เตช บุนนาค : การทูตไทยต้องมี ‘ความเป็นสากล’ มากกว่าที่เป็นอยู่/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

เตช บุนนาค

: การทูตไทยต้องมี ‘ความเป็นสากล’ มากกว่าที่เป็นอยู่

 

“การทูตไทย” เป็นหัวข้อที่ชวนวิเคราะห์วิพากษ์ถกเถียงกันเสมอมา

ยิ่งได้อ่านแนวทางวิเคราะห์จากนักการทูตอาวุโสอย่าง คุณเตช บุนนาค อย่างรอบด้านด้วยแล้วยิ่งได้ทั้งความรู้และความสนุกอย่างเหลือเชื่อ

หนังสือชื่อ “Thai Diplomacy : In conversation with Tej Bunnag” ที่ผมเพิ่งได้อ่านทำให้เข้าใจเสน่ห์, ความสลับซับซ้อนและความน่าฉงนกับความท้าทายของการทูตไทยอย่างพิสดารจริงๆ

หนังสือเล่มนี้ผู้สัมภาษณ์และทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการคือ คุณอนุสนธิ์ ชินวรรโณ อดีตเอกอัครราชทูต และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ หรือ International Studies Center (ISC) ของกระทรวงการต่างประเทศ

ในฐานะที่คุณอนุสนธิ์เป็นอดีตนักการทูต มีความรู้และประสบการณ์มายาวนาน (ตำแหน่งสุดท้ายคือเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม) คำถามและข้อสังเกตในบทสนทนาของทั้งสองท่านจึงทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างดียิ่ง

หนังสือเล่มนี้ (ถึงวันนี้ยังเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น) แบ่งเป็น 6 บทว่าด้วยการทูตไทยในภาพรวม, ไทยกับโลก, ไทยกับอาเซียน, ไทยกับมหาอำนาจ, ไทยกับเพื่อนบ้าน และ “กระบวนการและภาพข้างหน้าของการทูตไทย”

แต่ละบทมีเนื้อหาที่น่าอ่านและศึกษาทั้งสำหรับนักการทูตและคนไทยในทุกสาขาวิชาชีพ

เพราะถ้าได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่คุณเตชเล่าให้ฟังและวิเคราะห์เบื้องหน้าเบื้องหลังของกิจกรรมของกระทรวงการต่างประเทศแล้วก็จะเห็นว่ามีส่วนโยงใยกับทุกภาคส่วนของสังคมไทยจริงๆ

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือความเห็นของคุณเตชเกี่ยวกับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศจากนี้ไป

เราควรจะเล่นบทอะไรและต้องปรับทัศนคติและท่าทีของเราอย่างไรในขณะที่โลกกำลังปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สัมภาษณ์ถามว่าเมื่อมีคนมองว่าประเทศไทยวันนี้เป็นประเทศระดับกลางหรือ “Middle Power” ดังนั้น เราจึงควรจะมีบทบาทในเวทีโลกอย่างไรบ้าง

คุณเตชตอบว่าธนาคารโลกหรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในปารีสได้จัดเราให้เป็น “ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายได้ปานกลางระดับบน” (upper middle income oil importing country)

ถ้าเราตัดประเด็น “การนำเข้าน้ำมัน” ออกไป เราก็จะเป็นประเทศ “รายได้ปานกลางระดับบน”

มีข้อสังเกตว่ามีคำว่า “กลาง” อยู่ด้วย

คำเรียกขานอย่างนี้น่าจะถือว่าค่อนข้างจะใกล้เคียงความเป็นจริง

หากดูจากสถิติของ OECD และธนาคารโลกกับ IMF จะเห็นว่าตัวเลข GDP ของไทยเราอยู่ระหว่างลำดับที่ 19 หรือ 20 จากทั้งโลกเกือบ 200 ประเทศ

ในแง่เศรษฐกิจ, เราก็ถูกวางไว้ที่ใกล้ๆ กับ 20 อันดับต้นของโลก ขึ้นๆ ลงๆ เล็กน้อยปีต่อปี

ในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง เราก็ควรจะเป็นประเทศ “อำนาจกลางระดับบน” และไม่ใช่ “อำนาจที่มีผลประโยชน์จำกัด” เช่นที่เราถูกกำหนดให้เป็นในการประชุมใหญ่ที่แวร์ซายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

“แต่เรากลับไม่ปฏิบัติตนให้ทัดเทียมกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของเรา” คุณเตชบอก

หรือจะว่าไปแล้ว เราก็ “ต่ำกว่ารุ่น” ทั้งๆ ที่เราควรจะชกในรุ่นที่มีน้ำหนักมากกว่านี้

แต่การชกต่ำกว่ารุ่นก็สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ทางการทูตของเรา

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเรามักจะชอบเอาตัวเอง “ห่างจากจอเรดาร์”

นั่นคือเรามักเลือกที่จะไม่ทำตัวให้เป็นจุดสนใจเพื่อว่าเราจะได้ไม่ตกอยู่ในภยันตราย

 

คุณเตชบอกว่า “แต่ผมคิดว่าเราเจียมเนื้อเจียมตัวเกินไป เพราะมันไม่ได้สะท้อนถึงฐานะที่แท้จริงของเราในเวทีระหว่างประเทศ”

ในทางกลับกัน ก็มีบางประเทศที่ชกข้ามรุ่น เช่น ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมักจะมีเสียงดังกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาเพราะพวกเขาเป็น “พลเมืองดี” ของโลก

