ธงทอง จันทรางศุ | ถ้ารักใครมากพอ เราก็จะไม่โกรธใครคนนั้น

ธงทอง จันทรางศุ

วัยเด็กของผมเป็นวัยที่อัตคัดขัดสนของเล่นครับ

แต่ผมไม่เคยขัดสนหนังสือสำหรับอ่านเลย ด้วยเหตุผลข้อแรกว่าแม่ของผมเป็นนักเขียนนวนิยาย ในบ้านของเราจึงมีนิตยสารที่แม่เป็นนักเขียนเจ้าประจำวางอยู่ใกล้มือทุกเมื่อ

เมื่อแม่เป็นนักเขียนแล้วจึงไม่แปลกที่แม่จะเป็นนักอ่านตัวยงด้วย หนังสือที่แม่เคยอ่านเมื่อตอนแม่เป็นสาวก็ดี หรือแม่ซื้อหาเพิ่มเติมมาในชั้นหลังก็ดี ได้ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของผมทั้งสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น พ่อและแม่ยังเป็นธุระขวนขวายหาหนังสือที่เหมาะสำหรับวัยของผมมาเพิ่มเติมด้วย

ที่ยังจำได้และเก็บรักษาอยู่ในคลังหนังสือของผมก็อาทิ เรื่องดวงใจของคุณซิม วีระไวทยะ ชุดนิทานสำหรับเด็กซึ่งเป็นเรื่องแปลของฮัน คริสเตียนแอนเดอร์สัน และเรื่องของเมาคลีลูกหมาป่า

เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2510 ผมอายุได้ 12 ปี แม่ซื้อหนังสือเรื่องสี่แผ่นดิน ผลงานเขียนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ผมหนึ่งชุด เป็นหนังสือขนาดพ็อกเกตบุ๊ก ห้าเล่มจบ ราคาเล่มละ 8 บาท แปลว่าตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่องรวมราคา 40 บาท เงิน 40 บาทถ้าเป็นสมัยนี้กินก๋วยเตี๋ยวได้ครึ่งชามเท่านั้นครับ ใครจะเชื่อว่าเวลานั้นซื้อหนังสือสี่แผ่นดินได้จบเรื่อง

ชีวิตของผมในเวลาต่อมามีหนังสือสี่แผ่นดินฉบับพิมพ์ครั้งต่างๆ มาสู่ความครอบครองอีกสองสามชุด ดูละครเรื่องสี่แผ่นดินในโทรทัศน์มาก็หลายรอบ ไปดูละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดินมาตั้งแต่ครั้งที่คุณยุทธนา มุกดาสนิท เป็นผู้กำกับการแสดง ลงโรงที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อราวพุทธศักราช 2515 และล่าสุด ละครเรื่องสี่แผ่นดินที่รัชดาลัยก็ไปดูมาเหมือนกันครับ

ดังนั้น จึงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า เรื่องสี่แผ่นดินเป็นงานเขียนนวนิยายเรื่องหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของผมมาช้านาน ตัวละครในเรื่องนั้นทุกตัวก็คุ้นเคยกันหมดเลยครับ

พูดไปทำไมมี ตัวละครขนาดช้อยหรือพ่อเพิ่มนั้น เป็นเกลอกันกับผมเลยทีเดียว

“เยาวรุ่น” สมัยนี้ ได้อ่านความในย่อหน้าก่อนแล้ว หลายคนคงสรุปว่า ผมเป็นมนุษย์โบราณรุ่นดึกดำบรรพ์ จึงชอบอ่านนิยายที่คนสมัยนี้จำนวนหนึ่งแปลความว่า เป็นงานเขียนเชิงอนุรักษนิยม มีแม่พลอยซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องเป็นบุคคลในอุดมคติ เติบโตมาในรั้วในวัง มีค่านิยมที่ยึดมั่นอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำใจยอมรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลง

ผมไม่เถียงล่ะครับ ข้อหาที่ว่านั้นถ้ามาอภิปรายว่าจำเลยอย่างผมจะให้การว่าอย่างไรก็เห็นจะต้องพูดกันอีกหลายวันหลายคืน

แต่ผมอยากจะตั้งประเด็นใหม่ว่า สำหรับผมแล้ว ชีวิตของแม่พลอยซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องให้บทเรียนและแง่คิดสอนใจผมหลายอย่าง

ถ้ายกเอาเรื่องการบ้านการเมืองขีดเส้นใต้สองเส้นพักไว้ที่ไหนสักแห่งหนึ่งแล้ว ชีวิตของแม่พลอยก็ยังน่าสนใจอยู่ดี และน่าสนใจมากเสียด้วย

แม่พลอยในสายตาของผมเป็นตัวแทนของบันทึกเหตุการณ์ของสังคมในอดีต พร้อมกับที่เป็นตัวอย่างของชีวิตมนุษย์ที่มีทั้งสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไปอยู่เสมอ

เราต้องไม่ลืมว่าแม่พลอยไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พูนสุข ถึงพ่อจะเป็นพระน้ำพระยา แต่แม่ของพลอยก็ไม่ใช่เมียแต่ง ฐานะไม่แตกต่างจากเมียน้อยเท่าไหร่

ในขณะที่ลูกคุณหญิง มีคำนำหน้านามว่า “คุณ” ไม่ว่าจะเป็นคุณอุ่น คุณชิตหรือคุณเชย คนที่มีฐานะอย่างพลอยเป็นได้ก็แค่ “แม่พลอย” ไม่เป็น “นังพลอย” ก็ดีถมไปแล้ว

