“แฝดเสมือน” : ธุรกิจพอดีคำ

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

ผมเป็นเด็กที่ซนมากครับ

เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง แถวสาทร

ยังจำได้ว่า ชอบแกล้งเพื่อนมาก

เอาของไปซ่อนบ้าง ปาลูกปิงปองใส่บ้าง เตะขัดขาให้ล้ม แย่งขนม สาดน้ำใส่

เอาเป็นว่า นิสัยแย่เอามาก

โดนคุณครูดุบ่อยครั้ง ตามประสาเด็กขี้เล่นจนเกินไปเสียหน่อย

แต่ยังจำได้ครับว่า มีเพื่อนอยู่สองคนที่ผมไม่กล้าเล่นด้วยเลย เพราะมันสองคนจะ “เข้าขา” กันดีมาก

แกล้งคนหนึ่ง อีกคนก็จะต้องออกมาปกป้อง

ไปฟ้องครูบ้าง ไปฟ้องผู้ปกครองบ้าง

ถ้าเป็นสมัยนี้ ผมจะนึกว่ามันสองคนเป็น “แฟน” กันอย่างแน่นอน

ไอ้เพื่อนสองคนนี้เนี่ย มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่เหมือนกันมากๆ ครับ

ไม่ใช่นิสัยใจคอ หรือว่าความสามารถเฉพาะตัวอะไรหรอก

มันสองคนก็แค่ “หน้าเหมือนกัน”

แค่นั่นเอง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

แถบเมื่องซานฟรานซิสโก หรือที่ใครๆ เขาเรียกว่า “ซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley)” ครับ

ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาด้านเทคโนโลยี ที่มีชื่อว่า “Singularity University Global Summit”

ดูชื่อแล้ว เหมือนจะเป็นประชุม “วิชาการ” ของมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไป

แต่ที่จริงแล้ว Singularity University ไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยจริงๆ ครับ

เขาเป็นเหมือนกับ “สถาบัน” แห่งหนึ่ง ที่ตั้งตัวเองขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” ด้านเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลก

เอาเป็นว่า ถ้าใครอยากตามทันกระแสเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) บล๊อกเชน (Blockchain)

พลังงานสะอาด (Clean Energy) การเงิน (FinTech)

เมืองอัฉฉริยะ (Smart City) หรือแม้แต่การสำรวจอวกาศ (Space)

สัมมนา Singularity University ก็จะรวบรวมมันมาไว้ใน 3 วัน

และหนึ่งสิ่งที่มีการพูดถึงมากในปีนี้ ผมก็เรียกมันว่า “ฝาแฝดดิจิตอล (Digital Twin)”

มันหมายความว่าอย่างไรกัน

ลองจินตนาการว่า “โรงงาน” หนึ่งแห่ง จะต้องมีระบบบริหารจัดการมากเพียงใด

เครื่องจักร เครืองมือ นับร้อยตัว

แต่ละตัวก็มีเซ็นเซอร์ (sensor) วัดค่าต่างๆ อยู่อีกหลายสิบ มีความเคลื่อนไหวของเครื่องจักรอยู่ตลอดเวลา

Death groups on Russian social media have created panic. Picture: Natalia Seliverstova/Sputnik (http://www.news.com.au/)

จะเร็ว จะช้า จะมาก จะน้อย

ล้วนมีผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพของโรงงาน

หากแต่ว่าในโลกของความเป็นจริงแล้ว การวัดผลต่างๆ จากเครื่องจักร ยังต้องอาศัยแรงงานคนในการ “เก็บข้อมูล” อยู่บ้าง

ระบบฐานข้อมูลที่อาจจะไม่ “ยืดหยุ่น” พอที่จะให้เอา “ข้อมูล” มาวิเคราะห์พฤติกรรมของเครื่องจักร

ทำให้ใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” ที่มีอยู่อย่างมากมายได้ไม่เต็มที่

บริษัทอย่าง General Electric (GE) ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้าง “บริการ” ด้านนี้ จึงได้ก่อตั้งอีกหน่วยงานขึ้นมามีชื่อว่า GE Digital

และใช้แนวคิดเรื่อง Digital Twin เป็นศูนย์กลาง

โดย GE จะเข้าไปในโรงงานของลูกค้าที่มีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่น คอมเพรสเซอร์ (Compressor)

แล้วนำข้อมูลจาก “เซ็นเซอร์” ทุกตัว ขึ้นไปบน “ระบบ” ของ GE

เบื้องต้น ระบบนี้สามารถ “สร้าง” ภาพเสมือนจริงของโรงงาน หรือที่เรียกว่า “Digital Twin” ได้บนคอมพิวเตอร์

ภาพไม่ได้สื่อถึง “สถานที่” แต่เป็น “สถานะ” ของโรงงาน จากข้อมูลจาก “เซ็นเซอร์”

