2503 สงครามลับ สงครามลาว (68)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (68)

 

แผนอันชาญฉลาดของวังเปา

นายพลวังเปาแก้ไขปัญหาความเสียเปรียบในด้านจำนวนกำลังพลโดยมิให้ทหารของตนเข้าปะทะกับข้าศึกโดยตรง เพียงแต่ให้พยายามกดดันข้าศึกให้หยุดอยู่กับที่ในระยะเวลาหนึ่ง แล้วขยายจุดอ่อนในการส่งกำลังบำรุงทางพื้นดินของข้าศึกซึ่งกระทำได้ค่อนข้างยากลำบากโดยเฉพาะในฤดูฝนเช่นนี้ ด้วยการส่งกำลังอ้อมไปโจมตีคลังยุทโธปกรณ์และเสบียงของข้าศึก

เมื่อข้าศึกถูกตัดสาย การส่งกำลังบำรุงก็จำต้องถอนตัวออกไป จึงทำให้ฝ่ายเราสามารถรุกคืบหน้าไปได้ตามลำดับ

นอกจากนั้น เนื่องจากกำลังทหารของฝ่ายเราไม่เพียงพอที่จะยึดหรือวางแนวป้องกันพรมแดน โดยเฉพาะในเขตที่ติดต่อกับเวียดนามเหนือโดยตรง ดังนั้น นายพลวังเปาจึงวางแผนการสงครามควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ในพื้นที่ใดที่ฝ่ายเราครอบครองได้โดยเด็ดขาดก็จะพยายามให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยเป็นที่ทำมาหากิน โดยเฉพาะบริเวณทุ่งไหหินอันเป็นที่ราบใหญ่ เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้มานานแล้วก่อนที่จะถูกรุกราน

ดังนั้น ในปีนี้ เมื่อฝ่ายเราสามารถยึดทุ่งไหหินคืนมาได้ จึงเตรียมแผนการป้องกันทุ่งไหหินอย่างเบ็ดเสร็จ โดยให้ทหารเสือพรานยึดยอดเขาอันเปรียบเสมือนปราการสำคัญทั้ง 4 ทิศโดยรอบทุ่งไหหิน สนับสนุนด้วยฐานยิงปืนใหญ่ แล้วให้ประชาชนเข้าทำกินต่อไป

ในขณะเดียวกันก็ส่งกำลังทหารท้องถิ่นของตนรุกคืบหน้าขึ้นสู่ซำเหนือเพื่อตัดเส้นทางคมนาคมและทำลายคลังอาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึก

สำหรับพื้นที่ส่วนหลังนั้น เมื่อประชาชนเข้ามารวมกันเป็นกลุ่มก้อน ก็สามารถเกณฑ์กำลังชายฉกรรจ์มาเป็นทหารได้อีก

 

นายพลวังเปาดำเนินการตามแผนนี้ครั้งละพื้นที่ โดยเริ่มจากบริเวณล่องแจ้งและซำทองซึ่งขณะนี้กลายเป็นเมืองที่มีผู้คนพลเมืองหนาแน่นขึ้น ผิดกับเมื่อตอนต้นปีที่เหตุการณ์กำลังคับขันมาก

พื้นที่ต่อไปก็คือบริเวณทุ่งไหหิน และต่อไปคือพื้นที่เมืองสุย ซึ่งถ้าหากสามารถตัดกำลังข้าศึกบริเวณทิศเหนือของทุ่งไหหินได้แล้ว ข้าศึกที่ควบคุมเมืองสุยก็จะถูกตัดขาดจากส่วนใหญ่จนทำให้ฝ่ายเราเข้ายึดครองได้โดยไม่ต้องใช้กำลังเข้าปะทะอย่างรุนแรงแต่อย่างใด

ประชาชนที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในเมืองนั้นก็อพยพเข้าสู่ถิ่นเดิมได้ตามปกติ

ฝ่ายเราคาดว่าโครงการของนายพลวังเปาคงจะสำเร็จด้วยดี เนื่องจากในราชอาณาจักรลาวนั้นฝ่ายเวียดนามเหนือไม่ได้รับความสำเร็จทางด้านสงครามจิตวิทยา เนื่องจากชาวลาวมีความเกลียดชังชาวเวียดนามมาเป็นเวลานาน และได้รับรู้ถึงการรุกรานของเวียดนามเหนือมาถึง 20 ปีแล้ว

