King Richard | เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์
Photo : Warner Bros.

หากเอ่ยถึงชื่อนักเทนนิสหญิงระดับโลกที่แฟนเทนนิสทั่วโลกรู้จักดี ต้องมีชื่อของสองพี่น้องตระกูลวิลเลียมส์ คือ “วีนัส และ เซเรน่า” รวมอยู่ด้วยแน่นอน

ทั้งสองเป็นนักเทนนิสหญิงชาวอเมริกันที่สร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ และอยู่แถวหน้าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีหลักฐานคือผลงานที่วีนัสผู้พี่ เป็นเจ้าของถ้วยแกรนด์สแลม 17 ใบ โดย 7 ครั้งในประเภทหญิงเดี่ยว, 8 ครั้งประเภทหญิงคู่ และ 2 ครั้งในประเภทคู่ผสม

ส่วนน้องสาว เซเรน่านั้นยิ่งกว่า ด้วยตัวเลข 23 ของจำนวนถ้วยแชมป์แกรนด์สแลมประเภทหญิงเดี่ยว ยากนักที่จะหาใครมาลบล้างได้ในเทนนิสยุคใหม่นี้

แน่นอนที่การก้าวขึ้นมาเป็นมือต้นๆ ของโลกเช่นนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายและฟลุกแต่อย่างใด ต้องอาศัยกำลังกาย กำลังใจ กำลังทุนมากมาย ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าใครที่มีสามอย่างนี้แล้วจะประสบผลสำเร็จทุกคน เพราะสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องการคือ “โอกาส”

โดยเฉพาะการเป็นนักกีฬาอาชีพ โอกาสในการลงแข่งขัน คือเครื่องมือในการทำมาหากิน เป็นช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ฝีมือของตนเองให้แฟนๆ และสปอนเซอร์สินค้าต่างๆ ได้เห็น และหากประสบผลสำเร็จในการแข่งขันด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีค่าตัวมากขึ้น

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพี่น้องตระกูลวิลเลียมส์นั้นมาจากพ่อและแม่ ซึ่งก็คือ ริชาร์ด วิลเลียมส์ และออราซีน วิลเลียมส์ ที่ผลักดันทุกวิถีทางที่จะทำให้ลูกทั้งสองได้มี “โอกาส” จนกระทั่งแปรเป็นความสำเร็จทั้งผลงาน ชื่อเสียง และเงินทองเช่นทุกวันนี้

หนังที่ชื่อ King Richard ที่กำกับฯ โดยเรนัลโด้ มาร์คัส กรีน จับเอามิติของผู้เป็นพ่อมาถ่ายทอดให้เห็นว่า เขามีวิธีคิดในการ “สร้างลูก” อย่างไร ที่ไม่เหมือนคนอื่น และไม่เดินตามแนวทางมาตรฐานของเหล่าเอเยนซี่ และโค้ชที่มีเรื่องเงินและผลประโยชน์เป็นหลัก

ครอบครัวตระกูลวิลเลียมส์อาศัยอยู่ในย่านคอมป์ตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เป็นแหล่งอาศัยของคนดำ มีสภาพแวดล้อมไม่ดี ทั้งการตีกัน ทำร้าย ข่มขืนกัน ไปจนถึงฆ่าแกงกัน และมียาเสพติดเพ่นพ่านอยู่ไม่น้อย

ริชาร์ดผู้เป็นพ่อตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวต้องดีได้มากกว่านี้ เรื่องการศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถทำให้ถึงโอกาสนั้นได้ ลูก 5 คนของเขา ที่ก็คือวีนัสและเซเรน่า รวมทั้งลูกติดของภรรยาที่เกิดจากสามีคนก่อนอีก 3 คน จึงเรียนดีทุกคน

อีกเครื่องมือหนึ่งที่เขาตั้งใจสร้างให้กับลูกก็คือ “กีฬาเทนนิส” ที่จะเป็นโอกาสให้ไม่เพียงแต่มีฐานะที่ดีขึ้น แต่เป็นโอกาสที่จะประกาศดังๆ ให้รู้ว่า เด็กผู้หญิงผิวสีดำก็เป็นคนที่ประสบผลสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับได้

นอกจากความตั้งมั่นแล้ว การกระทำของริชาร์ดก็มุ่งมั่นมาก ชนิดที่ไม่มีอะไรจะมาหักล้าง หรือขวางทางเขาได้ ภาพที่ปรากฏต่อสังคมคือ เขาเป็นพ่อที่เข้มงวดกับลูกๆ อย่างสุดโต่ง เหมือนว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอใจ จนเพื่อนบ้านเอาไปฟ้องหน่วยงานสังคมสังเคราะห์ให้มาตรวจสอบ

