ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนแอนตี้โควิดในโลก (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนแอนตี้โควิดในโลก (จบ)

 

ดร.มาเรีย แวน เคอคอฟ นักระบาดวิทยาชาวอเมริกันผู้เป็นแกนนำด้านเทคนิคในการรับมือโควิด-19 ระบาดขององค์การอนามัยโลกให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ Newshour ของบีบีซีเมื่อ 7 มกราคมศกนี้ มีใจความสำคัญบางตอนว่า (https://www.bbc.co.uk/programmes/w172xv5jm59xz59) :

– น่าวิตกว่าการที่สายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอนระบาดควบคู่กันปลายปีก่อนต่อต้นปีนี้พร้อมกับโลกซีกเหนือเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่ผู้คนพากันอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่อับอากาศเพื่อความอบอุ่นจะทำให้โควิด-19 แพร่ระบาดหนักขึ้น ต่อให้สมมุติว่าโอมิครอนก่ออาการป่วยเบากว่าเดลต้าสักกึ่งหนึ่ง แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสิบเท่า ก็ย่อมเหลือวิสัยที่ระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาลในประเทศต่างๆ ซึ่งอ่อนล้าอยู่แล้วช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะรับไหว

– ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดให้แก่ประชากรได้ถึง 70% ในทุกๆ ประเทศภายในเดือนกรกฎาคม 2022 นี้

– แต่สภาพความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายวัคซีนแอนตี้โควิดซึ่งแปรตามระดับรายได้ของประเทศในโลกปัจจุบัน (ดูแผนภูมิด้านบนประกอบ) ทำให้เธอโกรธเคืองยิ่งที่สังคมโลกเราประสบความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์เร็วเหลือเชื่อในการประดิษฐ์คิดค้นวัคซีน แต่กลับล้มเหลวทางศีลธรรมจริยธรรมอย่างสิ้นเชิงที่จะจัดหาแบ่งปันมันอย่างสมส่วน เธอชี้ว่าจำเป็นต้องผลิตวัคซีนแอนตี้โควิดออกมาให้มากที่สุดและหลากหลายแหล่งที่สุดทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งการระบาดและความเดือดร้อนป่วยไข้ล้มตายเป็นใบไม้ร่วงของผู้คน

– อย่าได้ชะล่าใจว่าโอมิครอนจะเป็นการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์สุดท้าย ตรงกันข้ามขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังเพ่งเล็งแกะรอยสายพันธุ์ย่อย (subvariant) ของเดลต้าอยู่อย่างน้อย 30 สายพันธุ์ย่อยในที่ต่างๆ และในจำนวนนี้มีอยู่ 3 สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง

(กรณีการปรากฏของสายพันธุ์ย่อยเดลต้าในไทย ดู https://www.nationthailand.com/blogs/life/40005201 และข่าวการพบเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ล่าสุด “เดลตาครอน” จากสายพันธุ์เดลต้า+โอมิครอนผสมกันโดยศาสตราจารย์ Leondios Kostrikis ที่ไซปรัส https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-01-08/cyprus-finds-covid-19-infections-that-combine-delta-and-omicron)

แผนภูมิซ้าย : ร้อยละของประชากรที่ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดแยกตามระดับรายได้ของกลุ่มประเทศ & แผนภูมิขวา : ร้อยละของประชากรบางประเทศรวมทั้งไทยที่ได้ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างน้อย 1 โดสนับถึงวันที่ 7 มกราคม 2022 ข้อมูลจาก https://www.economist.com/graphic-detail/2022/01/04/most-covid-19-vaccines-have-been-used-in-rich-countries & https://www.thenewhumanitarian.org/maps-and-graphics/2021/coronavirus-humanitarian-update-map-data-vaccine-aid-response

ปมเงื่อนของการถ่ายโอนเทคโนโลยีวัคซีนแอนตี้โควิดให้ผลิตได้กว้างขวางและมากที่สุดที่ผ่านมาจน ปัจจุบันติดแหง็กอยู่ที่ปัญหาสิทธิบัตร (patent) ของบริษัทเอกชนผู้ผลิตวัคซีน จึงมีข้อเสนอให้ยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนแอนตี้โควิด (COVID vaccine patent waiver) เป็นการชั่วคราวในภาวะโควิดระบาดฉุกเฉิน ต่อองค์การอนามัยโลกตั้งแต่ตุลาคม 2020

ทั้งนี้ก็เพราะกลไกอื่นในข้อตกลง TRIPS (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ที่มีอยู่ อันได้แก่ :

1) มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing – CL) ในสถานการณ์อันมีเหตุให้ลดหย่อนผ่อนปรนเนื่องจากภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขดังที่บางประเทศรวมทั้งไทยเคยใช้ในกรณียารักษาโรคเอดส์เมื่อปี 2006-2007 (https://www.keionline.org/25989) และ

