ตื่นเต้น ตื่นเต้น และตื่นเต้น ‘ตึกเก่า’ พระนคร | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ผู้ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผมคงเคยได้ยินชื่อย่านในพระนครของเราแล้วนะครับว่า หลายตำบลที่มีชื่อเสียงที่บ่งบอกว่าย่านนั้นเป็นแหล่งค้าขายสินค้าอย่างไรมาก่อนในอดีต

เช่น บ้านบาตร จะขายอะไรอื่นใดไปได้นอกจากบาตรพระ

ส่วนบ้านพานถมก็มีฝีมือเลื่องลือในเรื่องของทำพานสำหรับใช้สอยด้วยวิธีการที่เรียกว่าเครื่องถม

วิถีชีวิตอย่างนี้ย้อนหลังกลับไปสมัยอยุธยาก็มีเหมือนกันครับ ป่าพร้าวครั้งกระโน้นก็ขายมะพร้าวนานาชนิด ส่วนป่าผ้าเหลืองก็ขายไตรจีวรและเครื่องสังฆภัณฑ์ทั้งหลาย เป็นต้น

ย่านขายสินค้าเครื่องสังฆภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ของเราก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าป่าผ้าเหลืองอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา หากเรียกขานตามชื่อตำบลที่มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ คือเสาชิงช้า อันเป็นตำแหน่งใกล้เคียงกับความเป็นใจกลางพระนครในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ทุกวันนี้ถ้าบอกว่าไปซื้อของแถวเสาชิงช้า ก็ให้เดาไว้ได้เลยว่าไปซื้อเครื่องสังฆภัณฑ์ หรือมิฉะนั้นก็บรรดาเครื่องหมายยศของข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆ

ร้านค้าที่ขายของสองประเภทนี้เรียงรายอยู่ต่อเนื่องกันจนเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดและเป็นความสะดวกของผู้ซื้อเป็นอย่างยิ่งที่สามารถเปรียบเทียบทั้งราคาและคุณภาพของสินค้าได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล

เรียกว่าไปแถวนั้นก็ฉายหนังม้วนเดียวจบได้เลย

 

ความทุกข์อย่างหนึ่งของคนที่ไปซื้อของแถวเสาชิงช้าคือเรื่องของที่จอดรถ เพราะด้วยความที่เป็นย่านเมืองเก่า ถนนหนทางจึงค่อนข้างคับแคบ ไม่มีที่จอดรถเพียงพอสำหรับให้บริการลูกค้า

ผมเองมีความลับส่วนตัวที่ไม่เปิดเผยกับใครมาช้านานแล้วว่า ผมไปแอบรู้มาว่ามีเวิ้งแห่งหนึ่งสำหรับจอดรถได้หลายคันซุกซ่อนอยู่หลังตึกแถวในย่านนั้น

ถ้ามาตามถนนจากแยกสี่กั๊กพระยาศรีมุ่งหน้าไปวัดสุทัศน์ มาได้นิดเดียวครับ จะมีซอกระหว่างตึกแถวอยู่ซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าไปจอดรถตรงนั้นได้เลย แต่ต้องเสียค่าบำรุงตามอัตราที่กำหนดนะครับ

ทุกครั้งที่ผมเข้าไปจอดรถในลานจอดรถที่ว่านี้ ความสนใจเป็นพิเศษก็จะไปหยุดอยู่ตรงอาคารซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของลานจอดรถ เห็นได้ถนัดตาทีเดียวว่าเป็นอาคารโบร่ำโบราณสูงสองชั้น เคยไปสืบความมาได้ว่าอาคารแห่งนี้คือโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ซึ่งผู้เป็นแฟนหนังสือเก่าหนังสือหายากแบบผมเคยได้ยินชื่อโรงพิมพ์นี้มาช้านานแล้ว

