คุยกับทูต : ชานโดร์ ชีโปช ฮังการี-ไทย ในความสัมพันธ์หลายมิติ

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ชานโดร์ ชีโปช

ฮังการี-ไทย

ในความสัมพันธ์หลายมิติ

 

“การที่ผมได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของประเทศฮังการีประจำประเทศไทยถือเป็นก้าวสำคัญยิ่งของชีวิต”

ดร.ชานโดร์ ชีโปช (H.E. Dr. Sándor Sipos) คือเอกอัครราชทูตฮังการีประจำราชอาณาจักรไทยคนล่าสุด ที่เพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 เขตอาณาครอบคลุมประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งก่อนหน้านี้คยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในฮังการี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

“โดยมุ่งมั่นกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฮังการีและประเทศไทยโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือทางการศึกษา มวย อาหารและไวน์ เครื่องสำอางจากธรรมชาติและออร์แกนิกของฮังการี เป็นต้น”

ดร. ชานโดร์ ชีโปช (H.E. Dr. Sándor Sipos) เอกอัครราชทูตฮังการีประจำราชอาณาจักรไทย

เส้นทางสู่นักการทูต

“เนื่องจากผมมีความสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด เพราะเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยในระหว่างการศึกษาปริญญาโท ผมมีโอกาสได้ไปเรียนที่ประเทศอินโดนีเซียด้วยหนึ่งปี ต่อมา เมื่อเข้าทำงานกับกระทรวงต่างประเทศและการค้าฮังการี ก็ได้ไปประจำต่างประเทศครั้งแรกที่สิงคโปร์”

“จากความสนใจดังที่กล่าวมา ผมจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือ 26 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฮังการีและภาษาอังกฤษ ในหัวข้อที่หลากหลาย ตั้งแต่การขยายตัวของเมือง แนวโน้มทางประชากรศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจโลก และความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ ได้แก่ ความปลอดภัยของอาหาร”

“แต่ก่อนได้รับมอบหมายให้มาประจำที่นี่ ผมเคยมาเยือนประเทศไทยหลายครั้งแล้ว ทั้งโดยส่วนตัวและโดยทางการ แต่คราวนี้มารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตฮังการีเป็นครั้งแรก จึงรู้สึกโชคดีและนับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มาทำงานที่ประเทศไทยซึ่งเหมาะสำหรับการมาอยู่อาศัยและทำงาน ผมและครอบครัวจึงมีความรู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้าน”

ทูตฮังการี เข้าเยี่ยมคารวะ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.กระทรวงวัฒนธรรม หารือความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-ฮังการี

ความประทับใจที่มีต่อเมืองไทย

“คนไทยเป็นคนที่น่ารักที่สุดเท่าที่เคยพบมา ดูมีความสุข สุภาพ ยิ้มแย้มเสมอ และมักให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการอยู่อาศัย สะดวกต่อการเดินทาง ไม่ต้องใช้เวลานานในการรอแท็กซี่ และเป็นแหล่งรวมของผู้คนที่มาจากทั่วโลก”

“ผมเริ่มรักกรุงเทพฯ และคงเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คน เพราะนอกจากจะได้รู้จักวัดวาอารามและเส้นทางท่องเที่ยวต่างๆ แล้ว ผมยังได้พบตลาดที่ซุกซ่อนอยู่ในตรอกซอกซอยเล็กๆ รวมทั้งแผงลอยริมถนนที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีผู้คนในละแวกนั้นแวะเวียนไปจับจ่าย”

“จนได้รู้จักกลายเป็นเพื่อนกับคนท้องถิ่นนั้นไปด้วย”

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ต้อนรับ เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ เอกอัคราชทูต.ฮังการีประจำประเทศไทย

การขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทวิภาคี

“ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างฮังการีและไทยมีพลวัตมาก ไทยเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับฮังการี และเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการในฮังการีประสบความสำเร็จมาแล้วจนถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหาร การจัดการน้ำและของเสีย นวัตกรรมและไอที เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีศักยภาพมากที่สุดของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของฮังการี-ไทย การค้าระหว่างประเทศของเรากำลังเฟื่องฟู มีแนวโน้มในเชิงบวกมาก”

