‘The Good Human’ (คลิปลูกคนรวย) : การตีความ 3 แบบ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘The Good Human’ (คลิปลูกคนรวย)

: การตีความ 3 แบบ

 

“The Good Human” หรือที่รู้จักกันในนาม “คลิปลูกคนรวย-คลิปเกิดเป็นลูกคนรวย” คือผลงานชิ้นล่าสุดของ “เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย” ผู้กำกับฯ วิดีโอเชิงพาณิชย์ฝีไม้ลายมือโดดเด่นแห่ง “แซลมอนเฮาส์” ซึ่งกลายเป็นคลิปไวรัลในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว

วิดีโอความยาวเกือบ 4 นาทีครึ่งตัวนี้ มีรูปแบบเป็น “คลิปสัมภาษณ์” นักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้ประสบความสำเร็จชื่อ “แวน ธิติพงษ์”

ทว่าเมื่อดูไปเรื่อยๆ ผู้ชมย่อมสามารถตระหนักได้ว่านี่คือ “บทสัมภาษณ์ปลอม/หนังสั้น” ที่ถูกเซ็ต/เขียนบท/จัดฉากขึ้น

ผู้รับบท “แวน ธิติพงษ์” ก็คือ “ณัฏฐ์ กิจจริต” นักแสดงหนุ่มผู้ฝากฝีมือไว้มากมายในภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอ และหนังโฆษณา ตลอดหลายปีหลัง (ผลงานล่าสุดของเขาคือการเป็นนักแสดงนำในหนังเรื่อง “4 Kings อาชีวะ ยุค 90’s”)

อย่างไรก็ดี จุดเด่นสำคัญสุดของวิดีโอชิ้นนี้คืออารมณ์จิกกัดเสียดสีในสไตล์ “เบนซ์ ธนชาติ”

เนื้อหาหลักๆ ของ “คลิปลูกคนรวย” มีจุดมุ่งหมายในการตอบโต้มายาคติ-นิทานชวนฝันว่าด้วย “คนรวยรุ่นใหม่” ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง พร้อมชุดความคิดคูลๆ เท่ๆ หล่อๆ

ธนชาติพูดผ่าน “แวน ธิติพงษ์” ว่าคนหนุ่มสาวผู้ร่ำรวยและประสบความสำเร็จเหล่านี้ ล้วนมีต้นทุนทางเศรษฐกิจอันสูงลิ่ว มีคอนเน็กชั่น-เครือข่ายอำนาจแวดล้อมที่เพียบพร้อม มีระบบกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองเสร็จสรรพ และต่อให้พวกเขาอาจล้มเหลวในการริเริ่มบุกเบิกอะไรใหม่ๆ นั่นก็จะเป็นเพียงการ “ล้มบนฟูก”

ขณะเดียวกัน วิดีโอยอดวิวสูงยังวิพากษ์วิจารณ์ “สื่อ” ซึ่งคอยทำหน้าที่สร้างเสริม “ภาพลักษณ์ด้านบวก” ให้แก่ชนชั้นนำดังกล่าว ผ่านกลยุทธ์ “ปากว่าตาขยิบ” คือพยายามปกปิดความเป็นจริงที่ไม่สวยงาม แล้วสร้างภาพฟุ้งฝันอันกลวงเปล่าไร้แก่นสารหน้ากล้อง

โดยส่วนตัว รู้สึกสนุกสนานกับการนั่งชมคลิป “The Good Human” มากพอสมควร แต่ก็อยากจะทดลองมอง/ตีความ/วิพากษ์งานชิ้นนี้ ผ่านแง่มุมที่แตกต่างกัน 3 แบบ

 

แบบแรก อยากทดลองมอง “คลิปลูกคนรวย” ในฐานะคนร่วมรุ่นร่วมชนชั้นกับคนทำวิดีโอ-คนดูจำนวนมากที่ชื่นชอบคลิปนี้ ทั้งยังแชร์โลกทัศน์คล้ายๆ กัน และไม่พอใจสภาพสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจปัจจุบันเช่นเดียวกัน

แต่กลับมองไม่เห็นเป้าหมายปลายทางชัดๆ ของวิธีการสื่อสารที่ปรากฏในวิดีโอชิ้นนี้

คำถามก็คือ คลิปของธนชาตินั้นจะมีสัมฤทธิผลในทางการเมือง หรือสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ ได้มากน้อยแค่ไหน?

