ภาคประชาชนชายแดนใต้และมุสลิมไทย สามารถหนุนเสริมต่อยอด ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

ภาคประชาชนชายแดนใต้และมุสลิมไทย

สามารถหนุนเสริมต่อยอด

ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน รวมทั้งผู้อ่านทุกท่าน

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจความเห็นประชาชน พอใจรัฐบาลบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เชื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน การจ้างแรงงาน และสินค้าทางการเกษตร

แน่นอนย่อมทำให้คะแนนนิยมต่อท่านที่กำลังขาลงดีขึ้นไม่มากก็น้อย

แม้ผลการเลือกตั้งที่หลักสี่ที่พรรคเพื่อไทยชนะ และพรรคพลังประชารัฐแพ้เลือกตั้งซ่อมทั้งสามสนาม

ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ได้สะท้อนถึงความสำเร็จทางการทูตเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ครั้งนี้ว่า ปฏิเสธมิได้ว่าเป็นผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของฝ่ายไทย ทั้งจากรัฐบาลทุกชุด

รวมไปถึงข้าราชการประจำ ภายใต้ ‘วิสัยทัศน์ 2030’ ของมกุฎราชกุมาร มูฮัมหมัด บิน ซัลมาน เปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาของซาอุฯ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ ที่เมื่อ 32 ปีที่แล้ว ซาอุฯ อันเฟรนด์ไทย

และการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ก็เกิดจากการ ‘แอดเฟรนด์’ มาก่อนของซาอุฯ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ความสัมพันธ์แบบเป็นทางการปิดตายลง ความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน-ประชาชน

และประชาชนไทยบางส่วน-รัฐบาลซาอุฯ กลับยังมีแบบแผนของมิตรภาพและความร่วมมือมาตลอด 3 ทศวรรษ ที่ภาคประชาชนต้องต่อยอดความสำเร็จต่อไป

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ได้มอบนโยบายให้ทุกภาคส่วนของรัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ วางแผนการดำเนินงานให้สำเร็จภายในสองเดือน (https://www.matichon.co.th/politics/news_3153089)

“ความสำเร็จและผลประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและมีส่วนร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ร่วมกันเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในมิติต่างๆ ให้มากขึ้น โดยความสำเร็จและผลประโยชน์สูงสุดที่ยั่งยืน อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนคนไทยทุกคน ที่จะช่วยกันรับลูกสานต่อความจริงใจและจริงจัง ในการรักษาไว้ซึ่งการฟื้นสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขาดหายไปกว่า 30 ปี ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมและได้ประโยชน์ร่วมกันในภาพรวม”

ทั้งนี้ กลุ่มภาคประชาชนชายแดนใต้และมุสลิมไทยสามารถหนุนเสริมต่อยอดความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ได้

โดยกลุ่มภาคประชาชนชายแดนใต้และมุสลิมไทยที่สามารถหนุนเสริมต่อยอดรวามสัมพันธ์ไทย ได้มีสามกลุ่มใหญ่

หนึ่ง สำนักจุฬาราชมนตรีและกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัด

สอง มหาวิทยาลัยฟาฏอนีภายใต้การนำ ดร.อิสมาอีลลุตฟี

สาม สมาคม/ชมรมอดีตนักศึกษาไทยในซาอุดีอาระเบียและอาหรับ

ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ กล่าวถึงสามกลุ่มดังกล่าวว่า

“กลุ่มของตัวแสดงที่มิใช่รัฐอันมีบทบาทสำคัญดังกล่าวนี้ โดยหลักแล้วก็คือ บรรดานักเรียนเก่าซาอุฯ ที่ยังคงมีปฏิสัมพันธ์เชิงความร่วมมือ การติดต่อแลกเปลี่ยน คบค้าสมาคม อยู่กับรัฐบาลและคนซาอุฯ ตลอดทั้งเครือข่ายผู้มีบทบาทสำคัญหลายท่านในสำนักจุฬาราชมนตรี และที่ลืมมิได้ คือ เครือข่ายมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่จังหวัดยะลา ที่มี ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา และวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นคีย์แมน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทุนของรัฐบาลซาอุฯ โดยกษัตริย์ซัลมานบริจาคให้กับพื้นที่ปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงราว 700 ล้านบาท เมื่อช่วงปี 2560-2561 เป็นต้นมา”

“โดยให้มหาวิทยาลัยฟาฏอนีกำกับ เพื่อดำเนินการสร้างศูนย์อิสลามผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส อัลซะอูด อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘อภิมหาโปรเจ็กต์’ สร้างเมืองใหม่บนพื้นที่ 1,121 ไร่ ชื่อว่า ‘มะดีนะตุสสลาม’ ขึ้นในแถบบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ไม่ว่าจะเป็นการมอบกล่องของขวัญให้กับพี่น้องชาวมุสลิมในปตานี/ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงเดือนรอมฎอนปี 2564 ภายใต้ชื่อโครงการ ‘ละศีลอด กษัตริย์ซัลมาน บิน อาซีซ’ ซึ่งติดตามมาด้วยการเยือน จังหวัดปัตตานี ของ ดร.ยูซุฟ บิน อับดุลลอฮฺ อัลฮัมมุดี้ ที่ปรึกษากิจการศาสนา สถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ในช่วงธันวาคม 2564 รวมทั้งการบริจาคอีกประปรายหลายเรื่องเพื่อสนับสนุนกิจการของพี่น้องมุสลิมไทยมาอย่างต่อเนื่อง”

“เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการต่างประเทศโดยใช้อำนาจอ่อน (soft power) ของซาอุฯ ต่อความสัมพันธ์ระดับประชาชน ไม่ใช่แค่กับไทย แต่กับอีกหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อรักษาสถานะอำนาจนำในโลกมุสลิม”

“เป็นสิ่งสะท้อนว่า ในขณะที่ความสัมพันธ์รัฐ-รัฐไม่ราบรื่น แต่ความสัมพันธ์ในระดับไม่เป็นทางการ ที่เชื่อมร้อยความผูกพันกับกลุ่มชนมุสลิมภายในไทยในเชิงสังคมวัฒนธรรมมิได้เสียหายถูกกระทบกระเทือนไปจากปัจจัยอันเป็นรอยร้าวเมื่อปี 2532-2533”

“นอกจากยังมีคนไทยที่เคยอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบีย (บางคนเกิดที่นั่น) แต่จำเป็นต้องกลับไทยประมาณ 5,000 คน นักเรียนนักศึกษาไทยในซาอุดีอาระเบียรวมทั้งคนไทยที่อาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียประมาณ 10,000 คน (สำหรับจำนวนที่แน่นอนอยากให้ทำการศึกษาเพื่อต่อยอดมิใช่เพื่อความมั่นคง) และหลายคนมากๆ ทำงานในหน่วยราชการ ภาคประชาสังคมในซาอุดีอาระเบีย”

“โจทย์ใหญ่คือความสามารถของรัฐบาลที่จะนำภาคประชาชนเหล่านี้ช่วยรัฐในการสานต่อนโยบายอย่างไรหลังจากนี้?”