‘ธรรมดา’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ลูกเสือโคร่ง - ลูกเสือโคร่งอายุราวสามสัปดาห์ พวกมันจะเติบโต และใช้เวลาเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตจากแม่ร่วมสองปี ก่อนต้องออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ธรรมดา’

 

ใช้วันเวลากับการเรียนรู้อยู่ในป่า มีบทเรียนหนึ่งที่ผมเข้าใจว่า เป็น “แก่น” ซึ่งเหล่า “ครูๆ” ต้องการให้ผมทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เป็นเรื่องธรรมดาๆ ของชีวิต เป็นสิ่งที่ผมพบเจอบ่อยๆ นั่นคือ ความมีชีวิต และการจากไป

ในทุ่งระบัด หลังความแห้งแล้งจากไป ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารกลับคืนมา สัตว์กินพืชเลาะเล็มหญ้าอ่อนๆ

เมื่อสัตว์กินพืชมาชุมนุม สัตว์ผู้ล่าก็ตามมาในพื้นที่แห่งความมีชีวิตเช่นนี้ ความตายเกิดขึ้นเสมอ

ในป่า ผมใช้กล้องเป็นเครื่องมือบันทึกภาพความมีชีวิต

แต่ความเป็นไปของชีวิต ผม “เห็น” เมื่อละสายตาจากช่องมองภาพ…

 

ผมพบเจอซากหรือร่างไร้ชีวิตของสัตว์ป่าบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เป็นผู้ช่วยของผู้ช่วยนักวิจัย งานของเสือโคร่งที่เราติดตามคือ ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ อย่างวัวแดง, กระทิง รวมทั้งกวางโตเต็มวัย

ถึงแม้ว่าการลงมือของเสือจะเป็นผลสำเร็จเพียงหนึ่งครั้งจากการลงมือสิบครั้ง เก้าครั้งที่มันล้มเหลวนั้น เราไม่เห็น

ครั้งที่มันทำงานสำเร็จ เราเห็นส่วนใหญ่มันยอมถอยห่างออกไป เปิดโอกาสให้คนเข้าไปตรวจสอบผลงานของมัน

แต่หลายครั้งหากเป็นเหยื่อที่เพิ่งล่าได้ มันส่งเสียงขู่คำราม เตือนให้คนถอยออกมา การหวงเหยื่อเป็นเรื่องปกติ

 

ผู้ช่วยนักวิจัยจะมีพิกัดที่เสืออยู่ พวกเขารู้ว่า เมื่อเสืออยู่ที่เดิมหลายวัน เคลื่อนที่แค่ระยะสั้นๆ นั่นหมายถึงมันล่าเหยื่อได้

วันหนึ่งก่อนถึงจุดหมายราวๆ 100 เมตร ผู้ช่วยนักวิจัยตรวจสอบสัญญาณ

เขายกเสาอากาศขึ้นสูงหมุนไปรอบๆ ความแรงสัญญาณที่รับได้อยู่ในระดับสูงสุด นั่นหมายความว่าเสืออยู่ใกล้ๆ

มันไม่ขยับไปไหน

ผมนั่งลงบนขอนไม้เปียกชื้น ยุงรุมตอม สายฝนโปรยเม็ดละเอียด ผ่านไปเกือบชั่วโมง มันถอยห่างออกไป เราเข้าไปพบกับซากกระทิงตัวผู้ วัยอาวุโส เนื้อช่วงก้นและส่วนท้องถูกกินไปแล้ว ผู้ช่วยนักวิจัยตรวจสอบซากอย่างรวดเร็วและรีบเดินออกมา

ผมหันกลับไปมองซากกระทิง ดวงตามันเบิกโพลง

เมื่อวานมันยังเป็นกระทิงที่มีชีวิต

 

สําหรับสัตว์ พวกมันมีเพียงสองฤดู คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน

ปกติสายฝนจะเบาบางเมื่อถึงปลายเดือนสิงหาคม พายุลูกเก่าผ่านพ้น ยังไม่ถึงเวลาของพายุลูกใหม่ ช่วงกลางคืนและเช้ามืดสัมผัสได้กับอากาศเย็น

สายลมหนาวมาถึงพร้อมๆ กับเหล่านกเด้าลมหลังเทา นกนักเดินทางพวกแรกๆ ที่เดินทางย้ายถิ่นหลบความขาดแคลนช่วงฤดูหนาวในถิ่นเกิด เป็นสิ่งอันบอกให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

ขณะติดตามเสือโคร่ง ผมไม่ได้พบเพียงซากอันไร้ชีวิต

ในช่วงที่ฤดูกำลังจะเปลี่ยน ผมมีโอกาสพบกับชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้น ลูกเสือ 4 ตัว

ข้อมูลของนักวิจัยพบว่าในวิถีของเสือโคร่งตัวเมีย มันจะเริ่มผสมพันธุ์ครั้งแรกตอนอายุราว 3 ปีครึ่ง ส่วนตัวผู้พวกมันจะพร้อมกับการผสมตอนอายุเกือบๆ 5 ปี นั่นหมายถึงครอบครองอาณาเขตได้แล้ว อยู่ในวัยแข็งแกร่ง ปกป้องพื้นที่ได้

เสือโคร่งตัวเมียใช้เวลาตั้งท้องราว 100-103 วันก่อนคลอด

พวกมันสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ตัวเมียมีค่าเฉลี่ยในการเป็นสัด 7 วัน และจะมีการเป็นสัดซ้ำทุก 15-20 วัน

ในกรณีที่เสียลูกไป ตัวเมียจะเป็นสัดอีกครั้งในระยะเวลาสั้นๆ

ระยะห่างระหว่างลูกครอกแรกกับลูกครอกที่สองห่างกัน 20-24 เดือน ตราบเท่าที่ลูกๆ ยังอยู่กับแม่ เสือตัวเมียจะไม่ผสมพันธุ์

ดังนั้น เมื่อลูกๆ มีอายุครบ 18 เดือน พวกมันจะเริ่มห่างออกจากแม่

เป็นที่รู้กันว่า นี่คือช่วงเวลาวิกฤตที่สุดในชีวิต นักวิจัยพบว่า อัตราการตายของลูกเสือในปีแรกมีถึง 34%

แม้ว่าลูกเสือจะผ่านบทเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตจากแม่อย่างพร้อมเพียงใด

แต่ดูเหมือนการออกไปพบกับโลกจริงๆ ที่ไม่มีแม่คอยช่วย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมพบกับชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้น ติดตามพวกมัน เห็นการเติบโตและพบกับซากอันเป็นบทเรียนการล่า เกิดมาและจากไป เป็นเรื่องธรรมดา

 

ผมเริ่มต้นด้วยการใช้กล้องเป็นเครื่องมือ ถ่ายทอดความเป็นชีวิตของเหล่าสัตว์ป่า

กล้องนำพาผมไปไกล

พาไปไกลเพื่อให้พบว่า ความเป็นจริงต่างๆ นั้น มันอยู่ใกล้ๆ อยู่รอบๆ ตัว

กล้องพาไปพบกับเรื่องธรรมดาๆ

เรื่อง “ธรรมดา” อันเป็น “แก่น” นี่แหละ ซึ่งดูคล้ายจะยากกับการยอมรับ และทำความเข้าใจ