ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559 |
---|---|
เผยแพร่ |
ส่วนสามเณรรูปถัดมานี้ ชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นอาจารย์ หรือนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนา และภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ
ประวัติและการศึกษา เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2482 ที่บ้านโนนสูง ตำบลเลิงแฝก (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองแวง) อำเภอบรบือ (ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง) จังหวัดมหาสารคาม
เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ศึกษานักธรรมและบาลีไวยากรณ์ กับอาจารย์มหาบุดดี ปุญญากโร (บุดดี สุวรรณคำ) เจ้าอาวาส
จนกระทั่งสอบได้นักธรรมโทจึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยเป็นลูกศิษย์ พระมหาชม ธมฺมธีโร (พระราชปริยัติยาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม)
สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญ 3 ประโยค หลังจากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดอัมพวันในบ้านเกิดสอบได้เปรียญ 4 ประโยค แล้วจึงเดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
เป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ
พ.ศ.2508 ได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต ณ วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Trinity College, Cambridge University) ประเทศอังกฤษ โดยการติดต่อประสานงานของ คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิการศึกษาวัดทองนพคุณ พ.ศ.2512
สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม)
เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ได้สอนพระปริยัติธรรม ณ วัดทองนพคุณ ดังเดิม พ.ศ.2514 ได้ลาสิกขาและรับราชการเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พ.ศ.2519
โอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใน พ.ศ.2522
โอนกลับไปคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตามเดิม จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ 9
ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.2535
วิทยฐานะ เปรียญธรรม 9 ขณะเป็นสามเณร (รูปแรกในรัชกาลที่ 9 สมัยเริ่มสอบด้วยข้อเขียน และเป็นรูปที่สามในสมัยรัตนโกสินทร์) อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์
ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
ปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาลี-สันสกฤต) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2548
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะมหานิกาย) พ.ศ.2550
ผลงานประพันธ์ ได้เขียนบทความลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์เมื่อครั้งเป็นภิกษุ โดยการชักชวนของ คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ภายหลังได้เขียนบทความลงในนิตยสารต่างๆ เช่น ต่วยตูน, แม่และเด็ก, รักลูก, ชีวจิต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์มติชน มีผลงานที่พิมพ์เป็นเล่มประมาณ 200 เล่ม
นามปากกา
ไต้ ตามทาง ใช้เขียนเรื่องประเภทขำขันทีเล่นทีจริง
“เปรียญเก้าประโยค” ใช้เขียนเรื่องประเภทการใช้ภาษา
เสฐียรพงษ์ วรรณปก ใช้เขียนเรื่องประเภทวิชาการและสารคดี
มีผลงานหนังสือทางวิชาการ และกึ่งวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่มากกว่า 200 เล่ม อาทิ พุทธวจนะในธรรมบท, พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์, พุทธจริยาวัตรพากย์ไทย-อังกฤษ, พุทธจริยาวัตร 60 ปาง, มีศัพท์ มีแสง, บทเพลงแห่งพระอรหันต์ : Song of the Arahant, เพลงรักจากพระไตรปิฎก, พระไตรปิฎกวิเคราะห์, สองทศวรรษในดงขมิ้น, สู่แดนพุทธภูมิ, ไปไหว้พระบาทพระพุทธองค์, เนื้อติดกระดูก, นิทานปรัชญาเต๋า, พุทธวิธีแก้ทุกข์, สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ
ยุทธจักรดงขมิ้น, ใต้ร่มใบบุญ, ฤๅสมัยนี้โลกมันเอียง, จุดศูนย์ถ่วง, บัวบานกลางเปลวเพลิง, ฝ่าความมืดสีขาว, ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ, สวนทางนิพพาน, พุทธศาสนสุภาษิต, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จัดทำร่วมกับ คุณดำเนิน การเด่น, ชุดสิบล่อหั่น (สิบอรหันต์) สี่เล่ม (1.สิบล่อหั่นต้นพุทธกาล 2.สิบล่อหั่นชีวิตพิสดาร 3.สิบล่อหั่นหญิง 4.สิบล่อหั่นน้อย) จุดประกายแห่งชีวิต, ภูฏาน ดินแดนแห่งพุทธศาสนา, ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา
พระไตรปิฎกศึกษา ชุด 1 ธรรมะนอกธรรมาสน์ พระไตรปิฎกศึกษา ชุด 2 วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์, คำบรรยายพระไตรปิฎกช่องที่ไม่ว่าง, ผีสางคางแดง, สูตรสำเร็จชีวิต, ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์, คุณธรรมสำหรับนักบริหาร จากเสฐียรพงษ์ถึงพระเทพเวที และพุทธทาสภิกขุ, ความเป็นมา แห่งพระธรรมวินัย : ทางออก กรณียันตระ อมโร
สองอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ หลวงพ่อพุทธทาส และหลวงพ่อชา, คิดเป็นทำเป็นตามนัยพุทธธรรม, บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม, พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นอุบาสกรัตนะ, พระสูตรดับทุกข์, ธรรมะสู้ชีวิต
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางสองมิติ และสัปปุริสธรรม 7 นัยที่สอง, 9 พุทธ 9 เต๋า 9 เซน, สติ-สมาธิ,พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์, ธรรมะ HOW TO ฯลฯ
เกียรติคุณที่ได้รับ
ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ พ.ศ.2535
ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักรในฐานะผู้เขียนหนังสือพระพุทธศาสนา พ.ศ.2535
ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ รายการส่งเสริมคุณธรรมดีเด่น รายการ “ดรุณธรรม” ทางช่อง 5 พ.ศ.2535
ได้รับประทานเข็มเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายเรืออากาศอาวุโส กองทัพอากาศ พ.ศ.2535
ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กรมตำรวจ
ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ.2543 สาขามนุษยศาสตร์ ในฐานะได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ ความสามารถและแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา
ได้รับรางวัลหนังสือวิชาการยอดเยี่ยมแห่งปี พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จากอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2546 โดยได้รับรางวัลร่วมกับ คุณดำเนิน การเด่น
ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.2552
ได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จากคุรุสภา พ.ศ.2553