แม้แต่ขบวนการประเทศลาวซึ่งกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยความกดดันทางการเมืองก็หาได้นิยมชมชอบต่อทหารเวียดนามเหนือไม่

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า เมื่อใดที่ฝ่ายเราครองความได้เปรียบการรบในพื้นที่ใด ทหารลาวแดงก็มักจะเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายรัฐบาลอยู่เนืองๆ

จึงคาดว่าในไม่ช้าหากฝ่ายรัฐบาลได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐ

ชาวลาวก็จะสามารถป้องกันตนเองจากการรุกรานของเวียดนามเหนือได้อย่างเข้มแข็ง

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคมนี้ ข้าศึกได้ปฏิบัติการต่อฝ่ายเรารุนแรงยิ่งขึ้น หน่วยทหารท้องถิ่น กรม GM-21 และกรม GM-22 ซึ่งทำการรุกตามแผนการยุทธ์บรรจบของ นายพลวังเปา ถูกตรึงให้อยู่กับที่

ประกอบทั้งหน่วยต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐไม่เพียงพอ เนื่องจากบางครั้งขาดความเข้าใจระหว่างผู้ให้และผู้รับ การสนับสนุนบางอย่างของสหรัฐนั้นให้ประโยชน์แก่ทหารลาวไม่เต็มที่ อาจจะเป็นเพราะทหารลาวไม่มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือนั้น บ้างก็เกินความจำเป็น

แต่ในบางส่วนที่ท้องถิ่นมีความต้องการ ทางสหรัฐกลับไม่สนับสนุน หรือรีรอจนไม่ทันต่อเหตุการณ์

การรบที่กำลังจะได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาดจึงต้องยืดเยื้อต่อไป เป็นโอกาสให้ข้าศึกมีเวลาเพิ่มเติมกำลังของตนและแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเป็นรองกลับมาสู้รบกับฝ่ายเราได้อย่างเข้มแข็งขึ้นอีก

เช่น การโจมตีทางอากาศซึ่งสหรัฐระมัดระวังที่จะให้คุ้มค่าทุกเป้าหมาย ในบางครั้งที่ฝ่ายเราตรวจพบที่รวมพลใหม่ๆ ของข้าศึกแล้วร้องขอการโจมตีอย่างเร่งด่วนก็กลับไม่ได้รับการสนองคำขออย่างทันท่วงที ทำให้เสียโอกาสที่จะทำลายเป้าหมายเป็นกลุ่มก้อนนั้นไป

ขณะที่ฐานยิงมัสแตงก็เร่งเสริมสร้างที่มั่นให้แข็งแรงขึ้นตลอดเดือนสิงหาคมจนมั่นคงพอที่จะรับการระดมยิงขอข้าศึกได้โดยไม่น่าวิตกนักเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอีกไม่นาน และยังคงทำหน้าที่ยิงสนับสนุนหน่วยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

3 สิงหาคม 2514…

บก.ฉก.วีพี ได้ตกลงใจจัดตั้งฐานยิงแห่งใหม่ขึ้นอีกคือฐานยิงไลอ้อน โดยใช้กำลัง พัน ป.ทสพ.636 คุ้มครองด้วยทหารราบ พัน ทสพ.605 ในบริเวณใจกลางทุ่งไหหิน โดยมีที่ตั้งยิงห่างจากฐานยิงมัสแตงลงมาทางใต้ประมาณ 3 ก.ม. ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเติมอำนาจการยิงให้แก่บริเวณภูเทิง และเพื่อให้สามารถยิงช่วยเหลือกันระหว่างฐานยิงทั้งสอง ถ้าหากฐานยิงใดถูกข้าศึกระดมยิงด้วยอาวุธหนัก

พัน ป.ทสพ.ป 636 จึงเริ่มส่งส่วนล่วงหน้าไปทำการดัดแปลงภูมิประเทศ เตรียมการตั้งฐานยิงจนกระทั่งสามารถทำการยิงสนับสนุนได้ด้วย ป 105 ม.ม. 2 กระบอกและ ค.4.2 อีก 2 กระบอก เมื่อ 27 สิงหาคม 2514 และต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2514 ก็ได้รับ ป.155 ม.ม. อีก 2 กระบอก

