เหรียญรุ่นแรก-รุ่นสอง หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง พระเกจิชื่อดังอัมพวา / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญรุ่นแรก-รุ่นสอง

หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง

พระเกจิชื่อดังอัมพวา

 

“พระครูสมุทรวิริยาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อปึก บุญญวิริโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนหลวง ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ทรงพุทธาวิทยาคมที่ชาวอัมพวา และชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงเลื่อมใสศรัทธา

ในห้วงที่ยังมีชีวิต สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเอาไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความเลื่อมใสจากนักนิยมสะสมพระเครื่อง นำไปคล้องคอติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล

ที่ได้รับความนิยม คือ “เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่นแรก”

หลวงพ่อปึก บุญญวิริโย

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2503 ที่ระลึกกรรมการวัดและศิษย์ใกล้ชิดในสมัยนั้น มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้าง 100 เหรียญ บางตำราว่าสร้าง 250 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งร่าง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “หลวงพ่อปึก ปุญฺญวิริโย”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ให้แก่คณะกรรมการวัดงานปี ๒๕๐๓”

อย่างไรก็ตาม เหรียญรุ่นสองก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2508 ที่ระลึกฉลองอายุครบ 5 รอบ 60 ปี มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า โดยปลุกเสกเดี่ยว ซึ่งในการเสกพระนั้นจะปิดกุฏิเสก เนื่องจากเหรียญที่เสกนั้นในระหว่างที่ปลุกเสกเหรียญลอยและหมุนวนในอากาศคล้ายบินได้ จนกลัวว่าจะบินหายไป จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่นนี้ “รุ่นเหรียญบิน” จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งร่าง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “พระครูปึก บุญฺญวิริโย”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ เหนือยันต์มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “วัดสวนหลวง” ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “พ.ศ.๒๕๐๘ ศิษย์สร้างถวายในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี”

ทุกวันนี้ กลายเป็นอีกเหรียญวัตถุมงคลที่หายาก

 

เหรียญหลวงพ่อปึก รุ่นแรก

เป็นชาวสวนหลวงมาแต่กำเนิด ท่านเกิดในปี พ.ศ.2448 บิดา-มารดาชื่อ นายอิ่มและนางแจ่ม โพธิ์อิ่ม โดยนายอิ่มท่านนี้ได้บวชและเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนหลวงอีกด้วย

ในสมัยเด็กมีความฉลาดเฉลียวเกินกว่าเด็กทั่วไป และได้บวชเป็นเณร

จนเมื่อปี พ.ศ.2468 เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดสวนหลวง ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า “ปุญญวิริโย” โดยมีเจ้าอธิการคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการฮ้อ วัดราษฎร์บูรณะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการอิ่ม วัดสวนหลวง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาที่วัดสวนหลวง แต่เดินทางไปเรียนวิชาคาถาอาคมและวิชากรรมฐานกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่เสมอๆ ซึ่งเป็นศิษย์สายตรงร่ำเรียนวิชามาจากหลวงพ่อคงของจริง

โดยจะพายเรือข้ามฟากไปเรียนกับหลวงพ่อคงอยู่เสมอ บางครั้งก็ไปค้างแรมที่วัดบางกะพ้อม ทำอยู่เป็นประจำ จนสำเร็จวิชาหลายอย่างจากหลวงพ่อคง โดยเป็นศิษย์รุ่นเดียวกับหลวงพ่อสาย วัดจันทร์เจริญสุข และเป็นศิษย์พี่ของหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

ต่อมาได้ขึ้นเป็นรองเจ้าอาวาสวัดสวนหลวง เพื่อช่วยพระอธิการอิ่ม ดูแลวัด จนถึงปี พ.ศ.2481 พระอธิการอิ่มมรณภาพลง จึงได้รับช่วงดูแลวัดสวนหลวงเรื่อยมา จนได้รับการการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ.2486

เหรียญหลวงพ่อปึก รุ่นสอง

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประวัติของท่านไม่ได้มีการจดบันทึกไว้อย่างละเอียด ด้วยเหตุที่สมัยนั้นวัดสวนหลวงเป็นวัดเล็ก ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้คนต่างพื้นที่เท่าใดนัก

วัดสวนหลวงนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยนั้น เพราะเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้รักสันโดษ อยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ทรงอภิญญามีจิตใจเมตตาสูง เป็นที่นับถือยิ่งของชาวบ้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเรือตังเก มักนำเรือมาให้เจิมอยู่เสมอๆ นอกจากนี้ ท่านยังเก่งด้านยาสมุนไพร รับรักษาญาติโยมที่เดือดร้อนได้อย่างดียิ่งจนชาวบ้านเรียกกันว่าพระหมอวัดสวนหลวง

วัดสวนหลวง เป็นวัดราษฎร์ ที่ตั้งของวัดอยู่ที่บ้านแหลมสวนหลวง หมู่ที่ 1 ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม สันนิษฐานว่าเชื้อพระวงศ์เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา อีกข้อมูลหนึ่งเชื่อว่าเป็นพระยาในสมัยนั้นเป็นผู้สร้าง จึงไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น

จากหลักฐานของกองพุทธศาสนาบันทึกไว้ว่า ได้ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2245 ร่วมอายุของวัดนี้แล้ว 300 ปีเศษ จึงทำให้ถาวรวัตถุในวัดหลายๆ ชิ้นที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความเก่าแก่ของวัดสวนหลวงแห่งนี้

ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อจักรนารายณ์ พระพุทธรูปโบราณปูนปั้น ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เจดีย์โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถ กุฏิสงฆ์ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม พระพุทธรูปโบราณอีกจำนวนหนึ่ง

ปกครองวัดสวนหลวงอย่างร่มเย็น จนมรณภาพลงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2516 นับรวมสิริอายุได้ 68 ปี พรรษา 47

ทั้งนี้ วัดสวนหลวงได้เก็บรักษาสรีระไว้จนถึงปี พ.ศ.2525 จึงได้ขอพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 7 มีนาคม 2525