจะยังคงมีอยู่ แต่วิถีชีวิตของผู้คนดูแตกต่างจากสมัยก่อน หลังจากนี้ผมเลยจะกลับไปทำงานถ่ายภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อ แต่ผมจะถ่ายเป็นภาพสีแล้ว ผมอยากถ่ายทอดวิถีชีวิตประจำวันและความเป็นมนุษย์ของพวกเขาออกมา”

ทางราษฎร์กิโลเมตรที่ 0 นิทรรศการภาพถ่ายโดยวินัย ดิษฐจร จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์-27 มีนาคม 2565, เปิดทำการปกติวันพุธ-อาทิตย์ 12:30-18:00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร), สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @VSGalleryBangkok •

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก VS Gallery และศิลปิน