“เรารับทราบความพยายามของรัฐบาลไทยในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง (flagship) ของประเทศไทย เพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเรื่องระบบอัตโนมัติและการแปลงเป็นดิจิตอล มีความสำคัญสูงสำหรับรัฐบาลฮังการีเช่นกัน โดยเป้าหมายของเราคือการเพิ่มปริมาณการลงทุนและการค้าระหว่างสองประเทศ”

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หารือทูตฮังการี ร่วมลงทุนใน EEC

“ส่วนภายในสหภาพยุโรป ฮังการีเป็นสมาชิกของกลุ่มที่แข็งแกร่งที่สุดกลุ่มหนึ่งในยุโรปที่เรียกว่า Visegrad Group หรือ V4 ซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ และสโลวาเกีย”

“ในปีนี้ 2022 ฮังการีเป็นประธานของกลุ่ม V4 และผมจะใช้โอกาสนี้สร้างความไว้วางใจให้กับนักลงทุนชาวไทยต่อกลุ่มประเทศ V4 และมั่นใจว่าภูมิภาคยุโรปกลางจะเป็นภาคที่น่าลงทุนมากขึ้น เช่น Thai President Foods เปิดโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในฮังการีเพื่อจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปยังยุโรป”

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ กล่าวถึงการลงทุนของไทยในฮังการีว่า บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท Thai President Foods (Hungary) ตั้งแต่ปี 2013 ณ เมือง Eztergom ซึ่งผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ Thai Chef เพื่อจำหน่ายในยุโรป

“ขณะนี้เราอยู่ในช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดถึงพันธะในความสัมพันธ์แบบทวิภาคีของเรา เพราะนอกจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแล้ว ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การศึกษา และการติดต่อในระหว่างผู้คนกำลังเฟื่องฟูเช่นกัน”

บูดาเปสต์ (Budapest)เมืองหลวงของฮังการี

“รัฐบาลฮังการีมอบทุนการศึกษา 40 ทุน (Stipendium Hungaricum) ทุกปีสำหรับนักเรียนไทย ประเทศของเราซึ่งอยู่ใจกลางยุโรป กำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดยิ่งขึ้นสำหรับนักเรียนจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย”

“ดนตรีคลาสสิคและการศึกษาด้านการแพทย์ในฮังการีก็ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่นักศึกษาต่างชาติ และเช่นเดียวกัน นักเรียนไทยได้ใช้โปรแกรม European Erasmus+ และโปรแกรมที่คล้ายคลึงกันไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยในฮังการี”

อีราสมุส+ คือโครงการของสหภาพยุโรป-อียู เพื่อการศึกษา การฝึกอบรม เยาวชน และกีฬา สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี โท เอก อาจารย์ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ และมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก

“นอกจากนี้ เรากำลังดำเนินโครงการต่างๆ มากมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศไทย ไม่เพียงแต่ในระดับกระทรวงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถาบัน มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และอื่นๆ ด้วย และยังมีบางโครงการที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านการเกษตร ด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เน้นดนตรี กีฬาและเทคโนโลยี นวัตกรรม”

 

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

“งานหลักที่สำคัญของผมคือการส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศฮังการี พลเมืองฮังการี และบริษัทฮังการีทั้งในประเทศไทยและลาว ซึ่งเป็นความสำคัญอันดับแรกในด้านเศรษฐกิจ”

“เรามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง มีการติดต่อระหว่างผู้คน โดยร่วมมือกันทางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว”

 

The wine of kings and the king of wines

เสน่ห์ของไวน์เก่าแก่สัญชาติฮังกาเรียน ประวัติศาสตร์แห่งทวีปยุโรป

ฮังการีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องภูมิทัศน์ที่สวยงาม การคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ รวมทั้งมีสถาปัตยกรรมแนวโกธิกที่สามารถพบเห็นได้จากอาคารสำคัญๆ ของประเทศ อาทิ อาคารรัฐสภาฮังการี นอกจากนี้ฮังการียังมีชื่อเสียงในเรื่อง “ไวน์” อีกด้วย

ไวน์มีความสำคัญตลอดประวัติศาสตร์ของฮังการี ปัจจุบัน ฮังการีมีแหล่งผลิตไวน์ 22 แห่ง และพื้นที่ปลูกองุ่น 63,000 เฮกตาร์ (156,000 เอเคอร์) ไร่องุ่นส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น ครอบครองพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของภูมิภาคปลูกไวน์ของยุโรป ไวน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในฮังการีมาจาก Tokaj ซึ่งเป็นที่ตั้งของภูมิภาคไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ฮังกาเรียน ไวน์ – ไวน์ของพระราชาและราชาแห่งไวน์

“พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสควรได้รับการยกย่องให้เป็นผู้สร้างสโลแกนโฆษณาที่ยืนยงที่สุดในประวัติศาสตร์ไวน์ฮังการีโดยเรียก Tokaj ว่า ‘The wine of kings and the king of wines’ -ไวน์ของพระราชาและราชาแห่งไวน์”

“เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ไวน์ Tokaji asz? มีราคาแพงคือการเก็บเกี่ยวได้ยาก คนงานต้องเด็ดองุ่น asz? ออกจากพวงทีละต้น ในแต่ละวันโดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขาอาจเก็บ asz? ได้แปดกิโลกรัม เทียบกับองุ่นธรรมดา 500 กิโลกรัมตามคลัสเตอร์”

 

กิจวัตรยามว่าง

“เมื่อเวลาอำนวยผมเลือกอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด หรือพาครอบครัวไปเยือนแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ซึ่งเราพบว่าเป็นจังหวัดที่สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจด้วยประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาช้านาน”

กับมาดามกาเบรียลลาและเด็กหญิงฮานนา

“งานอดิเรกคือการอ่านหนังสือ ตีกอล์ฟ เล่นแบดมินตันกับเพื่อนร่วมงาน และชอบดูกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอล แต่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ระดับนานาชาติ (WSET ระดับ 2) ผมยินดีที่จะเข้าร่วมกิจกรรมชิมไวน์เสมอ”

เอกอัครราชทูตฮังการีกล่าวตอนท้ายว่า

“ผมรู้สึกโชคดีและยินดีมากที่ได้มาประจำประเทศไทย โดยคาดว่าจะทำความรู้จักประเทศไทยและภูมิภาคนี้ได้มากขึ้นในไม่ช้า ขณะเดียวกัน ผมมุ่งมั่นที่จะให้คนไทยและคนฮังการีได้รู้จักและเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่าเดิม และอีกไม่นาน ในปี 2023 เราจะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน นับเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการต่อยอดความสัมพันธ์ทุกมิติให้มั่นคงแน่นแฟ้นสืบต่อไป” •

 

ประวัติ

ดร.ชานโดร์ ชีโปช

(H.E. Dr. Sándor Sipos)

เอกอัครราชทูตฮังการีประจำราชอาณาจักรไทย

 

การศึกษา

2000-2010 : ปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัย Szent István

1996-1999 : เศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัย Budapest University of Economic Sciences

1995-1996 : ได้รับทุนเรียนภาษาและวัฒนธรรมชาวอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัย UniversitasSebelasMaret, Surakarta

1990-1995 : วิศวกรรมเครื่องกลเกษตร มหาวิทยาลัย G?d?ll? University of Agricultural Sciences

ประสบการณ์

2021-ปัจจุบัน : ภาครัฐ : เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งฮังการีประจำราชอาณาจักรไทย

2019-2021 : ภาคเอกชน : กรรมการผู้จัดการ บริษัทผู้ให้บริการด้านการวินิจฉัยทางสัตวแพทย์และห้องปฏิบัติการ

2018-2019 : ภาครัฐ : อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงต่างประเทศและการค้าฮังการี

2016-2018 : ภาครัฐ : อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศและการค้าฮังการี

2012-2016 : ภาครัฐ : ทูตการค้าระดับภูมิภาค สถานทูตฮังการีในสิงคโปร์

1996-2012 : ภาคเอกชน : ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการรับผิดชอบด้านการพัฒนาธุรกิจ โครงการลงทุนกรีนฟิลด์

ความสามารถด้านภาษา : อังกฤษ อินโดนีเซีย รัสเซีย

สิ่งพิมพ์ :

26 บทความ ในภาษาฮังการีและภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การขยายตัวของเมือง แนวโน้มทางประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจโลก และความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่

ข้อมูลส่วนตัว

วันเกิด : 5 กรกฎาคม 1971

สถานภาพ : สมรสกับนางกาเบรียลลา (Gabriella) ลูกสาวหนึ่งคนชื่อ ฮันนา (Hanna)