พูดอีกอย่าง คือ จิกกัดเสียดสีในโซเชียลแล้วไงต่อ?

นี่คือคำถามสำคัญ เมื่อคำนึงว่ายังมี “เยาวชนคนรุ่นใหม่” อีกหลายคน ที่พูดเรื่องเดียวกันกับ “เบนซ์ ธนชาติ” (แถมอาจลึกซึ้งกว่า) ผ่านการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน/พื้นที่สาธารณะ จนถูกจับกุมดำเนินคดี และกว่าจะได้รับอิสรภาพ (พร้อมเงื่อนไขที่จำกัดเสรีภาพมากมาย) ก็แทบรากเลือด ไม่นับรวมคนที่ยังต้องโดนคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อไป

นี่คือคำถามที่ควรหาคำตอบ เมื่อพิจารณาว่ามี “นักการเมืองหน้าใหม่ๆ” บางราย ซึ่งกล้าอภิปรายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างถึงรากและพยายามเปิดเผยสายสัมพันธ์สลับซับซ้อนระหว่างรัฐกับเครือข่ายทุนใหญ่ในสภา แล้วโดนฟ้องร้องแบบขำไม่ออก

 

แบบที่สอง อยากทดลองมอง “คลิปเกิดเป็นลูกคนรวย” จากมุมของ “เพื่อนร่วมวงการสื่อ” แต่เป็นสื่อที่โบราณกว่าธนชาติและแซลมอนฯ ทั้งในเชิงเนื้อหา รูปแบบการทำงาน และวิธีการหาเงิน

คำถามก็คือ แม้คลิปจะมีลีลาเสียดสีล้อเลียนที่ทรงประสิทธิภาพ หากวัดจากยอดการมีปฏิสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าประเมินในทางธุรกิจแล้ว วิดีโอชิ้นนี้มีสัมฤทธิผลเป็นอย่างไร?

ในบริบทที่อย่างไรเสียเงินก้อนใหญ่ของประเทศนี้ก็ยังอยู่ในอุ้งมือคนรวยส่วนน้อยของประเทศ อยู่ในกระเป๋าของทุนใหญ่ อยู่ในงบประมาณของนักการเมืองผู้มีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาล

คนมีเงินเหล่านั้นไม่ได้พร้อมจะจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่สื่อที่วาดภาพพวกเขาเป็นเพียงตัวตลก ไม่ได้คาดหวังว่าภาพลักษณ์ของตนจะถูกแพร่กระจายไปในไวรัลคลิป แต่พร้อมโทร.ตามจี้ประกบสื่อสำนักต่างๆ ทันที ถ้าเนื้อหาด้านลบเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับตนเองถูกนำเสนอออกไป

หากเป้าหมายรายได้ขององค์กรสื่อเก่าๆ จำนวนหนึ่งอยู่ที่หลายร้อยถึงหลักพันล้านบาทต่อปี (อยากได้โปรเจ็กต์ที่มีมูลค่า 7-8 หลักหลายๆ โครงการ) เพื่อจะสามารถประคับประคองเพื่อนร่วมงานหลายร้อยหรือพันชีวิต

“คลิปลูกคนรวย” จะอยู่ตรงไหนในโจทย์ธุรกิจทำนองนี้?

หรือถ้าจะบอกว่าคอนเทนต์แนวจิกกัดมีศักยภาพในการซื้อใจผู้บริโภคได้ดีกว่า ก็คงต้องถามเพิ่มเติมว่า “ผู้บริโภค” ที่กล่าวถึงคือใครบ้าง? รวมประชากรวัยกลางคนและสูงอายุในกรุงเทพฯ ตลอดจนโหวตเตอร์แถวภาคใต้ด้วยหรือไม่?

