มรณบัตร+อากาศพิษ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

มรณบัตร+อากาศพิษ

 

ถ้าสภาแห่งรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ผ่านกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดที่อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระบุในมรณบัตรถึงสาเหตุของการเสียชีวิตว่ามาจากมลพิษทางอากาศจะทำให้นโยบายว่าด้วยอากาศสะอาดของสหรัฐเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ เหมือนๆ กับอังกฤษที่เร่งปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมว่าด้วยคุณภาพอากาศให้เข้มข้นขึ้นเพื่อสุขภาพของชาวอังกฤษ

“แฮนดี้ สตีเฟน” ตัวแทนพรรครีพับลิกันของสภาท้องถิ่นรัฐยูทาห์ นำเสนอร่างกฎหมาย “HB109” เข้าสู่สภาฯ หลังได้รับรายงานข้อมูลผลการศึกษาวิจัยของทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ และมหาวิทยาลัยยูทาห์ สเตต พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่าง 2,000-8,000คน เป็นผู้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร

และสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากมลพิษทางอากาศในรัฐยูทาห์

 

นักวิจัยระบุว่า บริเวณแวซาตช์ ฟรอนต์ (Wasatch Front) เป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ติดกับแนวเทือกเขาร็อกกี้ประกอบไปด้วยเมืองซอลต์เลก, เวสต์ วัลเลย์, เวสต์, จอร์แดน, เลย์ตัน, อ็อกเดน และเมืองโปรโว่

แวซาตช์ ฟรอนต์มีชาวยูทาห์อาศัยหนาแน่นที่สุด แต่เนื่องจากอยู่ในหุบเขา เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน ประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนตัว คุณภาพอากาศค่อนข้างต่ำมาก บั่นทอนสุขภาพของผู้คนมานานแล้ว

มลพิษทางอากาศกัดเซาะอายุชาวยูทาห์ให้หดสั้นลงเฉลี่ย 2 ปี ประชากรของรัฐยูทาห์ได้รับผลกระทบนี้อย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ป่วยหรือผู้สูงวัย

ในการสำรวจความเห็นประชาชนแทบทุกครั้ง พบว่าปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ชาวยูทาห์ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ

เมื่อปี 2562 สภาแห่งรัฐยูทาห์ผ่านกฎหมายกำหนดให้ระบบขนส่งสาธารณะมีวันยกเว้นค่าตั๋วโดยสาร (free fare days) เพื่อสนับสนุนชาวยูทาห์ทิ้งรถยนต์ส่วนตัวไว้กับบ้านแล้วใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรี ในช่วงเวลาที่ตรวจพบว่าคุณภาพอากาศต่ำกว่ามาตรฐาน ใช้งบประมาณ 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 39 ล้านบาท)

สภาแห่งรัฐยูทาห์ยังให้ความเห็นชอบกับโครงการเปลี่ยนเตาถ่านไม้มาเป็นเตาแก๊สแทน งบประมาณ 14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาจัดสรรให้กับทุกครัวเรือนที่เปลี่ยนเตาตามสัดส่วนของรายได้

ในผลการศึกษาของทีมนักวิจัยยูทาห์ชี้ว่า การปรับปรุงคุณภาพทางอากาศในรัฐยูทาห์ขาดความน่าเชื่อถือและไม่ได้นำต้นทุนความเสียหายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศมาประเมินด้วย

 

ทีมนักวิจัยแห่งยูทาห์ยังรวบรวมข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่บ่งชี้ว่า เมื่อปี 2559 ชาวโลก 4.2 ล้านคนเสียชีวิตเพราะมลพิษทางอากาศ และอ้างคำพิพากษาของศาลแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2563 ที่ระบุสาเหตุการตายของ “เอลลา อาดู-คิสซี-เดบราห์” เด็กหญิงวัย 9 ขวบ เป็นเพราะมลพิษทางอากาศมาประกอบในผลศึกษาด้วย

หนูน้อยเอลลาซึ่งอยู่กับ โรซามันด์ อาดู-คิสซี-เดบราห์ ผู้เป็นแม่ในเขตลูวิเซิม ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอนเสียชีวิตเมื่อปี 2557

ช่วงระหว่าง 3 ปีก่อนสิ้นลม “เอลลา” มีอาการชัก หอบหืดอย่างรุนแรงต้องส่งโรงพยาบาล 27 ครั้ง

ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพหนูน้อยคนนี้พบว่าอยู่ในเขตที่พักอาศัยซึ่งมีก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ปริมาณเกินระดับความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกและสหภาพยุโรปกำหนดไว้

“เอลลาเสียชีวิตด้วยอาการหอบหืด มีส่วนมาจากการได้รับมลพิษทางอากาศเกินขีดจำกัด” เป็นถ้อยคำที่ระบุในผลการชันสูตรศพอย่างชัดเจน และนำไปสู่การพิพากษาของศาลกรุงลอนดอนว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเสียชีวิตของหนูน้อยเอลลา

คำพิพากษาในคดีเอลลา เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมอังกฤษอย่างแรง รัฐสภาอังกฤษเร่งรีบผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดเป้าหมายตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปรัฐบาลอังกฤษต้องควบคุมคุณภาพทางอากาศ และลดระดับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้ได้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

 

ย้อนกลับมาที่ร่างกฎหมาย HB109 ของนายแฮนดี้ซึ่งมีสาระสำคัญคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถระบุในใบมรณบัตรถึงผลการวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตว่ามาจากมลพิษทางอากาศ

หากสภาแห่งรัฐยูทาห์ผ่านร่างกฎหมายในปีนี้ นายแฮนดี้เชื่อว่าจะเกิดผลในด้านบวกทั้งในเรื่องของการเก็บข้อมูลคุณภาพทางอากาศจะชัดเจนแม่นยำและมีการศึกษาถึงผลกระทบจากอากาศเป็นพิษในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ สิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง

การศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดทำเป็นระบบมากขึ้นเช่นนี้ชาวยูทาห์จะได้ประโยชน์ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาและที่มารวมทั้งการป้องกันมลพิษทางอากาศ

 

คราวนี้หันมาดูเรื่องมลพิษทางอากาศในประเทศไทยกันบ้าง จากข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมาพาดหัวใหญ่ในหน้า 1 ว่า “Fight to breathe” แปลเป็นไทยๆ ได้ว่า สู้เพื่อลมหายใจ

บางกอกโพสต์นำประเด็นนี้มาเสนอผู้อ่านเพื่อสอดรับกับข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 เป็นประเด็นปัญหาที่ชาว กทม.เผชิญมาตลอด ทุกช่วงเดือนพฤศจิกายน ข้ามไปถึงมีนาคม

เป็นที่รู้กันว่าต้นเหตุนั้นมาจากควันรถยนต์ การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันพิษ รวมไปถึงควันไฟที่มาจากการเผาหญ้า เผาไร่อ้อย มันสำปะหลัง ประกอบกับอากาศในช่วงหน้าหนาวเข้ามาปกคลุมทำให้เหมือนครอบควันพิษไว้ในโดมขนาดใหญ่

ปัญหาฝุ่นพิษใน กทม.จะสิ้นสุดลงในหน้าฝน และก็ย้อนกลับมาใหม่ในปลายปี

เป็นปัญหาวนเวียนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้รัฐบาลมีแผนมาตรการป้องกันแก้ไขสารพัดสูตรแต่ไม่เคยเป็นผล

บางกอกโพสต์สัมภาษณ์ผู้คนที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ให้คำตอบเหมือนๆ กันคืออยู่ในสิ่งแวดล้อมอันเลวร้าย และมลพิษทางอากาศเป็นประเด็นที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้

นักวิชาการเสนอให้มีรัฐบาลและ กทม.จับมือกันลดมลพิษทางอากาศ ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ปลุกกระแสให้คนเลิกขับรถส่วนตัวหันมาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะแทน เรียกร้องให้เพิ่มระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้เพิ่มจำนวนสวนสาธารณะให้ได้สัดส่วนอย่างน้อย 13 ตารางเมตรต่อคน

ในตอนท้ายของข่าวบางกอกโพสต์อ้างถึงดัชนีคุณภาพอากาศโลก ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วกรุงเทพมหานครมีคุณภาพอากาศระดับสีเขียวหรือระดับปลอดภัย เพียงแค่ 90วัน หรือคิดเป็น 24.6 เปอร์เซ็นต์ของตลอดทั้งปี

ถ้าตัวเลขเป็นอย่างนั้น นั่นก็หมายความว่าสัดส่วนที่เหลืออีก 75.4% เท่ากับชาว กทม.สูดอากาศเป็นพิษไปเต็มๆ อายุเฉลี่ยของชาว กทม.จึงน่าจะหดสั้นลงยิ่งกว่าชาวยูทาห์?