ธงทอง จันทรางศุ | ม้าลอด ม้าลอย ฟุตปาธ และกฎจราจร

ธงทอง จันทรางศุ

วันเวลาที่ผมกำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ ข่าวเรื่องคุณหมอกระต่ายถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์ซึ่งมีตำรวจขับมาด้วยความเร็ว และไม่หยุดให้คนข้ามตามกฎจราจรชนอย่างแรงขณะกำลังเดินข้ามถนนพญาไทตรงทางม้าลาย เป็นเหตุให้คุณหมอเสียชีวิต กำลังเป็นข่าวโด่งดังในประเทศไทย

ส่วนจะเป็นไฟไหม้ฟางหรือมีผลในระยะยาวอย่างไรต้องตามดูกันต่อไปครับ

อย่างไรก็ดี คงไม่สายเกินไปที่เราจะนำประเด็นเรื่องคนเดินถนนมาพูดกันในที่นี้สักครั้งหนึ่ง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดกันจริงจังแล้ว มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เรื่องนี้จะเกิดซ้ำซากอีกครั้งแล้วครั้งเล่าในบ้านเรา

สังเกตไหมครับว่า ถ้ามาเทียบคู่กันแล้วระหว่างคนที่ขับขี่ยานพาหนะกับคนเดินเท้าหรือคนเดินถนน คนเดินเท้าเดินถนนบ้านเรามีฐานะเป็นพลเมืองชั้นสองอย่างไรก็ไม่รู้

ในขณะที่คนที่ขับรถยนต์ชนิดต่างๆ เป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นรถราคาแพง คนขับรถก็อาจจะกลายเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งประเภทเกียรตินิยมไปได้ง่ายๆ

เสียดายที่ผมจำไม่ได้แล้วว่าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้นในประเทศใด แต่แน่นอนว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้มุสาครับ

เรื่องคือว่า ผมกับเพื่อนฝูงสามสี่คนไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกัน เราไปหยุดยืนอยู่บนฟุตปาธริมทางม้าลายแห่งหนึ่ง พลางสนทนาโต้เถียงกันว่าคณะเราจะทำอะไรต่อไปดี จะเดินไปทางไหนดีหนอ เชื่อไหมครับว่า รถยนต์ที่วิ่งมาบนท้องถนนเขาหยุดกึกลงที่ตรงทางม้าลายทุกคัน เพื่อรอให้เราเดินข้ามถนนแล้วเขาจึงจะขับเคลื่อนต่อไป

เราซึ่งเป็นคนไทยไปจากเมืองไทยรู้สึกเหมือนเห็นผีหลอกกลางวัน

เกิดมาเพิ่งเคยเห็นรถหยุดตรงทางม้าลายก็คราวนี้เอง

ทั้งๆ ที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเดินไปไหนต่อแน่ แต่เราทั้งโขยงก็ต้องข้ามถนนแล้วล่ะครับ จะไปทำกระบิดกระบวนไม่ยอมข้ามถนนไม่ได้เป็นอันขาด รถหยุดแล้วก็ต้องข้ามครับ

นี่เอง เราจึงได้เรียนรู้ว่า คนเดินเท้าที่ต่างประเทศนั้นยิ่งใหญ่มาก แค่ไปยืนอยู่ตรงริมฟุตปาธ มิทันต้องย่างเท้าลงแตะพื้นถนน รถก็หยุดโดยพร้อมเพรียงกันแล้ว

ฝ่ายข้างบ้านเราเมื่อทางม้าลายไม่ได้ผล เราก็ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็น “ทางม้าลอด” หรือ “ทางม้าลอย”

คำสองคำนี้อยู่ในพจนานุกรมส่วนตัวผมไม่เกี่ยวกับราชบัณฑิตยสภานะครับ

ทางม้าลอดนั้น ผมหมายถึงอุโมงค์ที่สร้างขึ้นเพื่อลอดถนนโดยเฉพาะ ผมนึกออกว่ามีอยู่เพียงแห่งเดียว คืออุโมงค์ที่ถนนพญาไท ซึ่งดูเหมือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกสตางค์สร้างขึ้น เมื่อปี 2516 เพื่อใช้เดินเชื่อมระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ฝั่งหนึ่งกับคณะนิเทศศาสตร์อีกฝั่งหนึ่ง ส่วนที่เป็นทางเดินลอดถนนและเชื่อมต่อกับระบบรถใต้ดินนั้นเนื่องจากไม่ใช่อุโมงค์ที่สร้างขึ้นเพื่อลอดถนนโดยเฉพาะ แบบนั้นเราจึงไม่นับนะครับ

ส่วนทางม้าลอยนั้น พวกเราคงนึกออกว่าผมหมายถึงสะพานสูงลิบลิ่วที่สร้างขึ้นสำหรับคนเดินข้ามถนน คนจะข้ามถนนแต่ละทีต้องเดินขึ้นบันไดไม่น้อยกว่า 30 ขั้นกว่าจะถึงส่วนที่เป็นทางเดินทอดข้ามถนนเพื่อไปลงบันไดอีก 30 ขั้นที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม กว่าจะกลับลงมาสู่พื้นราบได้ ขณะที่เราอยู่บนสะพานก็มองเห็นรถวิ่งฉิวไปมาอยู่ข้างล่าง ดูแล้วคนขับรถมีความสุขดีจังเลยครับ