ณ ปี 2021 (ขณะที่พูดอยู่นั้น) “ผมไม่คิดว่าการทูตไทยสอดคล้องกับความแข็งแกร่งที่แท้จริงของเรา”

คุณเตชบอกว่าท่านเองได้สนับสนุนให้คนไทยมีบทบาทมากขึ้นในองค์กรระหว่างประเทศ

แม้ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ไทยมากพอที่สำนักเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา

“ผมปลื้มใจมากทุกครั้งเจ้าหน้าที่ไทยทำงานได้ดีที่สำนักเลขาธิการอาเซียน”

นอกจากสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว คุณเตชเห็นว่าควรจะมีคนไทยมากขึ้นในหน่วยงานของสหประชาชาติและหน่วยงานเฉพาะทางอื่นๆ

บางทีมันอาจจะเกี่ยวข้องกับชาติภูมิของคนไทย

คนไทยมักชอบที่จะอยู่กับบ้านแทนที่จะไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรนานาชาติ

 

คุณเตชบอกว่า ตอนที่ท่านเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส กระทรวงถามเคยถามว่าสนใจจะสมัครแข่งขันตำแหน่งสูงสุดของ UNESCO ไหม

“ผมปฏิเสธ ผมไม่มีความประสงค์จะเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรระหว่างประเทศ”

ท่านยอมรับว่านั่นเป็นท่าทีทางลบที่ไม่ถูกต้อง

“ผมทราบว่าท่านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำปารีสขณะนั้นจะลงแข่งขันชิงตำแหน่งนี้ ผมไม่เพียงแต่รู้ว่าท่านมีความสามารถมากกว่าผม อาวุโสกว่าผมเท่านั้น แต่ผมยังรู้ด้วยว่ารัฐบาลของท่านสนับสนุนท่านอย่างเต็มที่ พร้อมด้วยทรัพยากรทั้งสิ้นทั้งปวงในฐานะเป็นประเทศที่บริจาคเงินช่วยเหลือให้กับ UNESCO ผมเชื่อว่ายังไงๆ ท่านก็ชนะแน่…”

อย่างไรก็ตาม คุณเตชก็ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องของทัศนคติ และทัศนคติของคุณเตชตอนนั้นไม่ถูกต้อง

“ผมควรจะลงสมัครแข่งขันกับเขา และนำเสนอความเห็นและวิสัยทัศน์ของเราต่อ UNESCO ให้โลกได้รับทราบ…แต่ก็มีประเด็นว่า : ณ ขณะนั้น จุดยืนและวิสัยทัศน์ของประเทศไทยต่อ UNESCO คืออะไร? ถ้าผมลงแข่งขัน ท้ายสุดผมก็คงจะมีจุดยืนและวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้…”

ประเด็นที่คุณเตชต้องการเน้นก็คือประเทศไทยยังไม่มีกรอบความคิดแบบสากลเพียงพอ

 

คุณเตชใช้คำว่า international outlook ซึ่งอาจแปลว่า “วิธีคิด” หรือ “มุมมอง” หรือ “จุดยืน”

อีกนัยหนึ่งคุณเตชมองว่าไทยเรามีแนวโน้มที่จะ “มองเข้าหาตัวเอง” (inward-looking) หรือ “คำนึงแต่เรื่องของเราเอง” (concerned with just ourselves)

ทั้งๆ ที่สถานภาพทางเศรษฐกิจของเราเรียกร้องให้เราต้องทำมากกว่านั้นมาก

คุณเตชเชื่อว่าประเทศไทยควรจะต้อง “เป็นสากล” หรือ internationalist มากกว่านี้ แต่วันนี้ไทยยังไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้น

ตอนที่เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คุณเตชเล่าว่าเป็นจังหวะที่จะมีการเลือกตั้งตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติพอดี

หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของเราเสนอระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนที่ Kota Kinabalu มาเลเซียว่า ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้นควรจะลงแข่งชิงตำแหน่งนี้

พอกลับมาถึงเมืองไทย ดร.สุรเกียรติ์ถามคุณเตชว่าจะเอายังไงดี

คุณเตชตอบเป็นภาษาอังกฤษว่า “go for it” (ลุยเลย!)

ดร.สุรเกียรติ์ถามกลับว่าทำไมหรือ

คุณเตชบอกว่า แม้ว่าจะแพ้แต่ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักระดับโลกระหว่างการรณรงค์หาผู้สนับสนุน

และจะเป็นสิ่งที่ดีมากที่จะให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลก (higher profile)

หลังจากนั้น ดร.สุรเกียรติ์ก็ไปคุยกับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

ท่านบอกว่านายกฯ ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน

ท้ายที่สุดแม้ว่าผู้สมัครจากเกาหลีใต้จะชนะการแข่งขัน แต่ประเด็นของคุณเตชก็คือประเทศไทยต้องส่งเสริมให้คนไทยพยายามมีตำแหน่งหน้าที่งานการในองค์กรระหว่างประเทศ

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือคุณเตชต้องการตอกย้ำว่าประเทศไทยและคนไทยจะต้องสร้างทัศนคติที่มีกว้างขึ้นในระดับสากล

(สัปดาห์หน้า : ไทยต้องทำตัวอย่างไรกับมหาอำนาจที่แข่งขันกันอยู่)