พลอยจึงเป็นที่รังเกียจของคุณอุ่นมาตั้งแต่ต้น และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้พลอยต้องออกจากบ้านไปอาศัยพระบารมีเสด็จอยู่ในวังหลวง

ตลอดทั้งเรื่องสี่แผ่นดิน เราจะได้เห็นทั้งความสุขและความทุกข์สลับกลับไปกลับมาอยู่เสมอ ได้เห็นความไม่จีรังยั่งยืนของทุกสรรพสิ่ง แม้กระทั่งในเรื่องชีวิตคู่

เราก็เห็นตัวละครในเรื่องอกหัก มีเมียที่ต้องซุกซ่อน มีการแต่งงานที่มีความสุขสมหวัง และการแต่งงานที่สุดท้ายกลายเป็นยาขม บางคนติดคุกติดตะราง และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับผม “สี่แผ่นดิน” จึงมีประโยชน์เพื่อใช้เป็นบทเรียนสอนใจตัวเองในหลายเรื่อง

ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งครับ ว่าด้วยเรื่องความรักและความอกหัก ซึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อพลอยรักกันกับพี่เนื่อง เป็นรักแรกในชีวิต แต่ต่อมาพี่เนื่องซึ่งเป็นทหารไปอยู่หัวเมืองก็เกิดไปได้เสียกับลูกแม่ค้าส่งปิ่นโตจนท้องไส้ขึ้นมา เมื่อเกิดเรื่องเช่นว่าขึ้น ช้อยเพื่อนรักของพลอย ถามพลอยว่าโกรธพี่เนื่องไหม

พลอยตอบว่า “ธรรมดาคนเรา ถ้ารักใครก็ไม่โกรธคนนั้น ถ้าโกรธก็แปลว่าไม่รักจริง”

ขณะเดียวกันพลอยก็อธิบายเพิ่มเติมว่า “…ฉันก็บอกช้อยแล้วว่าในชีวิตฉัน ฉันเคยพบความทุกข์มามาก ถึงในเรื่องพี่เนื่องฉันก็ไม่เคยประมาท เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าวันหนึ่งจะต้องลงเอยอย่างนี้…”

อ่านข้อความเพียงแค่สองสามบรรทัดข้างต้นแล้ว ผมก็เก็บเกี่ยวอะไรมาใช้ในชีวิตจริงของตัวเองได้มาก ในชีวิตของผมและของทุกคนคงผ่านพบประสบการณ์ที่เราผิดหวังหรือมีความไม่พอใจที่เกิดขึ้นจากคนผู้เป็นที่รักของเรามาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเตือนใจตัวเองอย่างความคิดของแม่พลอย ความโกรธในหัวใจจะบรรเทาเบาบางลงได้มาก พอได้สติระลึกรู้ว่าเราโกรธ ก็ต้องย้อนถามตัวเองต่อไปว่า นี่แสดงว่าเรารักเขายังไม่พอใช่ไหม

ถามตัวเองอย่างนี้แล้วก็เท่ากับเป็นเครื่องห้ามล้อและตั้งสติของตัวเองอีกรอบหนึ่งว่า เราจะทำอย่างไรกับความสัมพันธ์ที่ผ่านมาในอดีต ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีต่อไปในอนาคต จงใคร่ครวญดูให้ดี

สำหรับผมแล้ว ถ้ารักใครมากพอ ผมโกรธไม่ลงหรอกครับ

เรื่องเสียใจเรื่องผิดหวังนั้นอาจจะมีบ้างตามวิสัยปุถุชน ผมไม่ใช่พระอรหันต์นี่ครับ แต่ความเสียใจ ความผิดหวังนั้นในที่สุดวันเวลาก็จะช่วยเยียวยาให้เจือจางไปได้ แต่ถ้าโกรธถึงตัดเป็นตัดตายกันแล้ว วันเวลาก็ช่วยอะไรไม่ได้อีกแล้ว

คำถามที่สองที่ติดตามมาคือ ถ้าเราโกรธแล้วเราได้อะไรงอกเงยขึ้น ได้ความสุขอย่างไร หรือเราต้องสูญเสียคนที่เรารัก ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่คบค้ากันมาหลายสิบปี ลองชั่งน้ำหนักเปรียบกับการหักห้ามความโกรธ และรักษาใจของเราให้นิ่ง พร้อมกับเรียนรู้บทเรียนที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้า อย่างไรจะเป็นประโยชน์ยิ่งหย่อนกว่ากัน

คิดอย่างนี้แล้วผมเลยไม่ค่อยโกรธใครครับ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ฮา!

เห็นไหมครับว่าอ่านหนังสือเพียงหนึ่งเล่ม เก็บเนื้อความจากหนังสือเล่มนั้นเพียงไม่กี่ประโยคมาคิดต่อ ก็เป็นกำไรของชีวิตเราเองได้อีกมาก

หนังสือเล่มเดียวกัน แต่ผู้อ่านต่างคน ต่างมุมมอง อาจทำให้เราเห็นคุณค่าของหนังสือเล่มนั้นได้แตกต่างกันไม่น้อยเลยทีเดียว

เขียนมายืดยาว ข้อสรุปสั้นๆ วันนี้มีเพียงนิดเดียวครับ ถ้าผมรักใครมากพอผมก็จะไม่โกรธใครคนนั้น

เหมือนอย่างที่ผมรักรัฐบาลไงครับ โกรธไม่ลงจริงจริ๊ง