วิกฤติศตวรรษที่21 : สงครามเศรษฐกิจกับสงครามเย็นใหม่

Chinese investors sit in front of a screen showing stock market movements at a securities firm in Hangzhou, eastern China's Zhejiang province on May 31, 2016. Asian stocks rose on May 31, led by a surge in Shanghai, while the dollar edged higher as traders weighed the fallout from a likely US interest rate rise this summer. / AFP PHOTO / STR / China OUT

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (32)

สงครามเย็นใหม่และสงครามเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย-จีนเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก

เนื่องจากเหตุปัจจัยและสถานการณ์แวดล้อมหลายประการ

ได้แก่

เหตุปัจจัยของสงครามเย็นใหม่และสงครามเศรษฐกิจ

ประกอบด้วย

ก)มีผลประโยชน์ขัดกันโดยพื้นฐาน นั่นคือสหรัฐต้องการรักษาความเป็นใหญ่ในการจัดระเบียบโลกไว้ เพราะแม้เห็นว่าตนจะอ่อนแอลง แต่ก็ยังคงเป็นชาติที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก

ส่วนรัสเซียและจีนนั้นไม่มีวันยอมอยู่ใต้การควบคุมกำกับของสหรัฐ ต้องการความเสมอภาคในความสัมพันธ์ และต้องการเขตอิทธิพลหรือเขตผลประโยชน์พิเศษของตนไม่ให้สหรัฐเข้ามาล่วงล้ำ

นอกจากนี้ ยังได้ขยายอิทธิพลของตนในเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนีย แอฟริกา และละตินอเมริกา

เขตอิทธิพลและเขตผลประโยชน์ของสองฝ่ายจึงทับซ้อนกันมากขึ้น

ข)ที่สำคัญยิ่งคือรัสเซีย-จีนได้ท้าทายต่อความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่นรัสเซีย เนื่องจากสหรัฐเข้ามาก่อ “การปฏิวัติสี” ในจอร์เจียและยูเครน (2003-2005) และแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจรุนแรงในปี 2014 ในกรณีสงครามยูเครน

ส่วนจีนเนื่องจากขนาดเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นจนเป็นรองแต่ของสหรัฐ จำเป็นต้องขยายฐานเศรษฐกิจของตนในด้านต่างๆ และเนื่องจากวิกฤติการเงินสหรัฐปี 2008 การท้าทายความเป็นใหญ่ของดอลลาร์ที่สำคัญ เป็นการปฏิบัติของจีนที่ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อ “แยกตัว” กับดอลดาร์สหรัฐ หลัง วิกฤติ 2008

เช่น ปรับสัดส่วนทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศให้มีความหลากหลายขึ้น

ลดการผูกพันกับดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มทุนสำรองเป็นทองคำ

ระมัดระวังในการซื้อพันธบัตรดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ ทำความตกลงทวิภาคีกับหลายชาติในการโอนเงินในการค้าโดยไม่ต้องผ่านเงินดอลลาร์ และเรียกร้องให้มีการสร้าง “อภิทุนสำรองแห่งชาติ” ที่จัดการโดยไอเอ็มเอฟ แทนเงินดอลลาร์

อนึ่ง มีนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการเงินของจีนชื่อ ซ่ง หง ปิง เคยเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงินในตลาดหลักทรัพย์วอลสตรีต ได้เขียนหนังสือชื่อ “สงครามเงินตรา” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 2007 ต่อมาได้ขยายเป็นชุดออกมาอีกหลายเล่ม หนังสือเขาขายดีติดอันดับในจีนและเขากลายเป็นนักเขียนที่รวยมากคนหนึ่งในจีน)

เขาเสนอว่าวิกฤติการเงินดังกล่าวนั้นแท้จริงเป็นการสมคบคิดระหว่างนักการเมืองและนายธนาคารสหรัฐที่ต้องการ “ทำสงครามเงินตรา” เพื่อ ขัดขวางการเติบโตของจีน

ชี้ว่าที่เรียกว่าธนาคารกลางสหรัฐนั้น ไม่ได้เป็นธนาคารของรัฐบาล หากแต่เป็นธนาคารกลางของธนาคารเอกชนที่ชักใยโดยนายธนาคารตะวันตกไม่กี่คน

กลุ่มนายเงินโลกเหล่านี้เป็น “ผู้ชนะ” ในเหตุการณ์ใหญ่ของโลกหลายครั้งรวมทั้งสงครามโลกสองครั้ง และวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ

เขายังกล่าวว่าแม้การถดถอยใหญ่ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 และวิกฤติการเงินเอเชีย (วิกฤติต้มยำกุ้ง 1997) เป็นผลจากการริเริ่มของกลุ่มนายเงินโลกจำนวนน้อยนี้ หนังสือของเขามีบทบาทกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมทางเศรษฐกิจของจีนเป็นอันมาก (ดูบทความของ Melissa Murphy และ Wen Jin Yuan ชื่อ Is China ready to Challenge the Dollar? ใน csis.org 2009)

เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป จีนได้เพิ่มปริมาณเงินหยวนในตลาดเป็นจำนวนมากเพื่อการลงทุนใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดอยู่ ทำให้จีนกลายเป็นหัวรถจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

จากนั้น จีนได้มีปฏิบัติการต่อเนื่อง ได้แก่ ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (2014) สร้างระบบชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดน (CIPS เปิดใช้ขั้นแรกปลายปี 2015) ซึ่งได้มาตรฐานสากลเทียบเท่ากับระบบบริการทางการเงินของสมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT ก่อตั้งปี 1973 อยู่ในการควบคุมของธนาคารกลางสหรัฐและตะวันตก และเป็นเครื่องมือในการแซงก์ชั่นประเทศตลาดเกิดใหม่)

China’s President Xi Jinping (L) and Russia’s President Vladimir Putin visit an exhibition on China’s cultural heritage prior to the opening of the BRICS Summit in Xiamen on September 3, 2017.
The five BRICS nations hold their annual summit in China under the shadow of a Sino-Indian border spat and growing questions about the grouping’s relevance. / AFP PHOTO / Sputnik / Mikhail KLIMETYEV

ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เงินหยวนของจีนเป็นสากลยิ่งขึ้นในการค้าและการลงทุน ท้ายสุดจีนได้ประกาศอภิมหาโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งถนน” เป็นการเปรียบเทียบว่าจีนพร้อมเป็นผู้นำของกระบวนโลกาภิวัตน์ยิ่งกว่าสหรัฐ ที่คุกคามจะใช้ลัทธิปกป้องการค้า

สำหรับรัสเซียนั้นมีกำลังทางเศรษฐกิจไม่มากเท่า (ขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ลำดับ 12 เมื่อสิ้นปี 2016 ไทยอยู่ที่ 25) ได้เป็นพันธมิตรสำคัญในการท้าทายความเป็นใหญ่ของสหรัฐ

ในส่วนที่ทำได้ของรัสเซีย ได้แก่ การเคลื่อนไหวไม่ซื้อขายน้ำมันและก๊าซในสกุลดอลลาร์ ริเริ่มโครงการวางระบบท่อส่งก๊าซใหม่ไปยังยุโรปเหนือโดยตรง ไม่ต้องผ่านยูเครน ที่สหรัฐควบคุมอยู่ และสร้างระบบชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดนของตนสำเร็จ (มีนาคม 2017 เรียกว่าระบบเพื่อถ่ายโอนข่าวสารทางการเงิน หรือ SPFS) ซึ่งพร้อมใช้งานหากตะวันตกตัดไม่ให้ธนาคารรัสเซียใช้ระบบ “สวิฟต์”

นักวิเคราะห์บางคนเห็นการเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่าเป็นความพยายามของจีนและรัสเซีย ในการสร้างระบบธนาคารทางเลือกขึ้นในโลก ซึ่งจะเป็นการทำลายสถาปัตยกรรมทางการเงินที่สหรัฐครอบงำอยู่ เป็นการ “แยกตัว” ระหว่างตะวันออกกับตะวันตก (ดูบทความของ James Corbett ชื่อ Russia and China Preparing Alternative Banking Architecture ใน theinternationalforcaster.com 16.04.2017)

การท้าทายทางเศรษฐกิจและการพยายามแยกตัวให้พ้นอิทธิทางเศรษฐกิจของสหรัฐนี้เป็นเหตุปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดสงครามเศรษฐกิจ

ประเด็นเรื่องดุลการค้าเป็นเพียงปลายเหตุ เป็นข้ออ้างที่มองเห็นได้ง่ายเท่านั้น

ดังนั้น ไม่ว่าจีนจะพยายามแก้ไขปัญหาดุลการค้าของสหรัฐเพียงใด ก็ย่อมไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจนี้หมดไป อย่างมากเพียงยืดเวลาการปะทะรุนแรงออกไปเท่านั้น

ค)สหรัฐทำสงครามจำกัด ทิ้งระเบิดและตั้งฐานทัพไปทั่วโลก ในที่สุดก็จะหมด “ประเทศชั่วร้าย” ที่จะต้องจัดระเบียบนำมาสู่ความอารยะ และต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซียและจีนจนได้

