ล่องแก่งลำน้ำปิง

 

ดังตำนานการเดินทางของพระนางจามเทวีที่เดินทางจากเมืองละโว้ เพื่อขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญไชย

“แก่ง” หมายถึง พืดหินหรือโขดหินที่กีดขวางทางน้ำ

เรือที่นิยมใช้ล่องน้ำปิงคือเรือแม่ปะหรือที่เรียกว่าเรือหางแมงป่อง

ส่วนแพที่ใช้ล่องแก่งเป็นแพลูกบวบทำด้วยไม้ไผ่จากป่า เอามามัดติดกันด้วยเชือกฟั่น ตรงกลางแพทำเป็นเพิงกันแดดยกพื้นมีฟากไม้ไผ่ปูทับแล้วลาดด้วยเสื่อกก ผนังและหลังคาทำด้วยใบตองตึง หรือใบสัก ห้องสุขาห้อยอยู่ข้างแพ ฝาเป็นเสื่อ

แต่ละแพจะใช้ลูกถ่อหรือคนถ่อแพ จำนวน 2 คน ลูกถ่อมือหนึ่งที่มีความชำนาญกว่า จะยืนบนแพด้านหลังเพื่อคอยคัดท้าย

ส่วนลูกถ่อมือรองจะยืนตรงหัวแพคอยค้ำหน้าแพเพื่อไม่ให้แพกระทบโขดหิน

การล่องแก่งจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและความชำนาญในการล่องน้ำปิงของลูกถ่อ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่าแก่งในน้ำแม่ปิง ทั้งในเขตแดนเมืองเชียงใหม่ และแดนเมืองตากล้วนเรียกรวมกันว่า “แก่งเชียงใหม่”

โดยทรงแบ่งแก่งเหล่านี้จำนวน 49 แก่งไว้เป็น 3 ระดับ คือ

“แก่งชั้น 1 เป็นแก่งลงยาก เรือใหญ่ขนาดเรือแม่ปะ มักต้องผูกเชือกโรยจึงลงได้ แก่งชั้นที่ 2 ปล่อยเรือแล่นผายลงได้แต่ต้องระวัง เพราะมีที่ร้าย ถ้าล่องไม่ดีจะโดนหิน แก่งชั้นที่ 3 ช่องกว้าง แต่น้ำเชี่ยว ผายเรือลงได้สดวก”

เส้นทางล่องแก่งช่วงที่อันตรายที่สุด คือ เส้นทางระหว่างเชียงใหม่ถึงตาก ซึ่งเต็มไปด้วยแก่งน้อยใหญ่ขวางอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ แก่งสะเรียง แก่งช้างร้อง แก่งวังวน แก่งผาม่าน แก่งสร้อย แก่งวังสิงห์ แก่งอุมหลุ แก่งอาบนาง แก่งอกม้า แก่งเสือเต้น และแก่งตะละน้อย

แก่งที่อันตรายที่สุดคือแก่งสร้อย มีฉายาว่าเป็นพ่อแก่ง ที่อันตรายมากเพราะบางตอนลำน้ำคดเคี้ยวและมีก้อนหินขนาดใหญ่เกะกะต้องระมัดระวังมาก มักจะมีแพแตกหรือเกยหินกลางแก่งเป็นประจำ

บริเวณแก่งสร้อยนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจอีก คือ มีธารน้ำตกที่ตกจากหน้าผา และเป็นพื้นที่ซึ่งมีร่องรอยของชุมชนที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย

เนื่องจากพบวัดอยู่ 4 แห่ง คือ วัดหลวง วัดนกยูง วัดเกษ และวัดแก่งสร้อย

แก่งอาบนาง เป็นแก่งที่อันตรายมากอีกแก่งหนึ่ง เพราะเป็นช่องเขาและมีความยาวมาก ทำให้น้ำไหลแรงและพุ่งเร็วเข้าหาหน้าผา ซึ่งบริเวณหน้าผามีหินตะปุ่มตะป่ำสีเทาปนดำ เรียกว่า “หินเท้าช้าง” ซึ่งคมมาก ทำให้แพแตกได้ง่ายๆ

เลยหินเท้าช้างมาจะเป็นผาอาบนาง กลางหน้าผามีหินย้อยคล้ายๆ กับฝักบัวมีน้ำพุพุ่งออกมาตลอดเวลา นักเดินทางมักใช้น้ำตรงนี้ดื่มกิน และล้างหน้า เพราะเป็นน้ำสะอาดและถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นน้ำที่เกิดจากการอธิษฐานของพระนางจามเทวีในครั้งที่เดินทางขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญไชย

เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณนี้พระนางต้องการที่จะสรงน้ำและสระเกศา แต่น้ำไม่สะอาดพอ จึงอธิษฐานว่าหากตนมีบุญญาธิการที่จะช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ขอให้เทวดาอารักษ์โปรดประทานน้ำบริสุทธิ์ให้

พอจบคำอธิษฐานก็มีน้ำเย็นใสไหลตกลงมาคล้ายฝักบัว หน้าผานี้จึงได้ชื่อว่า ผาอาบนาง

นอกจากนี้การล่องแก่งลำน้ำปิงยังมีอันตรายจากสัตว์ต่างๆ เช่น วังงูจงอาง ซึ่งบางครั้งมีงูเลื้อยขึ้นมาบนแพ และอันตรายจากท่อนซุงที่ล่องน้ำลงไปขาย หากเจอท่อนซุงใหญ่ในแก่งน้ำที่เชี่ยวมาก อาจถูกซุงพุ่งใส่เรือหรือแพทำให้แตกได้

ต่อมาในปี พ.ศ.2495 ได้มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงที่จังหวัดตาก เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและกักเก็บน้ำไว้สำหรับการเกษตร ซึ่งเขื่อนสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปรมาภิไธยชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล”

เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จทำให้น้ำท่วมแก่งทั้งหมด การล่องเรือจึงง่ายขึ้น

เส้นทางสายนี้จึงได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นการล่องเรือท่องเที่ยว

เริ่มต้นจากอำเภอฮอด เชียงใหม่ ถึงเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ซึ่งเป็นที่นิยมมากเมื่อหลายสิบปีก่อน

ปัจจุบันเริ่มคลายความนิยมลง เพราะมีการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นเข้ามาแทนที่