รายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 (3)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

รายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 (3)

 

ความมั่งคั่งสาธารณะ

ถูกถ่ายโอนไปให้เอกชนอย่างน่าวิตก

รายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2022 ของห้องทดลองความเหลื่อมล้ำโลก (https://wir2022.wid.world/) ชี้ให้เห็นลักษณะน่าสังเกตอีกด้านของความเหลื่อมล้ำโลก กล่าวคือ เป็นเวลาสี่สิบปีมาแล้วที่ประเทศทั้งหลายมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่ารัฐบาลของประเทศเหล่านั้นกลับยากจนลงโดยสุทธิ

ทั้งนี้ มูลเหตุเกิดจากหลายทศวรรษหลังมานี้ มีการถ่ายโอนทรัพย์สินสาธารณะไปให้ภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น ทรัพย์สินสุทธิของเอกชน (อสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ทางการเงิน) จึงเพิ่มขึ้นอย่างระเบิดเถิดเทิง เช่น ในสหรัฐอเมริกา มันเพิ่มจาก 326% ของรายได้ประชาชาติสหรัฐเมื่อปี 1970 ไปเป็น 592% ในปี 2020 ส่วนในยุโรป ตัวเลขเดียวกันเพิ่มจาก 312% ไปเป็น 633% ในกรณีฝรั่งเศส และเพิ่มจาก 230% ไปเป็น 502% ในกรณีเยอรมนี

ทว่าในช่วงสี่สิบปีเดียวกัน ทรัพย์สินสุทธิของสาธารณะ (อาคารสิ่งก่อสร้าง, ที่ดิน, ส่วนของวิสาหกิจที่รัฐถือครอง หักลบด้วยหนี้สาธารณะ) กลับตกดิ่งลง กล่าวคือ จาก 111% ของรายได้ประชาชาติ ลดเหลือเพียง 18% ในกรณีเยอรมนี และกระทั่งติดลบในกรณีฝรั่งเศส (-13%) สหรัฐอเมริกา (-60%) และสหราชอาณาจักร (-106% ดูแผนภูมิด้านบนประกอบ)

การที่ราคาอสังหาริมทรัพย์และดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสูงกว่าแต่ก่อนมีส่วนช่วยสมทบให้ทรัพย์สินภาคเอกชนเฟ้อขึ้น รวมทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนด้วยในระดับหนึ่ง

แต่กระนั้น ในทศวรรษหลังๆ นี้ ปัจจัยสำคัญเหนืออื่นใดซึ่งอธิบายการทรุดต่ำลงของทรัพย์สินสุทธิของสาธารณะได้แก่หนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น

และซ้ำร้ายโรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลกในสองปีหลังนี้ก็ยิ่งเร่งเร้าแนวโน้มดังกล่าวให้เร็วและแรงขึ้น โดยไปลดทอนรายได้ประชาชาติลงและเพิ่มพูนหนี้ภาครัฐขึ้นอีก

ความเปลี่ยนแปลงในทำนองภาครัฐจนกรอบลงแต่ภาคเอกชนกลับอู้ฟู่ขึ้นนี้สังเกตเห็นได้ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีนด้วย ดังปรากฏว่าทรัพย์สินภาคเอกชนของจีนพุ่งพรวดจาก 120% ของรายได้ประชาชาติจีนในปี ค.ศ.1978 ไปเป็น 526% ในปี 2020

มีประเทศอุตสาหกรรมเพียงหยิบมือเดียวที่พ้นไปจากแนวโน้มนี้ อาทิ นอร์เวย์ซึ่งขุดค้นพบแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมในทะเลเหนือ มีปริมาณมากพอให้นอร์เวย์ใช้ไปได้อีก 69 ปี ณ อัตราบริโภคน้ำมันปัจจุบัน จึงช่วยป้อนเลี้ยงกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศได้อักโข

(https://www.worldometers.info/oil/norway-oil/ & https://mgronline.com/business/detail/9600000052931)

ความมั่งคั่งของรัฐทั้งหลายตกต่ำถดถอยลง : แผนภูมิแสดงการคลี่คลายขยายตัวของมูลค่าทรัพย์สินสาธารณะสุทธิ เมื่อหักหนี้สาธารณะทิ้งแล้ว คิดเป็นร้อยละของรายได้ประชาชาติจากปี 1970-2020: เยอรมนี = เส้นสีเทาแก่, สเปน = เส้นสีเทาจาง, สหรัฐอเมริกา = เส้นสีแดง, ฝรั่งเศส = เส้นสีน้ำเงิน, สหราชอาณาจักร = เส้นสีฟ้า – ข้อมูลจากรายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 แผนภูมิโดย น.ส.พ. Le Monde, 7 d?cembre 2021