เมื่อมาเจอต้นตอโรงพิมพ์เก่าแก่อย่างนี้ก็ตื่นเต้นสิครับ แต่น่าเสียดายที่เป็นอาคารปิดตาย จึงได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในหัวใจตลอดมา ไม่ได้รู้เสียทีว่าข้างในเป็นอย่างไรบ้าง

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาความสงสัยของผมได้รับคำตอบแล้วครับ

เรื่องคือว่ามีหลายหน่วยงาน เป็นต้นว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สำนักงานเขตพระนครและพิพิธบางลำภู เขาร่วมมือกันจัดกิจกรรมขึ้นในอาคารเก่าหรืออาคารร้างหลายแห่งในพื้นที่ใกล้เคียงกันที่อยู่ตอนในพระนคร

กิจกรรมนั้นมีความหลากหลายและยั่วยวนใจให้คนขวนขวายเข้าไปชมเป็นอันมาก

ผมเป็นคนใจง่ายอยู่แล้ว ทำไมจะไม่หลงไปเดินเที่ยวงานนี้ตามคำโฆษณาของเขาล่ะครับ

ไปแล้วก็รู้สึกดีใจที่หลงเชื่อคำโฆษณา เพราะงานเขาดีจริงจึงต้องนำมาบอกเล่าไว้ในที่นี้

เราเล่ากันถึงเรื่องงานที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจแห่งเดียวเห็นจะพอนะครับ

โรงพิมพ์ที่ว่านี้เป็นโรงพิมพ์ที่รับจ้างพิมพ์งานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า

อาคารเป็นตึกสองชั้นที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างที่ถือว่าทันสมัยมากแล้วในครั้งนั้น เช่น ใช้คานเหล็กรับน้ำหนักชั้นสอง แทนที่จะเป็นคานไม้แบบโบราณของเรา

ด้านนอกมีการประดับประดาลวดลายทั้งที่ตัวอาคารและกรอบประตูหน้าต่างด้วยศิลปกรรมตะวันตก

แต่แน่นอนครับว่าภายหลังมีโรงพิมพ์เกิดขึ้นอีกหลายแห่ง กิจการของโรงพิมพ์แห่งนี้จึงซบเซาและเลิกกิจการไปในที่สุด

ในอนาคตอันใกล้ เจ้าของปัจจุบันคิดจะปรับปรุงอาคารตามแนวทางการปรับปรุงอาคารที่เป็นโบราณสถานในนานาประเทศ คือรักษารูปทรงด้านนอกไว้โดยครบถ้วน แต่เสริมความมั่นคงแข็งแรงและปรับปรุงประโยชน์ใช้สอยข้างในให้สามารถตอบโจทย์หรือความต้องการของคนทุกวันนี้ได้

จะย้อนกลับไปเป็นโรงพิมพ์อย่างเดิมเห็นจะไม่ไหวแน่ครับ

แนวทางอย่างนี้ผมเคยไปเห็นมาแล้วในหลายประเทศ ที่จำได้แน่คือสำนักงานไปรษณีย์กลางของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ภายนอกเขายังรักษารูปร่างหน้าตาไว้เหมือนเดิม แต่ข้างในเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยเป็นร้านค้าร้านอาหารที่มีชีวิตชีวา และยังมีมุมหนึ่งเป็นที่ทำการไปรษณีย์เล็กๆ เพื่อรักษาประวัติของอาคารไว้ด้วย

แต่ก่อนที่การก่อสร้างปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์ระยะยาวจะได้ลงมือทำกันจริงหลังจากที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศิลปากรและกรุงเทพมหานคร ระหว่างนี้จะปล่อยอาคารไว้ว่างทำไมเล่า

ก็นำมาใช้ประโยชน์จัดกิจกรรมอย่างที่ว่ามาข้างต้นนั้นไงครับ

สุดสัปดาห์ที่ผมไปเดินชมนั้น ครึ่งหนึ่งของอาคารชั้นล่างเป็นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน โดยในวันที่ผมไปดูนั้น จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับบ้าน เช่น โคมไฟ เก้าอี้ และเครื่องแขวนประดับอาคาร ทรวดทรงอธิบายไม่ถูกล่ะครับว่าเป็นอย่างไร