ซ้ำพฤติกรรมของเขาในการวิสาสะกับคนอื่นก็ไม่ค่อยเป็นมิตร และพร้อมจะเป็นศัตรูกับเขาได้ทุกเมื่อ เขาเป็นคนจำพวกมักพูดจาทิ่มแทงความรู้สึกคนอื่นอยู่เป็นนิจ ซึ่งการปะทะกันทางคำพูดนี้เขาก็ไม่เว้นให้แม้กับภรรยาของตนเอง ที่จริงๆ เธอพร้อมจะยืนเคียงข้างเขาอยู่แล้ว ขอเพียงแต่ให้รู้จักฟังและให้เกียรติกันบ้าง

เมื่อดูความเป็น “พ่อของนักกีฬาดัง” อย่างริชาร์ด วิลเลียมส์ แล้ว ก็ทำให้นึกถึง “พ่อของโปรโมและโปรเม” ในหนังไทยเรื่อง “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” ไม่น้อย

บท “พ่อสมบูรณ์ จุฑานุกาล” ในเรื่องนี้แสดงโดย “ธเนศ วรากุลนุเคราะห์” ทั้งสองพ่อนี้มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายๆ กัน ทั้งความตั้งใจมุ่งมั่นแน่วแน่ ฝันไกลแบบที่ไม่รู้เลยว่าจะไปได้ถึงไหม แต่ก็จะฝัน ทั้งการเคี่ยวกรำลูกสาวทั้งสองในการฝึกเล่นกีฬาชนิดสุดๆ รวมไปถึงการกำหนดชีวิตส่วนตัวแบบเข้มงวดอีกด้วย

ซ้ำบุคลิกขวานผ่าซากที่พร้อมจะมีคนเกลียดได้ตลอดเวลาก็เหมือนกัน

หรือนี่จะเป็นบุคลิกของพ่อที่มีลูกเป็นนักกีฬาชื่อดังต้องเป็นอย่างนี้ จึงจะสร้างลูกให้ประสบความสำเร็จอย่างวันนี้ได้

ชวนให้นึกไปถึง “พ่อจุ้ง ก้องภพ” ของเจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่จากเรื่องราว ข่าวคราว และข้อมูล ก็ทราบว่าพ่อจุ้งก็เอาเรื่องไม่ใช่น้อย ในแง่ของความมุ่งมั่นให้ลูกชายเป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จให้ได้ แม้ร่างกายของเจจะเล็กจนเป็นข้อด้อยข้อใหญ่ แต่พ่อก็มองข้ามและมุ่งมั่นสร้างจุดแข็งอย่างอื่นขึ้นมาแทน เพื่อลบล้างข้อด้อยนั้น

ในวัยเด็ก เจถูกพ่อเคี่ยวกรำให้ซ้อมเตะฟุตบอลทุกๆ วัน ไม่มีวันหยุด ในขณะที่เจก็อยากมีเวลาไปเล่นสนุกอย่างอื่นบ้างตามประสาเด็ก จนเคยมีปากเสียงกันก็มี รวมทั้งมีเหตุการณ์ที่พ่อจุ้งเคยตบหัวเจด้วยฝ่ามือเพราะผิดหวังจากการคัดตัวด้วย

พ่อจุ้งสอนเจด้วยตำราที่เขาเขียนขึ้นมาเอง โดยศึกษาจากนักฟุตบอลเก่งๆ แล้วนำมาสร้างเป็นบทเรียนการสอนฟุตบอลของตนเอง เหมือนกับริชาร์ด วิลเลียมส์ ที่ก็เขียนตำราในการฝึกลูกขึ้นมาเอง โดยอาศัยดูจากการเล่นของนักเทนนิสชื่อดังต่างๆ

นั่นคืออดีตที่เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างลูกของพ่อจุ้ง ที่มีผลลัพธ์ในปัจจุบัน คือ การที่เจ ชนาธิป เป็นนักกีฬาต่างชาติของเจลีกที่ย้ายทีมโดยมีค่าตัวสูงที่สุด

ไม่รู้เหมือนกันว่าพ่อของนักกีฬาชื่อดังคนอื่นๆ จะเป็นอย่างพ่อสามคนนี้หรือไม่

ในหนัง King Richard มีประโยคดีๆ สอนใจไม่น้อย เป็นประโยคจากริชาร์ดในมุมมองต่างๆ ที่มีให้กับเหตุการณ์ที่เขาต้องพบเจอ ที่ประทับใจคือเขาพูดกับลูกว่า ลูกจะไม่ใช่เป็นแค่นักกีฬาชื่อดัง ที่สำคัญคือการเป็นตัวแทนของเด็กผู้หญิงผิวสีที่แสดงให้เห็นว่า เราพร้อมจะทำในสิ่งที่เชื่อมั่นเพื่อให้ทุกคนยอมรับ

