มนุษย์จะเป็นนายหรือทาสของ AI?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

มนุษย์จะเป็นนายหรือทาสของ AI?

 

เขียนเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI มาได้สองตอนแล้วก็ต้องจบตอนนี้ด้วยคำถามใหญ่ว่า

อะไรที่ Artificial Intelligence หรือ AI ยังทำแทนมนุษย์ไม่ได้

เพราะหากไม่รู้คำตอบต่อคำถามนี้ก็อาจจะมองไม่เห็นอนาคตของมนุษยชาติเลย

แต่ก่อนจะหาคำตอบจากหนังสือเล่มล่าสุดของ Ka-Fu Lee และ Chen Qiufan ที่ชื่อ AI 2041 ที่เพิ่งวางตลาดในประเด็นนี้

ต้องถามก่อนว่าการลงทุนใน AI ด้านไหนบ้างที่น่าสนใจจากนี้เป็นต้นไป

กล่าวเฉพาะตัว Kai-Fu Lee เองก็ต้องเข้าใจก่อนว่าเขาเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจ tech startups ชื่อ Sinovation Ventures

กองทุนนี้เน้นลงทุนไปใน 3 ประเภทธุรกิจคือ

Transportation หรือธุรกิจด้านยานพาหนะ

แน่นอนว่าที่กำลังเป็นที่จับจ้องของกลุ่มนักลงทุนคือ ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) หรือ AV ซึ่งวันนี้มีหลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้หันมาผลิตรถ EV (Electric Vehicles) หรือรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ช้าไม่นาน AV กับ EV ก็จะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

อีกด้านหนึ่งที่กองทุนนี้สนใจคือ

Smart Manufacturing หรือการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ และการผลิตอัจฉริยะ

ตัวอย่างเช่น รถ forklift แบบอัตโนมัติที่สามารถขับเคลื่อนและทำงานเองได้อัตโนมัติในโกดังโดยใช้คนน้อยที่สุด

กับหุ่นยนต์อัตโนมัติในโรงงานที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Healthcare หรือธุรกิจสุขภาพทั้งหลายซึ่งกำลังจะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งโดยมีเทคโนโลยีมาผลักดันให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

 

คําถามต่อมาคือ AI มีความปลอดภัยแค่ไหน?

ความกังวลหลักก็น่าจะเป็นเรื่อง Privacy หรือความเป็นส่วนตัว

เพราะถ้าข้อมูลมีกว้างขวางมากขึ้น และการเจาะล้วงข้อมูลส่วนตัวทำได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เรียกว่า cyber crime หรืออาชญกรรมด้านไซเบอร์ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงสำหรับทุกคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเป็นเหมือนดาบสองคม มีทั้งด้านที่ดีและเลวร้าย

หากเราสามารถควบคุม AI ได้ นั่นย่อมหมายความว่าเราสามารถออกกฎเกณฑ์กติกามาปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราได้

แต่หากเราปล่อยปละละเลย ยอมให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถเขียน Algorithm มาล้วงความลับส่วนตัวเราได้ นั่นย่อมหมายถึงอันตรายที่คาดไม่ถึง

มนุษย์เป็นทั้งเหยื่อของอคติหรือ Bias ของ AI ได้

ขณะเดียวกันเราก็สามารถสร้าง AI มาตรวจสอบความอคติ และลบล้างความไม่เท่าเทียมได้เช่นกัน

 

อีกคำถามใหญ่คืออาชีพงานการในอนาคตของมนุษย์จะเป็นอย่างไร

ในเมื่อ AI มาทดแทนคนในหลายๆ อาชีพได้อย่างน่ากลัว

คำถามที่ตามมาก็คือทักษะอนาคตแบบใดบ้างจะยังเป็นของมนุษย์

อีกคำถามหนึ่งคือเราจะสอนเด็กให้เติบโตขึ้นมามีอาชีพที่ดีโดยไม่ถูก AI ทดแทนได้อย่างไร

และคนที่มีอาชีพอยู่ในปัจจุบันจะอยู่รอดและปรับตัวในยุค AI ได้อย่างไร

จะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องรู้ก่อนว่า AI ทำอะไรไม่ได้บ้าง…เพราะนั่นจะทำให้ตอบได้ว่าคนเราจะยังมีงานอะไรที่แข่งกับมันได้

 

สิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้วันนี้ (ไม่ได้แปลว่าจะทำไม่ได้ในอนาคตหากมีการวิจัยและพัฒนาโดยมนุษย์ต่อไป) มีเช่น

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

เรายังเชื่อว่า AI ไม่สามารถที่คิดหรือทำอะไรใหม่ๆ และยังไม่สามารถพัฒนาความคิดอ่านด้านสร้างสรรค์เองได้

หรืออาจจะยังวางแผนวางยุทธศาสตร์ด้วยตัวเองไม่ได้ ยกเว้นเสียแต่ว่าในอนาคตมนุษย์จะสอนให้มันวางแผนเช่นนั้นได้

คำว่า “สามัญสำนึก” หรือ common sense ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์มี แต่เครื่องยนต์กลไกยังไม่มี

ยกเว้นเสียแต่ว่า AI จะมีความเป็นอัจฉริยะที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

อีกอย่างหนึ่งที่ AI ไม่สามารถสร้างได้คือการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Empathy

ซึ่งหมายถึงการเห็นอกเห็นใจคนอื่น

มนุษย์อยู่เหนือสัตว์ตัวอื่นก็ตรงนี้

แต่ AI ทำตามที่ถูกสั่ง ไม่สนใจว่าใครจะถูกใครจะผิด ใครได้เปรียบเสียเปรียบ

หากถูกเขียนโปรแกรมมาให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น

จึงมีความหวาดหวั่นถึงขั้นที่ว่าหากเขียนโค้ดมัน AI สังหารใครสักคนหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันก็จะทำตามนั้น