ส่วนคนที่อยู่ในวัยอย่างผมก็หายใจหอบอยู่ข้างบนสะพานนั่นแหละครับ ต้องเลือกเอาว่า ถ้าไม่ถูกรถชนตายก็ต้องหัวใจวายตาย

ทางม้าลอยอย่างนี้ ถ้าเป็นผู้พิการนั่งเก้าอี้รถเข็น หรือถือไม้เท้ากระย่องกระแย่ง ก็เลิกพูดกันเลยนะครับ

เครื่องช่วยอย่างอื่นก็ยังมีอีกนะครับ เป็นต้นว่า เป็นไฟเขียวไฟแดงสำหรับคนข้ามถนนกดปุ่มให้สัญญาณเพื่อให้รถหยุด

คนที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของไฟเขียวไฟแดงและคิดว่ารถจะหยุดให้ข้าม ตายไปหลายสิบคนแล้วไง

นอกจากเรื่องทางข้ามถนนในจุดต่างๆ แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือความเรียบ ความปลอดภัย และหลักคิดเกี่ยวกับเรื่องฟุตปาธหรือทางเดินเท้าตามถนนหนทางทั้งหลาย

ผมน่าจะเข้าใจถูกต้องว่า เวลาภาครัฐในต่างประเทศลงทุนสร้างถนนในเมืองที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นหรือไม่หนาแน่นก็ตาม ฟุตปาธหรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่าบาทวิถี จะได้รับความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

เบื้องต้นในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งแน่นอนว่าผมหมายถึงความสม่ำเสมอไม่เป็นปุ่มปม มีความกว้างพอจะเดินเหินสวนกันได้สบาย มีไฟฟ้าส่องสว่าง ในหลายประเทศ ฟุตปาธของเขาเป็นระดับ ไม่เว้นวรรคหรือมีระดับขึ้นและลงเพื่อเว้นช่องไว้ให้รถสัญจรผ่าน หากแต่จะทำเป็นระดับฟุตปาธที่เสมอกัน ถ้ารถจะเข้าบ้านหรือเข้าตึก ก็ต้องขึ้นทางลาดหรือขึ้นเนินมานิดหนึ่งให้เสมอกับระดับของฟุตปาธจึงจะสัญจรผ่านไปได้

ในบางประเทศถ้าเขาจะทำเป็นระดับฟุตปาธที่ขึ้นลงและเว้นช่องให้รถสัญจรผ่านได้ ตรงตำแหน่งนั้นก็ต้องมีการทำทางลาดที่มีองศาพอเหมาะเพื่อให้ผู้ใช้ฟุตปาธที่มีรถเข็นหรือไม่สะดวกที่จะก้าวขึ้นขั้นต่างระดับสามารถใช้ทางเดินเท้านั้นได้โดยสะดวก

หลายท่านคงเคยเห็นมาแล้วเช่นกันว่า ถ้าเป็นถนนสายย่อย มีความกว้างไม่พอจะทำฟุตปาธเป็นการเฉพาะ หลายประเทศเขาใช้วิธีการตีเส้นแบ่งพื้นที่ถนนนั่นเอง เป็นพื้นที่ใช้สอยสำหรับคนเดินเท้า โดยไม่ต้องลงทุนยกระดับให้สูงขึ้น คนขับรถก็เข้าใจและไม่ล่วงล้ำก้ำเกินเข้าไปในถนนส่วนที่ตีเส้นไว้แล้วให้คนเดิน

ทั้งหมดที่เล่ามานี้คงพอเห็นแล้วนะครับว่า ประเทศส่วนใหญ่ล้วนให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าว่าเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ขณะที่คนขับรถนานาชนิดเป็นผู้ที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าให้ไปกระทบกระทั่งคนเดินเท้าได้เป็นอันขาด

ต้องไม่ลืมครับว่าพาหนะนั้นทำด้วยของแข็ง เป็นโลหะนานาชนิด บี้บดกันกับเนื้อหนังมังสาของมนุษย์เมื่อไหร่ ก็เดาไม่ยากว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ

เหล่านี้เป็นประเด็นเฉพาะเรื่องทางกายภาพของพื้นที่เดินเท้าซึ่งภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบนะครับ

เรายังไม่ได้พูดถึงกฎจราจร และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎจราจร ซึ่งเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนรับผิดชอบร่วมกันเลย

หลังจากเกิดเหตุคุณหมอกระต่ายเสียชีวิตไปเพียงสองวัน ที่ตรงทางม้าลายแห่งนั้น รถยนต์บางคันก็ไม่ได้รู้สึกรู้สากับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และก็ไม่ได้แยแสกับคนที่ข้ามถนนหรือจะข้ามถนนด้วย ยังคงขับตะบึงต่อไปข้างหน้าโดยไม่ได้ใส่ใจกับทางม้าลายที่อยู่ตรงนั้นเลย

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ผมอดนึกไม่ได้ว่า การละเมิดกฎจราจรในเรื่องใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องการหยุดรถให้คนเดินข้ามถนนที่ทางม้าลายนั้น เป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้จริงๆ หรือ

บ้านอื่นเมืองอื่นเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้สิครับ

เขามีสองแขนสองขาหนึ่งหัวสมอง เราก็มีเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน ทำไมจะทำไม่ได้เล่า

เอ๊ะ! หรือว่าเราขาดเราเกินอะไรไป ไม่เหมือนคนอื่น

เลิกอ่านหนังสือแล้วไปส่องกระจกได้แล้ว สัปดาห์หน้าค่อยกลับมาคุยกันต่อนะครับ