เหตุเกิดที่ ‘อังกฤษ-บราซิล’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Photo: Geoff Caddick / AFP

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

เหตุเกิดที่ ‘อังกฤษ-บราซิล’

 

ปรากฏการณ์พายุถล่มเกาะอังกฤษถึง 3 ลูกในช่วงเพียงสัปดาห์เดียว สร้างความเสียหายอย่างหนัก เฉพาะพายุชื่อ “ยูนิซ” มีกระแสลมแรงจัด 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แรงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนที่บราซิล ฝนตกหนักน้ำท่วมโคลนถล่มบ้านเรือนพังยับเยิน ผู้คนเสียชีวิตคาซากปรักหักพังกว่า 110 คน น้ำฝนที่ตก 3 ชั่วโมงมีปริมาณมากกว่าตกทั้งเดือน

ก่อนจะเกิดพายุยูนิซ กรมอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษได้ออกคำเตือนให้เตรียมตัวรับมือพายุ “ดัดเล่ย์” มีความแรงลมราว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เก็บมัดสิ่งของที่อยู่นอกบ้านให้แน่นหนา ระหว่างพายุพัดผ่านให้อยู่แต่ในบ้านเท่านั้น เนื่องจากกระแสลมแรงจัดจะดึงกระชากต้นไม้ให้ล้มทับบ้านเรือน รถยนต์ หรือหอบเอาวัตถุซัดปลิวใส่ผู้คน

พายุดัดเล่ย์ หอบเอาฝนและลมถล่มพื้นที่ทางตอนเหนือของอังกฤษ ตามด้วยหิมะตกหนัก อีก 2 วันต่อมาพายุยูนิซ ซึ่งมีกระแสลมแรงกว่าพัดเข้าสู่เกาะอังกฤษข้ามไปถึงยุโรปตะวันตก

กรมอุตุฯ อังกฤษออกคำเตือนระดับสูงสุดเป็นสัญลักษณ์สีแดงกับพายุยูนิซซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต โรงเรียนถูกสั่งปิด สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน รถไฟหยุดแล่น

ระหว่าง “ยูนิซ” ถล่ม มีหญิงชาวอังกฤษวัย 30 เสียชีวิตเพราะต้นไม้ล้มทับระหว่างนั่งอยู่ในรถ ชายวัย 50 ตายระหว่างขับรถเนื่องจากมีเศษวัตถุปลิวใส่กระจกหน้ารถ นอกจากนี้ยังมีอีก 3 คนเจอต้นไม้ล้มทับเสียชีวิต ส่วนที่เนเธอร์แลนด์และเบลเยียม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุพายุฝนเช่นกัน

 

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า พายุยูนิซที่มีกระแสลมแรงจัดนั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก กระแสลมหนาวแผ่ปกคลุมมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือปะทะกับอากาศอุ่นกว่า

หลังพายุยูนิซพัดผ่านไปเพียง 2 วัน อังกฤษก็เจอกับพายุแฟรงกลิน พายุ “กลาดิส” อีกลูกรอจ่อคิว

ไปดูเหตุที่เกิดในอีกซีกโลก ที่ประเทศบราซิล เกิดฝนตกหนักถล่มเมืองเปโตรโปลิส ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งอยู่บนภูเขาทางตอนเหนือของนครรีโอเดจาเนโร

ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ถึง 10 นิ้ว ในช่วงเวลาเพียง 3 ชั่วโมง ชะเอาดินโคลนไหลทะลักท่วมบ้านเรือนที่ปลูกริมภูเขา กระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากกวาดกระชากสิ่งของ รถเก๋ง รถบัส เฟอร์นิเจอร์ลงไปสู่พื้นดินเบื้องล่าง

เจ้าของร้านชำที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้สื่อฟังว่า กระแสน้ำไหลแรงมาก กวาดเอาบ้านหายไปกับสายน้ำทั้งหลัง ชีวิตที่อยู่กันยากลำบากเจอทั้งโรคระบาด ของก็ขายไม่ค่อยดี มาเจอวิกฤตดินโคลนถล่มซ้ำอีก สุดเศร้าจริง

ทางการบราซิลแถลงว่ามีผู้เสียชีวิตราว 117 คน และคาดว่าอีกนับร้อยคนถูกดินโคลนฝังทับร่างยังค้นหาไม่เจอ

ก่อนหน้านี้บราซิลเจอฝนตกหนักมาตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้เกิดน้ำท่วมในเมืองต่างๆ รวมถึงเมืองเซาเปาโลมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน

ผู้ว่าฯ เมืองเปโตรโปลิส บอกว่าสภาพที่ขึ้นในจุดเกิดเหตุนั้น เปรียบเหมือนเขตสงคราม เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2475 ดินโคลนถมทับทุกสิ่งทุกอย่าง หน่วยกู้ภัยนับร้อยคนพากันกวาดน้ำโคลนรื้อคุ้ยหาผู้ที่ฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังด้วยความยากลำบาก

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ปกติแล้วช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม พื้นที่เปโตรโปลิสมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วมาถึงกุมภาพันธ์ มีฝนตกหนักมากเนื่องเพราะปรากฏการณ์ลานีญาและภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นปะทะกับกระแสน้ำเย็นปริมาณน้ำฝนจึงมีมากกว่าปกติ

สำหรับเมืองเปโตรโปลิสหรืออิมพีเรียลซิตี้เป็นเมืองน่าอยู่ มีภูเขาล้อมรอบ อากาศค่อนข้างดี สมัยยังเป็นจักรวรรดินิยม จักรพรรดิเปโดร ที่ 2 สร้างพระราชวังฤดูร้อนที่เมืองนี้ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์อิมพีเรียล

เปโตรโปลิสเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ ช่วงฤดูร้อนคนบราซิลแห่มาพักกันที่นี่ เพราะอากาศเย็นสบายเฉลี่ยราว 23 องศาเซลเซียส รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นกอบเป็นกำทำให้ชาวบราซิลต่างถิ่นโยกย้ายอพยพมาทำงานเกิดสลัมผุดโผล่ไปทั่วเมือง ภาครัฐขาดการเหลียวแลเอาใจใส่

จำนวนประชากรในเมืองเปโตรโปลิสเพิ่มมากถึง 3 แสนคน คนที่มาใหม่ส่วนใหญ่มาหางานทำซุกอยู่ในสลัมแออัดปลูกกันริมภูเขา การสร้างบ้านเรือนไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานความเสี่ยงจากภัยพิบัติน้ำท่วมดินถล่ม ขณะที่บนภูเขาสูงมีการตัดไม้ทำลายป่า

เมื่อเดือนมกราคม 2554 พายุถล่มเมืองเปโตรโปลิสอย่างหนักหน่วง มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่มกว่า 900 คน ให้หลังไม่นานผู้คนก็ลืมเหตุการณ์ กลับมาใช้ชีวิตปกติ

ต่อมาผู้บริหารเมืองหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนป้องกันวิกฤตภัย มีการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำท่วม เมื่อระดับน้ำขึ้นสูง เสียงสัญญาณไซเรนจะดังขึ้น รวมถึงกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย เสนอให้ชาวบ้านย้ายออกจากจุดเสี่ยงไปอยู่พื้นที่ใหม่ซึ่งมีอยู่ราว 20,000 หลังคาเรือน แต่มีเพียง 7,000 ครัวเรือนเท่านั้นที่ย้ายออกไป ที่เหลือต้องการอยู่ที่เดิมเพราะทำมาหากินได้สะดวกกว่าที่ใหม่

ในวันที่พายุฝนถล่มเมืองเปโตรโปลิส ผู้คนในเขตเสี่ยงภัยพิบัติได้ยินเสียงไซเรนเตือน แต่ไม่ได้รับแจ้งให้อพยพออกจากพื้นที่ก่อนภัยร้ายจะมาถึง นั่นเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

“บราซิล” วันนี้นอกจากพายุฝน น้ำท่วมดินโคลนถล่มแล้ว ยังเจอกับวิกฤตภัยแล้งอย่างต่อเนื่องรุนแรงในรอบ 90 ปี น้ำในอ่างเก็บน้ำแห้งขอด ต้องแบ่งช่วงเวลาผลิตกระแสไฟฟ้า

บ้านเรา มีเหตุการณ์โคลนถล่มคล้ายๆ กับบราซิลมาหลายครั้ง ครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2531 ที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน สาเหตุมาจากพายุดีเปรสชั่นพัดกระหน่ำฝนตกต่อเนื่อง 4 วันติดๆ ปริมาณน้ำสะสมเหนือยอดเขาไหลกระชากเอาซุงที่นายทุนตัดโค่นทำลายบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่ด้านล่างพังยับเยิน

วิกฤตภัยจากภาวะโลกร้อนผนวกกับการไม่วางผังเมืองให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ การทำลายผืนป่า นำมาซึ่งความพินาศความสูญเสียที่ไม่อาจหวนเรียกกลับคืนมาได้