 

แบบที่สาม เป็นการทดลองคิดต่อยอดจากผู้แสดงความเห็นรายหนึ่งในเฟซบุ๊ก ซึ่งวิเคราะห์ว่าผลงานล่าสุดของธนชาติกำลังล้อเลียน “ขนบการทำโฆษณาของเจนเอ็กซ์” ซึ่งกลายเป็น “ปทัสถานของสื่อไทย”

กล่าวคือ ด้านหนึ่ง ตัวละครเช่น “แวน ธิติพงษ์” ก็กำลังสะท้อนค่านิยมของคนทำสื่อ-ผู้บริโภครุ่นหลัง ซึ่งมิได้ต้องการอวยคนรวย-ผู้มีอำนาจ หรือแสดงความสงสารเห็นอกเห็นใจผู้ด้อยโอกาส แบบโรแมนติกฟูมฟายเกินจริง

ทว่าพวกเขากลับต้องการส่งสารที่ “ด่า” ชนชั้นนำผู้มั่งมีอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา

อีกด้านหนึ่ง ท่ามกลางการปะทะกันระหว่างผู้ผลิตสื่อที่มีวัฒนธรรม “เลี่ยงจะด่าผู้มีอำนาจ” กับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ “สร้างชื่อมากับการด่าผู้มีอำนาจ”

“คลิปเกิดเป็นลูกคนรวย” ก็คล้ายจะพยายามหาหนทางประนีประนอมให้แก่ความขัดแย้งข้างต้น ผ่านการใช้ “สารแบบคนรุ่นใหม่” แต่อ้างอิงรูปแบบ-วิธีการเล่าเรื่องแบบ “หนังโฆษณาเจนเอ็กซ์”

 

ผมอยากขยายความจากข้อสังเกตด้านบน (โดยนำไปเชื่อมโยงกับมุมมองแบบที่สอง) ดังนี้

ณ ปัจจุบัน แม้ “สารแบบสื่อเจนเอ็กซ์” จะดูล้าสมัยในทัศนะคนรุ่นใหม่ แต่ต้องยอมรับว่าสื่อกลุ่มนี้ยังสามารถอยู่รอดได้ ด้วยเม็ดเงินโฆษณาจากนายทุนเจนเอ็กซ์และรุ่นเบบี้บูมเมอร์

นี่คือความอยู่รอดที่มิได้พึ่งพาเพียงคอนเน็กชั่นแค่องค์ประกอบเดียว แต่อาจหมายความว่า “ต้นทุนทางวัฒนธรรม/ภูมิปัญญา” ที่ “สื่อเจนเอ็กซ์ (รวมถึงเบบี้บูมเมอร์)” เคยสั่งสมมา นั้นยังมีคุณค่าในสายตาคนจ่ายเงินรุ่นราวคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธว่าเมื่อมาถึงกลางทศวรรษ 2560 ต้นทุนเหล่านี้ได้ถูกใช้สอยจนร่อยหรอลงเรื่อยๆ ทั้งในภาวะที่สื่อต่างๆ ต้องทำงานแบบมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของผู้จ่ายเงินเป็นหลัก และในสภาพการณ์ที่สื่อต้องเลือกทำอะไรบางอย่างและไม่ทำอะไรอีกหลายอย่าง ตามสถิติชี้วัด-ตัวเลขหลังบ้านของบรรดาโซเชียลมีเดียข้ามชาติ

บนเส้นทางสายเดียวกัน “คลิปลูกคนรวย” อาจเป็นกระบวนการสั่งสม “ต้นทุนทางวัฒนธรรม/ภูมิปัญญา” ของ “สื่อรุ่นใหม่”

แม้ว่าการจิกกัดบรรทัดฐาน-ค่านิยมเดิมๆ ในวันนี้ จะไม่นำมาซึ่งเงินสนับสนุนก้อนมหาศาลอย่างฉับพลันทันใด แต่ในวันข้างหน้า นี่อาจเป็นวิธีการสื่อสารที่ “คลิก” กับคนรวยรุ่นถัดไป (ตัวละครนำผู้สารภาพ “บาป” ภายในคลิป) ซึ่งมีรสนิยม-วิธีการมองโลก แตกต่างจากพ่อแม่ของตน

ปัญหาน่าสนใจที่คงต้องทิ้งค้างเอาไว้ก็คือ ในอนาคต ชนชั้นนำ/คนรวยรุ่นใหม่ๆ จะมีวัฒนธรรมที่ผิดแผกจากมหาเศรษฐีรุ่นก่อน/ปัจจุบันเพียงใด?

และเป็นไปได้หรือไม่ที่คนมีเงินรุ่นหลังๆ ผู้เติบโตมากับเทคโนโลยีล้ำยุค จะยังพึงพอใจกับการเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้วยกลวิธีเชยๆ แบบโบราณ?