รู้แต่ว่าข้าวของแต่ละอย่างไอเดียบรรเจิดทั้งสิ้น หลายชิ้นเห็นแล้วเกิดความกระเหี้ยนกระหือรือ อยากซื้อมากกกกกก

เสียแต่เขาไม่ขายเท่านั้น เราก็ชมเป็นบุญตานะครับ

นิทรรศการเครื่องแต่งบ้านเหล่านี้ กว่าที่ทุกท่านจะได้อ่านบทความที่ผมเขียนนี้เขาเลิกจัดแสดงแล้วครับ ต้องรอตีฆ้องร้องป่าวกันว่านิทรรศการหมุนเวียนรอบต่อไปจะเป็นอะไร ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะต้องร้องว้าวไม่แพ้กัน

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของอาคารเขาทำเป็นร้านกาแฟ มีทั้งขนมและอาหารขายให้กินกรุบกริบด้วย ร้านกาแฟที่ว่านี้จะเปิดขายไปอย่างน้อยจนถึงวันที่ 30 กันยายน

หรืออาจจะขยายเวลามากกว่านั้นอีกนิดหน่อยสุดแต่แผนการซ่อมตึกจะได้ลงมือทำจริงครับ

ในวันที่ผมไปเดินเที่ยวนั้น มุมหนึ่งของร้านกาแฟจัดแสดงหนังสือที่พิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจในครั้งกระโน้นให้คนบ้าหนังสืออย่างผมได้พินิจพิจารณา

ยกตัวอย่างเพียงเล่มเดียวคือหนังสือพระธรรมเทศนาที่พิมพ์ขึ้นในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีพุทธศักราช 2453

แค่นี้ก็ตื่นเต้น ตื่นเต้น และตื่นเต้นครับ

ตกค่ำวันนั้น พอเวลาเข้าไต้เข้าไฟดีแล้ว พวกเราทั้งหลายที่ยืนอยู่ที่ร้านจอดรถหน้าอาคารก็ได้ปลาบปลื้มดื่มด่ำกับการแสดงแสงและเสียง โดยมีตัวอาคารนั้นเองเป็นพระเอกของเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ความยาวนิดเดียวครับ ประมาณ 5 นาที แต่เป็น 5 นาทีที่ดื่มด่ำจับใจเป็นที่สุด

เพราะเทคนิคของแสงสีนานาพรรณที่สาดส่อง วิ่งเล่น หยอกล้อและชุบชีวิตอาคาร โดยสอดคล้องกับเสียงเพลงบรรเลงไพเราะที่ไม่มีคำพูดคำร้องแม้เพียงสักคำเดียว ทรงพลานุภาพมากพอที่จะทำให้ผู้ชมทั้งหลายหยุดยืนนิ่งอยู่กับที่ พร้อมกับปล่อยให้ความคิดล่องลอยไปตามจินตนาการของแต่ละคน เมื่อได้เห็นอาคารเก่าอายุร้อยกว่าปีมีลมหายใจฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งอยู่ตรงหน้า

ค่ำวันนั้นกลับมาถึงบ้านแล้วก็นึกอยู่ในใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้เห็นในค่ำวันนี้ เป็นฝีมือของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่เขาเห็นคุณค่าในของเก่า ไม่ทิ้งขว้างหรือทำลายลงโดยสิ้นเชิง แต่ขณะเดียวกันก็ปรับของเก่านั้นมาเป็นประโยชน์กับชีวิตในปัจจุบันและอนาคต

เอ๊ะ! ลูกหลานกำลังส่งสัญญาณบอกอะไรเราใช่ไหมครับ

ว่าแต่เราได้ยินหรือไม่หนอ