ซึ่งในขณะนี้เผชิญหน้ากับรัสเซียในกรณียูเครนและซีเรีย

เผชิญหน้ากับจีนกรณีเกาหลีเหนือและไต้หวัน

และจะเผชิญหน้ากันในที่อื่นอีก เช่น ในอัฟกานิสถาน

มีบุคคลระดับสูงของรัสเซีย นายซามีร์ คูบาลอฟ ผู้แทนพิเศษของรัสเซียประจำอัฟกานิสถานออกมา เคลื่อนไหวให้สหรัฐถอนทหารทั้งหมดจากอัฟกานิสถาน โดยอ้างว่าสหรัฐ-นาโต้ ล้มเหลวในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ยาวนาน 17 ปี จนทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็น “แหล่งเพาะลัทธิก่อการร้ายระหว่างประเทศ”

และว่า “เมื่อสหรัฐไม่สามารถทำอะไรได้มากแล้ว ก็ควรออกจากอัฟกานิสถานไป”

นอกจากนี้ รัสเซียยังเห็นว่าสหรัฐควรล้มเลิกความคิดส่งทหารรับจ้างไปรบในที่นั้นด้วย เพราะย่อมไม่สามารถรบชนะพวกทาลิบันที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมได้ การเคลื่อนไหวนี้พอดีสอดคล้องกับกลุ่มทาลิบันที่ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีทรัมป์ ชี้ประเด็นและเรียกร้องคล้ายกัน (ดูบทความของ Tom O”Connor ชื่อ U.S Has Lost the War in Afghanistan and Should Withdraw Troops, Russia and Taliban Say ใน newsweek.com 15.08.2017)

ทางฝ่ายสหรัฐเองก็พยายามเพิ่มจุดเดือดใหม่ โดยการสนับสนุนอินเดียให้ขึ้นมาคานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้

และได้ผลดีเมื่อ นายนเรนทรา โมที ผู้นำพรรคชาวภารตะที่ถือปฏิบัติลัทธิชาตินิยมฮินดูชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อสามปีมาแล้ว ขณะนี้อินเดียและจีนเผชิญหน้ากันบนที่ราบสูงดอกลัม (จีนเรียก ต้งหล่าง) บริเวณชายแดนอินเดีย ภูฏานและจีน

Indian Prime Minister Narendra Modi listens to a speech during the Dialogue of Emerging Market and Developing Countries on the sidelines of the 2017 BRICS Summit in Xiamen, southeastern China’s Fujian Province on September 5, 2017.
Xi opened the annual summit of BRICS leaders that already has been upstaged by North Korea’s latest nuclear weapons provocation. / AFP PHOTO / POOL / Mark Schiefelbein

อยู่ในสถานการณ์ที่ “ไม่มีสงคราม ไม่มีสันติภาพ”

ง)ต่างฝ่ายรู้สึกว่าถอยไม่ได้ รัสเซีย-จีนรู้สึกว่าสหรัฐรุกล้ำมาถึงปากประตูบ้าน ที่ยูเครน คาบสมุทรเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ส่วนสหรัฐรู้สึกว่าถ้าหากตนถอย พันธมิตรในตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และตะวันออกไกลก็จะพากันล้มระเนระนาดเหมือนโดมิโน ความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจและเงินตราของตนจะละลายหาย จักรวรรดิของตนก็ล่มสลาย คล้ายจักรวรรดิโรมันที่ล่มสลายเมื่อเงินตราของตนเสื่อมค่า เงินตราที่เป็นเหรียญเงินมีแร่เงินผสมน้อยลงโดยลำดับ (ดูบทความของ Joseph R. Peden ชื่อ Inflation and the Fall of the Roman Empire ใน mises.org 07.09.2009)

กล่าวอย่างย่อ ยุทธศาสตร์สงครามเศรษฐกิจของสองฝ่าย คือ สหรัฐต้องการปิดล้อมขัดขวางการเติบโตของรัสเซีย-จีนด้วยกลไกและมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะสงครามการเงิน ขณะที่จีน-รัสเซียต้องการสร้างระบบการเงิน การธนาคารทางเลือกขึ้นมาแข่งขัน

สถานการณ์แวดล้อมทำให้สงครามเศรษฐกิจสหรัฐและรัสเซีย-จีนมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น ที่สำคัญได้แก่ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งเห็นได้ชัดหลังวิกฤติการเงินโลก 2008

นักวิชาการบางคนเห็นว่าตกอยู่ในภาวะชะงักงันถาวรซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ

โดยรวมคือเกิดจากความจำกัดของระบบเศรษฐกิจโลกเอง ความจำกัดนี้พื้นฐานคือความจำกัดของทุนการเงิน (รวมนายทุนและผู้ประกอบการ) ความจำกัดของประชากรและแรงงาน (รวมเทคโนโลยี) ความจำกัดของทรัพยาการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

จากความจำกัดพื้นฐานนี้นำมาสู่ความจำกัดทางการเมืองและอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ โดยจะได้กล่าวสรุปเป็นอันดับไปดังนี้

