ปฏิรูปการเมืองไทย นิทานหลอกเด็กรายสามเดือน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ปฏิรูปการเมืองไทย

นิทานหลอกเด็กรายสามเดือน

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีความแปลก แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าทุกฉบับคือ มีหมวดที่ 16 การปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่มาตรา 257 ถึงมาตรา 261 ที่กล่าวถึงบทบาทของรัฐในการดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ที่ดูเหมือนให้ความหวังว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ประเทศไทยจะก้าวเข้ารู้การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เป็นที่ก้าวหน้าชื่นชมของคนในประเทศ

การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ชุดแล้วชุดเล่า นับแต่การแต่งตั้ง 11 คณะชุดแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2560 หลังจากนั้นมีการยกเลิกทั้งหมดและตั้งคณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านต่างๆ ชุดใหม่ จำนวน 13 คณะ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2563 รายงานคืบหน้าในการทำงานด้านปฏิรูปด้านต่างๆ ได้ถูกนำเสนอต่อรัฐสภาทุกสามเดือน ตามเงื่อนไขที่ระบุในมาตรา 270 ที่ให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน

รายงานที่สร้างภาระต่อหน่วยราชการในการจัดทำ ผ่านการรวบรวมกลั่นกรองและนำเสนอเป็นวาระเพื่อทราบในคณะรัฐมนตรี ก่อนส่งต่อมายังรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน หรือพอครบปีก็จัดทำเป็นรูปเล่มรายงานดูสวยงาม แท้จริงแล้วเป็นความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

หรือจะเป็นเพียงนิทานหลอกเด็กทุกสามเดือน

 

ประเด็นของการปฏิรูปด้านการเมือง

จากรายงานสรุปผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ที่เป็นฉบับแรกซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะ ได้ระบุถึงประเด็นการปฏิรูปทางการเมืองที่สำคัญ 5 ประเด็น คือ

1) การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2) กลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย

3) การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม

4) การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ

และ 5) การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย

ผลการประเมินความสำเร็จของ 5 ด้านดังกล่าว ที่ปรากฏทั้งในรายงานของปี 2562 และ 2563 มีผลการประเมินอยู่ในระดับที่น่าพอใจเพียงข้อแรกประเด็นเดียว โดยระบุว่าอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผน

และสอบตกในประเด็นที่สองในประเด็นการการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคม โดยถือว่ายังไม่มีการดำเนินการใดอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนอีก 3 ประเด็นที่เหลือนั้นอยู่ในระดับเสี่ยงที่อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้

ขนาดประเมินเอง ยังขนาดนี้ แต่หากเป็นการประเมินโดยหน่วยงานภายนอกที่เป็นกลางตรงไปตรงมา จะเป็นอย่างไรไม่อาจคาดผลได้

 

การเปลี่ยนแปลงประเด็นการปฏิรูปการเมือง

ความล่าช้า ไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่มีความคืบหน้าในการปฏิรูปทางการเมืองรวมถึงการปฏิรูปในเรื่องอื่นๆ อาจเป็นสาเหตุให้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ขึ้นมาใหม่จำนวน 13 ชุด และรื้อประเด็นการปฏิรูปของด้านต่างๆ เสียใหม่ โดยเลือกเอาประเด็นเรื่องที่มีผลการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง สามารถสร้างผลสะเทือนต่อสังคม (Big rock)

หรือพูดง่ายๆ ว่า จากที่เคยวาดภาพการเปลี่ยนแปลงมากมาย เป็นภาพใหญ่ที่ดูสวยงาม วันนี้ผ่านไปครึ่งทาง ดูท่าว่าจะวาดไม่เสร็จ ก็หยิบเอาแค่บางเรื่องที่สำคัญมานำเสนอเท่านั้น โดยเรียกสิ่งนั้นว่า “ก้อนหินก้อนใหญ่”

จาก 5 ประเด็นปฏิรูปด้านการเมืองเดิม ที่มีโครงการที่ต้องทำให้สำเร็จตามแผน 18 กิจกรรม จึงถูกยุบเหลือเพียง 5 กิจกรรม คือ

1) การส่งเสริมความรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะทุกระดับ

3) การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ

4) การส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง

และ 5) การปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป

ผลของรายงานของปี 2564 แจงว่า กิจกรรมที่ 1, 2 และ 5 นั้นถือว่ามีความคืบหน้าเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยกิจกรรมที่ 3 คือ การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ และกิจกรรมที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมืองยังอยู่ในสถานะที่ยังไม่น่าพึงพอใจนัก

 

รายงานทุก 3 เดือน เป็นเรื่องหลอกเด็ก?

จากมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องจัดทำรายงานเสนอรัฐสภาเพื่อทราบทุก 3 เดือน โดยในปี พ.ศ.2564 นี้ ได้มีการจัดทำรายงานไปแล้ว 3 ฉบับ คือ ไตรมาสที่ 1-3 ส่วนฉบับสุดท้าย ตุลาคม-ธันวาคม 2564 ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน

ความฉาบฉวยของรายงานดังกล่าวคือ การสรุปถึงความคืบหน้าของกิจกรรมที่ทำ หากอยู่ระหว่างดำเนินการ ก็สรุปว่าเป็นไปตามแผน หากยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ก็สรุปว่า ล่าช้ากว่าแผน

โดยในรายงานผลการดำเนินงานของเดือน มิถุนายน-กันยายน 2564 ที่เป็นรายงานไตรมาสล่าสุดที่เผยแพร่ ระบุว่า กิจกรรมการปฏิรูปส่วนใหญ่เป็นไปตามแผน

มีล่าช้ากว่าแผนในกิจกรรมที่ 3 การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ 2 เรื่อง คือ

1) โครงการสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ระยะที่ 1

และ 2) โครงการจัดทำชุดความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ระยะที่ 1 โดยแจ้งว่า ขาดงบประมาณในการดำเนินการ

ส่วนในกิจกรรมที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง มีการล่าช้ากว่าแผน 6 เรื่อง คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นนักการเมืองคุณภาพ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งระดับชาติ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองและการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคการเมือง การมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและพรรคการเมือง และการเร่งรัดให้เกิดการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคการเมือง โดยแจ้งเหตุขัดข้องจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19

เนื้อในของการดำเนินงานในแต่ละเรื่องต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่ตีความ แปลความว่า จัดอบรมเสร็จหนึ่งครั้ง สร้างหลักสูตรอบรมประชาชนเสร็จ 1 หลักสูตร หรือพิมพ์เอกสารเสร็จ 1 เล่ม ก็แปลความว่าประสบความสำเร็จในการปฏิรูปด้านการเมืองแล้ว

รายงานทุก 3 เดือนที่ทำกันแทบเป็นแทบตาย ต้องผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามต่อเป็นลูกระนาด ก็จะกลายเป็นรายงานที่ไร้สาระ ถูกข้าราชการหลอกว่ามีความคืบหน้า ส่วน ครม.และรัฐสภา ก็หลอกตัวเองว่าประสบความสำเร็จน่าชื่นชม

สิ่งที่คณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทในการกำกับดูแลความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศควรใส่ใจ จึงควรพิจารณาจากเนื้อหาสาระ ว่า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ระบุในแผนและเป็น Big rock นั้น แท้จริงคือสาระที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปด้านการเมือง หรือเป็นเพียงการบรรจุโครงการ กิจกรรม ที่ส่วนราชการเสนอมา หยิบเอาแต่เรื่องง่ายๆ หรือสิ่งที่เป็นงานประจำมาใส่ในแผนปฏิรูปให้เต็มเล่ม แล้วบอกว่า ทำแล้ว เป็นการปฏิรูปแล้ว

ทุก 3 เดือนก็มารายงานว่า ทำอะไรที่เป็นงานประจำไปบ้างแค่นั้น

เด็ก (ส่วนราชการ) หลอกมา ผู้ใหญ่ (คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา) ก็ทำทีหลอกประชาชนต่อว่า ใช่แล้ว ปฏิรูปแล้ว

ทุก 3 เดือน จึงมีเรื่องหลอกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้อ่านมาตลอด