โดยไม่ตั้งคำถามว่าทำอย่างนั้นผิดศีลธรรมหรือผิดกติกาสากลหรือไม่อย่างไร

มนุษย์จึงยังมีความรู้สึกต่อเพื่อนร่วมโลกที่มีความเห็นอกเห็นใจและความห่วงใยคนอื่นได้มากกว่า AI แน่นอน

 

คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่ AI ยังพัฒนาไม่ถึงคือ “ความคล่องแคล่วว่องไว” ที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า Dexterity

แต่ผมคิดว่าข้อด้อยนี้ของ AI อีกหน่อยก็สามารถพัฒนาถึงระดับที่เทียบชั้นกับคนได้

เพราะมันเป็นเรื่องทางกายภาพ มิใช่ด้านอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสมบัติของมนุษย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร

สรุปว่าหากจับมนุษย์ยืนจังก้ากับ AI ก็จะเป็นการเผชิญหน้าระหว่างเรื่อง

ปฏิสัมพันธ์ด้านสังคมที่คนเก่งกับความไร้ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์ของ AI

อีกกรณีหนึ่งก็คือการปะทะระหว่างงานประจำหรือ routine กับความสามารถในการสร้างสรรค์หรือ creativity

มนุษย์ยังอยู่เหนือ AI ทางด้านความสามารถในการสร้างสรรค์

แต่ถ้าเป็นเรื่องรูทีน เรื่องการทำอะไรซ้ำๆ ละก็ มนุษย์แพ้ยับเยินตั้งแต่ในมุ้ง

ดังนั้น ถ้าถามว่าอาชีพอะไรในอนาคตที่จะหดหายไปสำหรับมนุษย์

และอะไรที่ AI จะมาทดแทนคน ก็พิจารณาตามเงื่อนไขที่ว่านี้ จะได้คำตอบ

 

Kai-Fu Lee วิเคราะห์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยการแยกงานในอนาคตเป็นกลุ่มๆ เช่น

งานกลุ่มที่ไม่ต้องใช้ทักษะทางสังคมและเป็นงานที่มีแบบแผนชัดเจน เช่น งานเจ้าหน้าที่ Call Center หรือพนักงานการตลาดผ่านทางโทรศัพท์ ผู้อนุมัติประกันภัย ผู้อนุมัติเงินกู้

มนุษย์จะถูกทดแทนโดย AI ในตำแหน่งงานเหล่านี้ค่อนข้างชัดเจน

แต่มีบางอาชีพที่มนุษย์กับ AI สามารถทำงานร่วมกันได้

เช่น งานกลุ่มที่ต้องใช้ทักษะทางสังคมสูงแต่เป็นงานที่ค่อนข้างมีแบบแผนชัดเจน

เช่น ครูหรือที่ปรึกษาความงาม รวมไปถึงนักวางแผนการแต่งงาน ผู้นำเที่ยว พนักงานต้อนรับโรงแรม

ยกตัวอย่างห้องเรียนในอนาคต

AI อาจดูแลการบ้านของนักเรียนและการสอบ การให้คะแนน เสนอบทเรียนมาตรฐานและการฝึกเรียนรู้สำหรับรายบุคคล

แต่ครูสวมบทเป็นโค้ชหรือพี่เลี้ยงที่คอยพูดคุยกับนักเรียน

และนำกิจกรรมที่ต้องพัฒนาด้านความฉลาดทางอารมณ์

AI อาจเสริม IQ แต่มนุษย์ยังคงไว้ซึ่งความสามารถด้าน EQ

 

งานอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะทางสังคมมากนัก เช่น นักวิจัย นักวิเคราะห์ นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน นักเศรษฐศาสตร์

ในกรณีนี้ AI จะช่วยเสริมสิ่งที่มนุษย์ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าของความคิดความอ่านให้ได้ประโยชน์สูงขึ้น

ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์อาจใช้ AI เพื่อเร่งความเร็วของการค้นพบวัคซีนและยา

หรือนักเศรษฐศาสตร์สามารถใช้ AI ออกแบบสวัสดิการรายบุคคล

และนักวิเคราะห์สามารถใช้ AI ประมวลฐานข้อมูลที่โยงใยจำนวนมากเพื่อใช้ในการวิเคราะห์

แต่หากเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางสังคม AI ยังไม่สามารถแทนมนุษย์ได้แน่นอน

อาชีพที่ยังจะอยู่กับคนต่อไปก็มีเช่นการเป็นผู้ประกอบการ

ผู้ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ

นักการตลาดและประชาสัมพันธ์

นักสังคมสงเคราะห์

ท้ายที่สุดหากมองให้ครบทุกมิติ โลกอนาคตอันใกล้นี้ก็น่าจะเป็นโลกที่มนุษย์อยู่ร่วมกับ AI ได้

 

หนังสือเล่มนี้สรุปได้ชัดเจนว่าในท้ายที่สุดการมาของ AI ควรจะทำให้มนุษย์ตั้งคำถามกับตัวเองว่า

แก่นแท้ของความเป็นมนุษย์นั้นคืออะไร

และเมื่อมนุษย์คิดประดิษฐ์ AI ขึ้นมาได้แล้ว จะใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชนอย่างไร

โดยที่ไม่ตกเป็นทาสของมัน

และอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างคุณค่าแห่งความเป็นคนที่ยังมีศักดิ์ศรีและศีลธรรมได้มากน้อยเพียงใด