ฐานยิงไลอ้อนสามารถแบ่งเบาภารกิจสนับสนุนจากฐานยิงมัสแตงได้อย่างดียิ่ง นอกจากนั้น ยังสามารถยิงต่อต้านอาวุธหนักข้าศึกเมื่อฐานยิงมัสแตงถูกยิงอีกด้วย

จึงนับได้ว่าในพื้นที่ทางตะวันออกของทุ่งไหหินนี้ ขณะนี้ฝ่ายเรามีอำนาจการยิงสนับสนุนที่เพียงพอต่อการสนับสนุนทหารราบเป็นอย่างดี

 

กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน 2514…

ในระยะ 3 เดือนอันเป็นปลายฤดูฝนนี้ ในพื้นที่การรบมิได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายต่างเร่งรีบปรับปรุงกำลัง เสริมสร้างที่มั่นและลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์มาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา

ฝ่ายข้าศึกมีการลาดตระเวนถ่ายรูปและกำหนดที่ตั้งของฝ่ายเราบ่อยครั้งยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ฝ่ายเรายังทราบการเคลื่อนไหวของข้าศึกจากวิทยุดักฟังว่ากำลังวางแผนการรุกใหญ่ ได้มีการฝึกการเข้าตีในภูมิประเทศซึ่งคล้ายคลึงกับที่ตั้งฝ่ายเรา และประชุมซักซ้อมวางแผนการเข้าตีบนโต๊ะทรายโดยจำลองภูมิประเทศจากผลการลาดตระเวน

ทางด้านอาวุธหนักข้าศึกได้รับปืนใหญ่ขนาด 130 ม.ม. อันเป็นอาวุธใหม่ทำในโซเวียตรัสเซียที่ไม่เคยนำมาปฏิบัติการในราชอาณาจักรลาวมาก่อน ซึ่งเหนือกว่าปืนใหญ่ของฝ่ายเราที่มีอยู่ทุกชนิด

ข้าศึกได้ทำการยิงรบกวนและปรับการยิงหาหลักฐานต่อที่ตั้งของฝ่ายเราเป็นครั้งคราว

หน่วยแนวหน้าได้รายงานการเคลื่อนไหวของข้าศึกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการตรวจพบขบวนยานยนต์ลำเลียงยุทธสัมภาระและรถถังของข้าศึกตามบริเวณขอบด้านตะวันออกของทุ่งไหหิน

ฝ่ายเราได้มีการเพิ่มเติมกำลัง โดยทางกลุ่มภูเก็งได้เพิ่มเติม ป. 155 ม.ม. ให้แก่ฐานยิงคิงคอง 2 กระบอก และส่งกองพันทหารเสือพราน 608 ไปยึดทางด้านใต้ของฐานยิงคิงคองอีกหน่วยหนึ่ง

ทางด้านทิศตะวันตกของทุ่งไหหินได้ให้พัน ป.ทสพ. 636 ตั้งฐานยิงเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่ภูเซอคือฐานยิงสติงเรย์ ประกอบด้วย ป. 155 ม.ม. จำนวน 2 กระบอก โดยได้รับการระวังป้องกันฐานยิงโดย พัน.ทสพ.บีซี 610

10 ตุลาคม 2514 พัน.ป.ทสพ.635 ได้รับคำสั่งให้จัดตั้ง บก.ส่วนหน้าขึ้นที่ฐานยิงสติงเรย์บนภูเซอ โดยมีนายทหารไปประจำคือทับทิม (ร.ท.สมชาติ นุกูลกิจ-ยศสุดท้าย พลโท) ผาอิน (ร.ท.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์-ยศสุดท้าย พลตรี) และพิมาย (ร.ท.ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์-ยศสุดท้าย พลเอก) ภายใต้การควบคุมของนำชัย (พ.ต.สุนทร ศรีจันทร์-ยศสุดท้าย พลโท) รักษาราชการ ผบ.ป.ฉก.วีพี

เพื่ออำนวยประโยชน์ในการประสานการยิงโดยใกล้ชิดและต่อเนื่องเมื่อถูกข้าศึกโจมตี เนื่องจากภูเซอเป็นยอดเขาสูง 1,654 ฟุต สามารถตรวจการณ์เห็นที่ตั้งต่างๆ ของฝ่ายเราได้เกือบทุกแห่ง