จักกิ๋นก่กั๋วผาน จักตามก่กั๋วเสี้ยง / ล้านนาคำเมือง : ชมรมฮักตั๋วเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“จักกิ๋นก่กั๋วผาน จักตามก่กั๋วเสี้ยง”

 

จักฯกินฯคํกลฯวฯ฿ผานฯ จักฯทานฯคํกลฯวฯ฿ส้ยฯง

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “จักกิ๋นก่กั๋วผาน จักตามก่กั๋วเสี้ยง”

ผาน คือ ผลาญ แปลว่าสูญ สิ้น

เสี้ยง แปลว่า หมด

รวมความแปลว่า “จะกินก็กลัวว่าจะไม่มีกินอีก จะเอาไปทำบุญทำทานก็กลัวหมด” เป็นลักษณะของคนตระหนี่ถี่เหนียวแบบหนึ่ง หรือใจแคบ หรือกระทั่งเห็นแก่ตัว ซึ่งไม่น่าจะอยู่อย่างมีความสุข ขาดความอบอุ่น ขาดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดเล็กคิดน้อย ไม่น่าคบ จึงไม่สมควรจะเอามาเป็นนิสัยอย่างยิ่ง ซึ่งตรงข้ามกับการเป็นคนใจดี

คำสอนนี้น่าจะใกล้เคียงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “เค็มเหมือนเกลือ” “กระดูกขัดมัน” หรือ “ขี้ไม่ให้หมากิน”

เงินฯฅำฝังฯดินฯไว้ ฅ฿นฯบ่าเกั่าเพิ่นฯฯทึงฯเยยฯะกันฯ
เงินคำฝังดินไว้ คนบ่าเก่าเปิ้นตึงเยียะกั๋น
แปลว่า คนโบราณมักจะเอาเงินทองฝังดินไว้

มีเรื่องเล่าคล้ายกันนี้ แต่เป็นนิทานเรื่อง “ชายผู้ตระหนี่” เป็นนิทานสอนใจ ความว่า

มีชายผู้หนึ่ง เป็นคนขี้เหนียวที่สุดในหมู่บ้าน เขาเก็บเงินที่หามาได้ใส่ไหเอาไว้ โดยไม่ได้คิดจะใช้เงินจากน้ำพักน้ำแรงของเขาเลย ทั้งยังไม่ยอมคบหาสมาคมกับใคร เนื่องจากกลัวว่าใครจะมาขอยืมงิน

เขาฝังไหใส่เงินเอาไว้ใต้ถุนบ้านที่ห้องใต้ดิน ขุดดินลึกลงไปเอาไหวางไว้แล้วเอาหินปิดทับ ลางเอาเครื่องเรือนไปวางพรางตาไว้ด้านบน

ในแต่ละวันเขาจะรอจนคนในบ้านหลับหมด เขาจึงจะเข้าไปในห้องเก็บไห เอาเงินไปเก็บ เปิดดูเงิน หลังจากชื่นชมเงินที่เก็บไว้จนพอใจก็ปิดหลุม พรางตาไว้ด้วยหินและเครื่องเรือนตามเดิม

คืนวันหนึ่ง เขาพบว่าเงินในไหอันตรธานไปเกลี้ยง

เขาถามไถ่คนในบ้าน ถามเพื่อนบ้านว่าจะทำอย่างไรดี

ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า แนะนำให้เขาไปชื่นชมไหใส่เงินทุกวัน ถึงในนั้นจะว่างเปล่าก็เถอะ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือการชื่นชมเท่านั้น อย่างไรเสียแต่ก่อนนั้นเขาก็ไม่คิดจะเอาเงินออกมาใช้เลย

การชื่นชมไหในห้องใต้ดินก็น่าจะเพียงพอทำให้เขามีความสุขกับชีวิตได้แล้ว

 

ข้อมูลด้านหนึ่งว่า นิทานเรื่องนี้คือนิทานอีสป แต่อีกโสตหนึ่งว่าเป็นนิทานจีน เรื่องเล่าจะมีที่มาจากไหนก็แล้วแต่ แสดงว่าคนตระหนี่เกินกว่าเหตุมีอยู่ทุกสังคม

ในล้านนาก็มีคนแบบนี้ ผู้ใหญ่จึงนำมามาสอนลูกหลาน เพื่อที่จะบอกว่า เงินทองของมีค่าจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อนำมาใช้อย่างสมเหตุสมผลเท่านั้น