ทำให้เห็น “การทำงานของเครื่องจักร” แบบ Real-Time ราวกับเห็นเครื่องจักรจริงๆ

เมื่อเห็นแล้ว ก็สามารถนำ “ข้อมูล” กลับไปวิเคราะห์ ผ่าน “ปัญญาประดิษฐ์”

ดูว่า มีตรงไหนที่จะทำให้เครื่องจักรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็นำเสนอให้ผู้ควบคุมงาน แก้ไข

นี่แหละ ฝาแฝดดิจิตอล (Digital Twin) ที่กำลังมาแรงมากในวงการอุตสาหกรรม

คนหนึ่ง เป็น “กายภาพ (Physical)” เป็นเครื่องจักรที่ทำงานจริงๆ ตามเรื่องตามราว จับต้องได้

อีกคนหนึ่ง เป็น “ดิจิตอล” มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และแนะนำผู้ใช้งานว่าควรจะใช้ส่วนกายภาพ (Physical) อย่างไร

เก็บเงินจากลูกค้าเป็น “บริการเสริม” เพิ่มเติมได้

นี่แหละธุรกิจของ GE ในอนาคตอันใกล้ ที่องค์กรแบบไทยๆ ก็คงจะต้องไปซื้อมา “อวด” กัน

ซึ่งส่วนตัวคิดว่า “น่าอาย” มากกว่า ที่ “ข้อมูล” ในโรงงาน ก็เป็นของบริษัททั้งหมด

แต่ต้องไปจ้างให้ “คนอื่น” คิดให้ ไม่คิดจะพัฒนา “ขีดความสามารถ” ของคนในองค์กร

หากแต่ว่า Digital Twin ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ใน “โรงงาน” เท่านั้น

ยกตัวอย่าง “บ้านอัจฉริยะ (Smart Home)” ที่จะสามารถ “ดูแลตัวเอง” ได้อย่างอัตโนมัติ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การบริหารจัดการพลังงาน เปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ แสงไฟ เรื่องของความปลอดภัยในการสอดส่องดูแลรอบๆ บ้าน การล็อกบ้าน เรื่องความสะดวกในการใช้ชีวิต เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ประตูโรงรถ ที่สามารถเปิด-ปิดได้อย่างอัตโนมัติ

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องสร้าง Digital Twin ของ “บ้าน” ขึ้นมา

ติดเซ็นเซอร์รอบบ้าน ซื้อของที่สามารถส่งข้อมูลต่างๆ ของตัวเอง ขึ้นใปใน “ก้อนเมฆ (cloud)”

ทำการวิเคราะห์ ติตตาม ประเมิน และแนะนำ “เจ้าของบ้าน” ในการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น

สร้างบ้านที่มีบิลค่าไฟถูกลง บ้านที่ปลอดภัยมากขึ้น บ้านที่มีความสะดวกสบาย

โรงงานและบ้าน ก็ไม่ใช่แค่สองสิ่งที่สร้าง Digital Twin ได้

ในอนาคตเราต้องได้เห็นแน่ๆ

โรงพยาบาลที่มี Digital Twin ทำงานร่วมกับคุณหมอ พยาบาล และคนไข้

โรงเรียนที่มี Digital Twin ทำงานร่วมกับคุณครูและนักเรียน

เมืองที่มี Digital Twin ทำงานร่วมกับเทศบาล ตำรวจ และประชาชน ในเมืองนั้นๆ

สิ่งเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นได้จาก “เทคโนโลยี” ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์คุณภาพสูง การประมวลผลที่รวดเร็วบนคลาวด์ (Cloud Computing) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่ประมวลผลข้อมูลจำนวนมากอย่างชาญฉลาด แทน “สมองมนุษย์”

บริษัทใดก็ตามที่อยากจะก้าวทันกระแส “โมเดลทางธุรกิจ (Business Model)” ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ซื้อของมา ขายของไป แบบเดิมๆ

แต่เป็นการให้บริการต่างๆ ที่ลูกค้าก็ยังนึกไม่ถึง จากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างสร้างสรรค์

อย่าลืม “ฝาแฝด” คนนี้นะครับ

เขาชื่อ Digital Twin

ใช่ครับ เพื่อนสองคนที่ผมแกล้งมันไม่ได้ มันทั้งคู่เป็นพี่น้อง “ฝาแฝด” ดูแลกันดีมาก สอดรับประสานกัน ราวกับเป็นคนคนเดียว

แฝด “กายภาพ” (Physical) ก็ว่า strong แล้ว

ถ้าเป็นดิจิตอล (Digital) ล่ะ จะขนาดไหน อาจจะเหมือนราวกับภาพยนตร์ Avatar

รุ่นลูกหลานเราคงได้เห็นกันครับ