1) ปัญหาการเงินโลกเริ่มแสดงตัวตั้งแต่ในทศวรรษ 1970 เมื่อสหรัฐยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ สามารถออกเงินดอลลาร์ได้อย่างเสรี นำพาให้การเงินโลกเข้าสู่ความเสี่ยงมากขึ้นทุกที เกิดการเงินแบบแชร์ลูกโซ่ แพร่ระบาด เมื่อถึงปี 1997 ที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชีย ก็ได้เห็นพ้องกันว่าสถาปัตยกรรมหรือโครงสร้างการเงินโลกนั้นมีปัญหามากและไม่ยั่งยืน เนื่องจากว่าการสร้างกำไรตามหน้าที่หลักของเงินทุน เกิดขึ้นจากการสร้างหนี้ก้อนที่ใหญ่กว่าและการเก็งกำไร การก่อหนี้ การเงินแบบแชร์ลูกโซ่และการเก็งกำไร เกิดผลกระทบต่อเนื่อง ได้แก่

ก) หนี้ก้อนใหญ่ขึ้น ย่อมชะลอการลงทุนและการบริโภคในที่สุด

ข) เกิดเงินร้อนที่ไหลเวียนไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ก่อให้เกิดการก่อหนี้และการลงทุนเกินตัวจนกลายเป็นวิกฤติใหญ่ได้

ค) การสร้างกำไรในท่ามกลางการขยายตัวของสินเชื่อหรือหนี้สิน ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้กับการเงิน เช่น บรรษัทใหญ่ สถาบันการเงิน มีความได้เปรียบทางข่าวสาร และความเร็ว ตักตวงกำไรได้มาก ทิ้งให้คนส่วนใหญ่ยากจน ขาดกำลังซื้อ ซึ่งนำมาสู่การชะลอตัวของการค้าและการลงทุน

2) ปัญหาประชากรและแรงงาน จากการบีบคั้นทางเศรษฐกิจ-สังคม เช่น การย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมไปประเทศกำลังพัฒนา การมีรายได้ตึงตัวไม่พอรักษามาตรฐานการครองชีพระดับสูง มีส่วนให้อัตราการเกิดของประชากรในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจโลกลดลง

ส่วนอัตราเกิดของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาลดลงภายหลังเมื่อก้าวสู่การเป็นประเทศมีรายได้ปานกลางที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชากรในวัยทำงานลดลง ที่เป็นวัยชราเพิ่มขึ้น ขาดกำลังการผลิตและการบริโภคระดับสูงเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ในส่วนที่เป็นแรงงานก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร เช่น สหภาพแรงงานถูกขัดขวางทำลาย ทั้งมีการใช้การผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาแทนแรงงานมนุษย์ เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น ทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นน้อยกระทั่งลดลง ขาดกำลังซื้อ

3) ความจำกัดของที่ดินทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ได้ขัดขวางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญคือ

ก) ความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเกินความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศโลก เกิดมลพิษ และความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมและเพิ่มต้นทุนการผลิตของสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ อาหารพลังงานแร่ธาตุสูงขึ้น ทิ้งผู้คนที่ยากไร้จำนวนมากให้ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ ก่อความคับแค้นไม่สงบทางสังคม

ข) เกิดความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งบางทีเรียกว่าสงครามชิงทรัพยากรที่ปะทุทั่วโลก เกิดสงครามจำกัดและการก่อการร้ายระหว่างประเทศ

ค) ภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นทุกที

4) ความจำกัดทางการเมืองและอุดมการณ์ คือ

ก) กดดันให้รัฐทั่วโลกรวมทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว กลายเป็นรัฐล้มเหลว

ข) เกิดวิกฤติการนำชนชั้นนำโลกไม่สามารถปกครองได้เหมือนเดิม

ค) อุดมการณ์เกิดวิกฤติ นั่นคือ อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยที่งอกงามจากอุดมการณ์ยุคแสงสว่างทางปัญญาในยุโรป เนื่องจากเกิดการรวมศูนย์ความมั่งคั่งและอำนาจในมือคนกลุ่มน้อยทั่วโลก ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม การสื่อสารกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ การรุกรานกลายเป็นการปลดปล่อย ความละโมบ ความเกลียดชิงชังเพิ่มสูง ไหลเลื่อนไปสู่ยุคมิคสัญญีในที่สุด

ในสถานการณ์ที่ความสมบูรณ์พูนสุขกำลังเหือดหายไป ผู้นำโลกยิ่งเพิ่มมาตรการในการรักษาอำนาจและความมั่งคั่งของตนไว้ ทำสงครามเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อริบความมั่งคั่งและอำนาจของผู้อื่นมาเป็นของตน สงครามนี้ไม่เพียงกระทำระหว่างชนชั้นนำ ที่สำคัญเป็นการกระทำกับชนชั้นล่างด้วย

ฉบับต่อไปกล่าวถึงสงครามสหรัฐ-รัสเซียและจีน และสงครามเงินตรา