ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงพิจารณาเห็นความทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ อย่างที่สิ้นสุดมิได้ กล่าวกันว่า ความดำริจะเสด็จออกจากโลกียวิสัย ไปบวชบำเพ็ญพรตนี้เกิดขึ้นเพราะทรงทอดพระเนตรเห็น “เทวทูต” ทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ตามลำดับ
แต่ในพระสูตรกล่าวว่าพระองค์ทรงเบื่อหน่ายในกามสุขขึ้นมาเอง หลังจากได้รับการปรนเปรออย่างบำรุงบำเรอสารพัดจากพระราชบิดา ผู้ไม่ทรงมีพระประสงค์จะให้พระราชโอรสเสด็จออกผนวช
ทรงตรัสเล่าไว้ใน ปาสราสิสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 12 ว่า ขณะยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ (คือเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ) พระองค์ทรงได้คิดว่า “เราเองยังมีความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นธรรมดาอยู่ ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นธรรมดา ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความโศก ความเศร้าหมองเป็นธรรมอยู่แล้ว แล้วทำไมหนอ เราจึงไม่แสวงหานิพพาน อันไม่เกิดไม่ตาย เป็นธรรมปลอดจากเครื่องร้อยรัดใจ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า”
นี้คือสาเหตุทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช
แต่อย่างไรก็ดี เทวทูตทั้งสี่ก็เป็นส่วนประกอบด้วย คืออาจพบเทวทูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัย หรือทรงครุ่นคิดพิจารณาถึงความวุ่นวายต่างๆ ทางโลกอยู่ พอดีทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ก็ช่วยเร่งให้ตัดสินพระทัยเร็วขึ้น แม้กระทั่งการได้ข่าวพระโอรส (ราหุล) ประสูติ ก็เป็นเครื่องกระตุ้นให้ต้องรีบตัดสินพระทัย ด้วยทรงเกรงว่าหากล่าช้าไป ความรักในพระโอรสอาจจะเป็นพันธะเหนี่ยวรั้งให้ไปไหนไม่ได้
ดังพระอุทานที่เปล่งออกมาว่า “ราหุล (บ่วง) เกิดแล้ว พันธนาการเกิดแล้ว” นั้นแล
เวลาเสด็จออกผนวช ก็เป็นข้อถกเถียงกัน เพราะพุทธประวัติที่เขียนภายหลังไม่ตรงกับพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกซึ่งอยู่ในรูปพระพุทธดำรัสตรัสเล่าพระไตรปิฎกมีข้อความว่า “เมื่อสมัยเรายังหนุ่ม มีผมดำสนิทอยู่ในวัยกำลังเติบโต เมื่อบิดาและมารดาไม่ปรารถนา (จะให้บวช) ร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์สละเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว”
หลังจากเสด็จออกผนวชแล้ว ประทับอยู่ที่ตำบลอนุปิยอัมพวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
จากนั้นก็เสด็จไปยังแคว้นมคธ ทรงพบพระเจ้าพิมพิสารที่มาเข้าเฝ้า และทูลเชิญให้ลาพรตไปครองราชย์สมบัติด้วยกัน
ว่ากันว่าพระเจ้าพิมพิสาร “ใจป้ำ” จะแบ่งอาณาจักรให้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
แต่พระองค์ตรัสว่าพระองค์มิได้ต้องการสมบัติทางโลกใดๆ ที่สละทุกสิ่งทุกอย่างมานี้ ก็เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นอย่างเดียวเท่านั้น
จากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปสมัครเป็นศิษย์ฝึกปฏิบัติโยคะอยู่กับอาจารย์สองท่าน คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร อุททกดาบส รามบุตร โดยอยู่กับอาจารย์คนแรก ทรงได้รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 3 อยู่กับอาจารย์คนที่สอง ทรงได้ อรูปฌานที่ 4 เพิ่มขึ้น คือ เนวสัญญานา สัญญายตนะ ระยะเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏ แต่คาดว่าคงไม่เกินสองปีหรือน้อยกว่านั้น
ผลสัมฤทธิ์แห่งฌานก็ทำให้จิตใจสงบ ไม่ถูกกิเลสรบกวน แต่ก็ไม่ได้ถอนรากถอนโคนโดยสิ้นเชิง ออกจากฌานสมาบัติเมื่อใด กิเลสอาสวะก็กลับมาเหมือนเดิม ดุจเอาศิลาก้อนใหญ่ทับหญ้าไว้ ตราบใดที่ยังไม่ยกศิลาออก หญ้าก็ไม่สามารถงอกงามได้ แต่ถ้ายกศิลาออกเมื่อใด หญ้าก็งอกขึ้นมาได้อีก
ฉะนั้น ทรงเห็นว่ายังมิใช่สัมมาสัมโพธิญาณที่ทรงแสวงหา
พุทธประวัติที่แต่งกันภายหลัง มักพูดทำนองดูแคลนว่า ฌานสมบัติที่อาจารย์ทั้งสองสอนนั้นมิใช่ทางบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ บางฉบับก็ว่าแรงว่าเป็นแนวทางที่ผิด แต่เมื่อพิจารณาแล้ว วิธีปฏิบัติให้ได้ฌานนี้ พระพุทธเจ้านำมาปรับใช้สอนสาวกของพระองค์ เรียกว่า ระบบสมถะนั้นเอง เพียงแต่สมถะล้วนๆ ไม่ทำให้บรรลุนิพพานได้ ต้องทำสมถะจนได้ฌานแล้วทำฌานเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาเท่านั้น จึงจะดำเนินสู่มรรคผลนิพพานได้
พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า วิธีโยคะของดาบสทั้งสองนั้น ก็เป็นอันเดียวกับสมถกรรมฐานนั้นเอง และสมถกรรมฐานนี้มีอยู่ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว โยคีที่บรรลุถึงขั้นสุดยอดของสมถกรรมฐานมีปรากฏมากมาย แต่ท่านเหล่านั้นมิได้ตรัสรู้เป็น พุทธะ เพราะระบบโยคะอำนวยผลเพียง ศีลกับสมาธิ ยังขาดปัญญา
เมื่อพระพุทธองค์ทรงใช้สมถกรรมฐานเป็นบาทฐานแห่งการเจริญวิปัสสนา จึงได้ปัญญาตรัสรู้ ดังนั้นวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นคำสอนเฉพาะของพระพุทธศาสนา
และที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีครูสอนนั้น ความจริงพระองค์มีครูสอน เท่าที่ทราบทั่วไปก็มี ครูวิศวามิตรประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยา 18 แขนงให้ ขณะยังทรงเป็นพระราชกุมาร ครูอาฬารดาบส และอุททกดาบส สอนฝึกสมาธิ ตามระบบโยคะ
ครูทางด้านอื่นๆ นั้น พระพุทธเจ้าทรงมีเช่นเดียวกับคนอื่น แต่ครูที่สอนให้ตรัสรู้นั้นไม่มี พระองค์ทรงค้นพบวิธีปฏิบัติเพื่อตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงเป็น “สัมมาสัมพุทธะ” (ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง) ด้วยประการฉะนี้แล