หายนะ ‘ทะเลไทย’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

หายนะ ‘ทะเลไทย’

 

การเปิดเผยข้อมูลกรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) รั่วไหลลงสู่ทะเลบริเวณจังหวัดระยอง ทั้งจากบริษัทและหน่วยงานภาครัฐ ต่างมีความน่าเคลือบแคลงสงสัยชวนให้คิดเลยเถิดไปถึงอนาคตทะเลไทยน่าจะมีแนวโน้มเกิดหายนะซ้ำซากอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ในแถลงการณ์ของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ ฉบับที่ 1 อ้างว่า เมื่อเวลา 21.06 น. วันที่ 25 มกราคม บริษัทพบน้ำมันดิบรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

แถลงการณ์ฉบับนี้ บริษัทส่งให้สื่อมวลชนให้ข้อมูลเฉพาะเหตุการณ์แต่ไม่ได้ระบุสาเหตุน้ำมันดิบรั่วเพราะอะไร ในปริมาณเท่าไหร่

บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบริษัทเชฟรอนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันระดับโลก เป็นผู้ถือหุ้น บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ มีรายได้ต่อปีเป็นแสนล้านบาท แต่ไม่สามารถประมวลวิเคราะห์ตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลออกมาได้ อีกทั้งยังไม่สามารถแจกแจงข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้และเตรียมการรับมือได้ทันท่วงที นี่เป็นความน่าสงสัยในประการแรก

ต่อมาเวลา 04.20 น. วันที่ 26 มกราคม บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 2 อ้างว่า ขณะนี้สถานการณ์ควบคุมได้และหยุดการรั่วไหลตั้งแต่เวลา 00.18 น. วันที่ 26 มกราคม อยู่ระหว่างใช้เรือฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน

ขณะเดียวกันบริษัทส่งหนังสือลงวันที่ 26 มกราคม ไปถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า จุดที่น้ำมันดิบรั่ว อยู่ห่างจากจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 20 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 20 ตัน หรือเท่ากับ 2 หมื่นลิตร และได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและกระจายข่าว รับทราบแล้ว

 

เช้าวันเดียวกันนั้น คุณภุชงค์ สฤษฏีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลที่ 1 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ แจ้งกับกรมควบคุมมลพิษถึงปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลออกมามีจำนวน 4 แสนลิตร จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล

เหตุเกิดบริเวณมาบตาพุด จุดเกิดเหตุคือ บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ละติจูด 12 องศา 29.3 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 11.76 ลิปดาตะวันออก

คุณภุชงค์ให้รายละเอียดว่า กรมควบคุมมลพิษใช้แบบจำลองออยล์แม็ป (OilMap) ทำนายการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเล

“ผลของแบบจำลอง แสดงให้เห็นว่า กลุ่มน้ำมันดังกล่าวอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณหาดแม่รำพึงถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในวันที่ 28 มกราคม เวลา 17.00 น. ประมาณ 180,000 สิตร” คุณภุชงค์บอกกับสื่อ

ตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบรั่วของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ กับตัวเลขของผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลที่ 1 ต่างกันลิบลับ

 

จากนั้นบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ระบุว่า บริษัทได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือภาคที่ 1 ด้วยการใช้เครื่องบินกองทัพเรือบินลาดตระเวนเพื่อสำรวจการเคลื่อนที่ของน้ำมัน พบมีปริมาณน้ำมันหลงเหลืออยู่ในทะเลประมาณ 128 ตัน หรือ 1.68 แสนลิตร

จะเห็นได้ว่า แถลงการณ์ของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ ที่ส่งให้สื่อกับหนังสือชี้แจงไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบรั่วต่างกันมาก

วันที่ 27 มกราคม คุณสุริยะ รุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า จำนวนคราบน้ำมันตกค้างในทะเลมีประมาณ 5,000 ลิตร เชื่อมั่นว่าไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะบริเวณหาดแม่รำพึง

