ในประเทศ/นกน้อยในกรงเหล็ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา ศาลอุทธรณ์ตัดสิน จำคุก 13 ปี 4 เดือน

ในประเทศ

นกน้อยในกรงเหล็ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา

ศาลอุทธรณ์ตัดสิน จำคุก 13 ปี 4 เดือน

เปลี่ยนสถานะจากนกน้อยในไร่ส้ม เป็นนกน้อยในกรงเหล็ก

สำหรับ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าวชื่อดังแห่งยุค

เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีค่าโฆษณาเกินเวลา ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และพนักงาน อสมท มูลค่าเสียหาย 138 ล้านบาท

โดยศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนคดีแล้วพิเคราะห์ว่า การอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมานั้นชอบแล้ว พิพากษายืนโทษจำคุก

13 ปี 4 เดือน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.313/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2

เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือ นางชนาภา บุญโต พนักงานจัดทำคิวโฆษณา บมจ.อสมท, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงาน บริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4

ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่

เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร

เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8 และ 11

คดีนี้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึง 28 เมษายน 2549 ต่อเนื่องกัน นางพิชชาภา จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ซึ่งก่อนออกอากาศ นางพิชชาภาใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลาจาก บจก.ไร่ส้ม จำนวน 17 ครั้ง

ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังเรียกรับเอาเงิน 658,996 บาทจากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่ไม่รายงานการโฆษณา ซึ่งเป็นการกระทำมิชอบด้วยหน้าที่ และปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บมจ.อสมท

โดยมีจำเลยที่ 2-4 สนับสนุนช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการกระทำผิด และมอบเช็คธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 สั่งจ่ายเงินให้นางพิชชาภา

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ มาตรา 6,8,11 ส่วน บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ, น.ส.มณฑา จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุน

พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-4 รายละ 6 กระทง ให้จำคุกนางพิชชาภา กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ปรับ บจก.ไร่ส้ม กระทงละ 20,000 บาท รวมทั้งสิ้น 120,000 บาท

ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมคนละ 20 ปี

แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ศาลจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 จำคุกนางพิชชาภา เป็นเวลา 20 ปี นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน

ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ จึงไม่รอลงอาญา ส่วน บจก.ไร่ส้ม ให้ปรับรวม 80,000 บาท

นางพิชชาภา, นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ หลังยื่นเงินสด ซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า

นางพิชชาภา เป็นผู้จัดทำคิว ทราบความเป็นไปของรายละเอียดการโฆษณาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นสามัญสำนึกในหน้าที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้

นางพิชชาภาใช้น้ำยาลบคำผิดในใบคิวโฆษณา แม้ข้ออ้างว่าทำไปเพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิด ก็เป็นข้ออ้างไม่มีน้ำหนัก อุทธรณ์ของนางพิชชาภาฟังไม่ขึ้น

ส่วนนายสรยุทธ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับนางพิชชาภา จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้

และที่อ้างว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลบรายการในใบคิวโฆษณา เห็นว่านางพิชชาภาให้การยอมรับเกี่ยวกับเหตุผลการลบรายการในใบคิว และอ้างว่าได้รับการร้องขอจากนายสรยุทธ ขณะที่บริษัท ไร่ส้ม และนายสรยุทธกล่าวอ้างลอยๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ

ส่วนคุณงามความดีของนายสรยุทธ ที่กล่าวอ้างประวัติและความดี เป็นคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ซึ่งศาลต้องพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวน

ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหลายกรรมด้วยการมอบเช็ค 6 ฉบับตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์จำเลยทั้ง 4 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

ภายหลังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยืนยันจะยื่นฎีกาสู้คดีต่อทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในทุกประเด็น

ขณะที่ทนายความของนายสรยุทธ ยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างฎีกา โดยจำเลยทั้งหมดยื่นหลักทรัพย์เงินสดและบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาท

ซึ่งศาลเห็นควรส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งประกันต่อไป ก่อนที่ในวันเดียวกัน ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์ในการประกันตัวของจำเลยทันที ก่อนมีคำสั่งยกคำร้อง

ยังไม่ให้ประกันตัวจำเลยในชั้นนี้

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายสรยุทธ ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนนางพิชชาภา และ น.ส.มณฑา นำไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

สำหรับการยื่นฎีกาต่อสู้คดี อันจะมีผลต่อการยื่นคำร้องขอประกันตัวรอบใหม่ด้วยนั้น

ตามหลักประมวลวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 218 บัญญัติว่า

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีนายสรยุทธ ทั้งสองศาลมีคำพิพากษายืนโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน เมื่อนับเรียงกระทงลงโทษ แต่ละกระทงโทษไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นเเนวต้องห้ามฎีกา

การจะฎีกาได้นั้น ต้องดำเนินการตามมาตรา 221 ที่บัญญัติว่า

หากจำเลยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนั้นหรือผู้พิพากษาที่ทำความเห็นแย้งคดีนั้นไว้ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดลงชื่อรับรองในฎีกา

ว่ามีปัญหาสำคัญที่ควรสู่ศาลสูงและอนุญาตให้ฎีกา โดยมีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย

ก็ให้ยื่นฎีกานั้นได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ การขอประกันตัวระหว่างฎีกา

นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และจำเลยทั้งหมด จะต้องดำเนินการในส่วนของการยื่นฎีกาต่อสู้คดีเสียก่อน ด้วยการให้ผู้พิพากษาหรืออัยการสูงสุดลงชื่อรับรองตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

หากผ่านขั้นตอนสำคัญนี้ได้ การยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่ จำเลยจะสามารถทำได้ในเวลาต่อไป จนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหลักออกมา

ประกอบเงื่อนไข การยื่นคำร้องขอประกันตัวในรอบต่อไป จำเลยต้องระบุเหตุผลและข้อเท็จจริงใหม่ เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูง

เท่ากับว่าช่องทางการต่อสู้ยังไม่ถูกปิดตายเสียทีเดียว

นกน้อยเจ้าของตำนาน “กรรมกรข่าว” จะกลับคืนสู่ยุทธจักรไร่ส้มได้อีกหรือไม่

หรือชะตากำหนดให้ต้องพำนักยาวใน “กรงเหล็ก”

เป็นประเด็นให้สังคมต้องเฝ้าติดตามคำตอบกันต่อไป