ผู้หญิงได้รับเพียง 35%

ของรายได้จากการทำงานทั่วโลก

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างชาย-หญิงนั้นแสดงออกได้หลายรูปแบบ เช่น เข้าถึงการจ้างงานได้แตกต่างกัน, จำนวนชั่วโมงทำงานไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจัยของรายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 รวมศูนย์ความสนใจไปที่ดัชนีชี้วัดตัวหนึ่ง ได้แก่ ช่องว่างของรายได้จากการทำงานระหว่างชาย-หญิง ซึ่งนับรวมทั้งเงินเดือน ค่าจ้างและสัดส่วนของการทำงานที่คำนวณจากรายได้ของคนทำงานอิสระ

โดยเฉลี่ยแล้ว รายงานพบว่าผู้หญิงทุกวันนี้ (ช่วงปี 2015-2020) ได้รับรายได้จากการทำงานคิดเป็นสัดส่วน 35% ของรายได้จากการทำงานโดยรวมทั่วโลก (สัดส่วนรายได้ของผู้ชาย = 65%) ซึ่งแทบไม่เพิ่ม ขึ้นเลยเมื่อเทียบกับเมื่อปี 1990

สัดส่วนรายได้จากการทำงานของผู้หญิงก้าวไปไกลที่สุดในภูมิภาคยุโรปตะวันตก (จาก 31.4% มาเป็น 38.1%) นับแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะความก้าวหน้าด้านความเสมอภาคทางวิชาชีพที่ได้แรงผลักดันจากกฎหมายด้วยส่วนหนึ่ง ที่อเมริกาเหนือ ผู้หญิงก็บรรลุระดับสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงกัน (38.3%)

ทว่าที่สูงเด่นสะดุดตากว่าเพื่อนได้แก่ภูมิภาครัสเซียกับเอเชียกลางที่ผู้หญิงได้สัดส่วนรายได้จากการทำงานถึง 40.5% ของทั้งหมด ตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างคงที่อยู่ตัวมาสามสิบปีแล้วโดยเป็นมรดกตกทอดของแนวนโยบายสมภาคนิยมจากยุคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตแต่ก่อน

ในทางกลับกัน สัดส่วนรายได้จากการทำงานของผู้หญิงต่ำเตี้ยเป็นพิเศษในภูมิภาคตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ (แค่ 14.8%) เนื่องจากสัดส่วนของงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ตอบแทน (โดยเฉพาะงานบ้านในครัวเรือน) ตกหนักหนาสาหัสแก่ผู้หญิง คิดเป็นกว่าวันละ 5 ชั่วโมง เทียบกับแค่ไม่ถึงชั่วโมงต่อวันสำหรับผู้ชาย

จีนนับเป็นประเทศเดียวที่ปรากฏว่าสัดส่วนของรายได้จากการทำงานที่ตกเป็นของผู้หญิงลดน้อยถอยลงนับแต่ปี 1990 ถึงปัจจุบัน คือจาก 38.8% เหลือ 33.6% ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียวของทางการรัฐ-พรรคจีนนับแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ส่งผลบั่นทอนการจ้างงานผู้หญิงลง ประกอบกับเหตุปัจจัยอื่นๆ

(ต่อสัปดาห์หน้า)

ชาย-หญิงยังห่างไกลจากความเท่าเทียมอักโขเสมอมา : แผนภูมิแสดงสัดส่วนรายได้จากการทำงานของผู้หญิงในยอดรวมรายได้จากการทำงาน คิดเป็นร้อยละ เปรียบเทียบระหว่างปี 1990 กับช่วงปี 2015-2020 ในภูมิภาคต่างๆ จากบนลงล่างได้แก่ ตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ, เอเชีย (ไม่นับจีน), แอฟริกาใต้ ทะเลทรายซาฮารา, จีน, ละตินอเมริกา, ยุโรปตะวันตก, อเมริกาเหนือ, รัสเซียกับเอเชียกลาง – ข้อมูลจากรายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 แผนภูมิโดย น.ส.พ. Le Monde, 7 d?cembre 2021