ฝ่ายนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยคราบน้ำมันรั่วไหลกระจัดกระจายปริมาณ 14 ตารางกิโลเมตร คาดว่าต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ คราบน้ำมันจึงจะสลายไป

คืนวันที่ 27 มกราคม สื่อรายงานว่า เวลา 22.00 น. โดยประมาณ คราบสีดำเริ่มลอยไปเกยชายหาดแม่รำพึง

 

วันถัดมาคือวันที่ 28 มกราคม นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แถลงสรุปสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลว่าบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ ประเมินว่ามีการรั่วไหลไม่เกิน 50,000 ลิตร

นายชาญนะแถลงปิดท้ายว่า ขณะนี้ได้โปรยน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Dispersant) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้น้ำมันย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียธรรมชาติตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ประกอบกับกระแสลมและกระแสน้ำค่อนข้างนิ่ง ทำให้สามารถควบคุมการกระจายตัวของน้ำมันได้ค่อนข้างดี คาดว่ามีปริมาณน้ำมันเหลือในทะเลประมาณ 4,000 ลิตร

ในระหว่างนั้นสื่อรายงานอ้างถึงเหตุที่บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ คำนวณน้ำมันรั่วในปริมาณ 400,000 ลิตร ว่าเป็นการคำนวณในความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดและดำเนินการในเวลากลางคืน ต่อมาช่วงเช้าประมาณการใหม่ว่ามีจำนวน 160,000 ลิตร และเมื่อส่งนักประดาน้ำสำรวจรอยแตก ประเมินว่ารั่วไหลไม่เกิน 50,000 ลิตร

วันที่ 29 มกราคม สื่อรายงานว่าพบคราบน้ำมันทะลักใส่ชายหาดแม่รำพึงกินพื้นที่กว่า 3 ตารางกิโลเมตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองประกาศให้ชายหาดแม่รำพึงเป็นเขตประสบภัยพิบัติ ห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด และขอความร่วมมือร้านค้าทุกแห่งริมหาดปิดร้านทั้งหมดจนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

ส่วนเกาะเสม็ดอยู่ไม่ห่างจากชายหาดแม่รำพึง นักท่องเที่ยวพากันยกเลิกหลังรู้ข่าวน้ำมันดิบรั่ว เจ้าของรีสอร์ตพากันร้องจ๊ากโอกาสทองในช่วงเทศกาลวันหยุดตรุษจีนหายวับไปกับตา

วันที่ 30 มกราคม มีรายงานพบซากโลมาและเต่ากระลอยตายกลางทะเลใกล้ๆ กับหาดแม่รำพึง คาดว่าสาเหตุมาจากน้ำมันดิบรั่วไหล ส่วนแม่ค้าพ่อค้าก็พากันร้องโวยวายว่า ไม่มีปูปลาขายช่วงเทศกาลตรุษจีน เพราะชาวประมงพื้นบ้านหยุดออกเรือ

 

มีรายงานผลการศึกษาพบว่าตลอดช่วง 45 ปี ประเทศไทยเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลลงทะเลมากกว่า 235 ครั้ง

เหตุน้ำมันรั่วลงทะเลครั้งใหญ่เมื่อปี 2556 ได้สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศทะเลไทยอย่างมาก และจุดที่เกิดเหตุก็เป็นจุดเดียวกับบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ ทำน้ำมันดิบรั่ว

ที่ลำดับเหตุการณ์และให้รายละเอียดอย่างนี้เพราะต้องการให้เห็นว่า การให้ข้อมูลต่อสาธารณะมีความลักลั่น ไม่โปร่งใส ระบบการป้องกัน การรับมือกับอุบัติภัยน้ำมันรั่วในทะเลที่ขาดประสิทธิภาพ และความไม่ใส่ใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทำให้ทะเลไทยเผชิญกับหายนะอีกครั้งหนึ่ง