และในที่สุด วีนัสและเซเรน่า ก็เป็นเหมือนตัวแทนของเด็กหญิงผิวสีที่มักถูกสังคมเหยียดผิวกดไว้ ให้ลุกขึ้นมาเชื่อมั่นในตนเอง และก้าวมายืนอย่างสง่างามได้

เหมือนเช่นเจ ชนาธิป ที่เป็นดั่งตัวแทนของเด็กผู้ชายตัวเล็กที่มักถูกคนหัวเราะเยาะและถูกกลั่นแกล้ง ให้เชื่อมั่นในตนเองและพิสูจน์ว่าตนเองก็สามารถทำได้ไม่แพ้คนอื่น

รวมทั้งโปรเม-เอรียา จุฑานุกาล ก็ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะฝัน และทำตามความฝันนั้นให้ได้

นักแสดงที่รับบทริชาร์ด วิลเลียมส์ คือ “วิลล์ สมิธ” ที่ทุ่มเทกับบทนี้มาก เขาศึกษาบุคลิกของริชาร์ดตัวจริงเพื่อถอดแบบออกมาให้ใกล้เคียงมากที่สุด ศึกษาวิธีคิดและพฤติกรรมของริชาร์ด เพื่อที่จะเข้าถึงตัวละครและเป็นริชาร์ดอย่างที่ตัวจริงเป็น

การแสดงที่เอาอยู่และซัดคนดูเปรี้ยงๆ ในหลายฉากจนเรียกได้ว่า เขาแบกหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องจริงๆ ส่งผลให้สมิธได้เสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในการประกาศรางวัลออสการ์ประจำปีนี้ ซึ่งเป็นการถูกเสนอชื่อครั้งที่สามแล้ว

ล่าสุด เขาสามารถคว้ารางวัล “นักแสดงชายยอดเยี่ยม” จากเวทียิ่งใหญ่นี้ได้ในปี 2022 แต่ปรากฎการณ์เวทีที่เกิดขึ้นกลับถูกพูดถึงมากในงานประกาศรางวัลปีนี้  อ่านต่อ “วิล สมิธ” ตบหน้า “คริส ร็อก” กลางเวทีออสการ์ ฉุนเล่นมุกล้อภรรยา

ส่วนผู้แสดงเป็นลูกสาวทั้งสอง คือ “ซานิย์ยา ซิดนีย์” ในบทวีนัส และ “เดมี่ ซินเกลตัน” ในบทเซเรน่า ก็ทำให้เราเชื่อได้ว่าทั้งคู่มีฝีมือในการตีเทนนิสจริงๆ โดยบทของวีนัสจะเด่นกว่าเซเรน่า ซึ่งซานิย์ยาก็รับผิดชอบในบทบาทนี้ได้ไม่เลว รูปลักษณ์นั้นมองเพลินๆ ก็คล้ายกับวีนัสอย่างมาก

อีกคนหนึ่งที่เดินเรื่องเคียงข้างด้วยตลอด แม้จะไม่เกือบทุกฉากทุกซีนเหมือนพ่อและลูกสาวทั้งสอง นั่นก็คือแม่ ที่รับบทโดย “อัลจานี เอลลิส” แม้บทจะไม่มากเท่า แต่เอลลิสก็เอาอยู่ในฉากที่เธอสามารถโชว์ฝีมือในการแสดงได้ โดยเฉพาะฉากที่เธอพูดความรู้สึกทั้งหมดของเธอออกมาให้สามีฟัง มีทั้งความแข็งกร้าว และความอ่อนโยน ผสมอยู่ในสีหน้า แววตา น้ำเสียง ได้อย่างกลมกลืนลงตัว

หากริชาร์ด วิลเลียมส์ เป็น King คนอย่างอาราซีน วิลเลียมส์ ก็เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็น Queen

ด้วยการแสดงที่น่าชื่นชมนี้ส่งผลให้เอลลิสเป็นหนึ่งในชื่อที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง King Richard นั่นเอง

หนังยาวสองชั่วโมงกว่าๆ แต่ดูเพลิน ไม่เบื่อเลย โดยเฉพาะถ้าใครรักกีฬาเทนนิสก็ยิ่งจะถูกใจไม่น้อย เพราะเป็นการสร้างจากชีวิตจริงของนักเทนนิสที่คุณรู้จัก และมีนักกีฬาเทนนิสชื่อดังคนอื่นอยู่ในเรื่องนี้ด้วย

ทำไมริชาร์ด วิลเลียมส์ ถึงได้ชื่อว่าเป็น King Richard ลองไปหาคำตอบกันครับ