2) การอนุญาตให้ใช้สิทธิด้วยความสมัครใจ (TRIPS voluntary licensing – VL) นั้น

ทั้งไม่กว้างขวางเพียงพอ – ดังที่ข้อเสนอยกเว้นสิทธิบัตรครอบคลุมไม่เฉพาะวัคซีน หากยังรวมถึงชุดตรวจการติดเชื้อ การเยียวยารักษา อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ ที่จำเป็นแก่การป้องกันรักษาโควิด-19 โดยรวม

และไม่สอดรับกับขนาด ขอบเขตและความเร่งด่วนของการระบาดทั่วโลกด้วย – เนื่องจาก CL & VL ยุ่งยากซับซ้อนด้านบริหารจัดการมากจนแทบไม่เคยนำออกมาใช้ อีกทั้งกำหนดให้ต้องเจรจาขออนุญาตใช้สิทธิกับบริษัทเอกชนเจ้าของสิทธิบัตรเป็นรายประเทศและรายผลิตภัณฑ์ไปซึ่งกินเวลายืดเยื้อยาวนานและเป็นไปไม่ได้ที่จะประสานงานกันข้ามประเทศในสภาพที่การผลิตวัคซีนพึ่งพาสายโซ่อุปทานระดับโลก (http://www.ipsnews.net/2021/10/better-late-never-act-now/)

ขณะเดียวกันบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลายก็เร่งมือบ่อนทำลายข้อเสนอยกเว้นสิทธิบัตรฯ นี้โดยปลูกสร้างจัดวาง “พงรก” (thickets) ใหม่ๆ ของขวากหนามทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมา ด้วยการเสริมสร้างสิทธิผูกขาดของตนให้มั่นคงขึ้นอีกผ่านการจดทะเบียนสิทธิแต่ผู้เดียวเหนือการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมและข้อมูลปกปิดต่างๆ อาทิ ความลับทางการค้าเอย ข้อมูลการทดสอบเอย นอกเหนือไปจากสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์จำนวนมากสำหรับยาแต่ละขนานที่มีอยู่

นั่นแปลว่าทุกเชื้อมูลองค์ประกอบดังกล่าวเหล่านี้ล้วนแต่มีสิทธิบัตรแยกต่างหากของมัน ซึ่งแม้แต่กลไก CL & VL ในข้อตกลงที่องค์การการค้าโลกมีอยู่ก็อาจครอบคลุมมันไม่ทั่วถึงหมดด้วยซ้ำไป (https://www.washingtonpost.com/opinions/2021/04/26/preserving-intellectual-property-barriers-covid-19-vaccines-is-morally-wrong-foolish/)

ถึงแก่ เอียน บาซีร์ ผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์ศึกษาทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (CEIPI) ณ เมืองสตราสบูร์ก ฝรั่งเศส ชี้ว่า : “มันไม่ได้เป็นเรื่องของการยกเว้นสิทธิบัตรฉบับเดียวเหนือวัคซีนนะครับ แต่เป็นเรื่องของสิทธิบัตรนับร้อยๆ ฉบับ ผลสืบเนื่องของมันจึงไม่เพียงแค่เกี่ยวเนื่องกับไฟเซอร์ ไบออนเทคและโมเดอร์นาเท่านั้น แต่เกี่ยวกับผู้กระทำการทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เข้ามาแตะต้องข้องแวะกับสิทธิบัตรต่างๆ นานาเหล่านี้ไม่ว่าใกล้หรือไกล มันไม่ใช่เรื่องจิ๊บจ๊อยนะครับ”

(https://www.lemonde.fr/planete/article/2021/12/17/vaccins-contre-le-covid-19-le-debat-sur-la-levee-des-brevets-dans-l-impasse_6106439_3244.html)

ดีเดียร์ แชมโบวี, วินนี บีแยนีมา, โจนาส ซัลก์

สําหรับประเด็นข้อถกเถียงเรื่องการยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนแอนตี้โควิดชั่วคราว ปรากฏในวิวาทะระหว่างดีเดียร์ แชมโบวี เอกอัครรัฐทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำองค์การการค้าโลก กับวินนี บีแยนีมา ผู้อำนวยการบริหารองค์การ UNAIDS และรองเลขาธิการสหประชาชาติชาวยูกันดา ในรายการ Newshour ของวิทยุ BBC เมื่อ 1 มกราคมศกนี้ พอสรุปใจความสำคัญได้ดังต่อไปนี้ (https://www.bbc.co.uk/programmes/w172xv5j7x0lc3x) :

ดีเดียร์ แชมโบวี : เราไม่เชื่อว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าที่เรามีร่วมกัน ได้แก่ 1) สร้างผลประโยชน์จูงใจให้แก่บรรดาห้องทดลองวิจัยทั้งหลายที่จะสร้างและพัฒนานวัตกรรมประเภทวัคซีนและการรักษาเยียวยาใหม่ๆ ออกมา และ 2) เร่งรัดการผลิตวัคซีนขนานใหญ่โดยผ่านหุ้นส่วนระหว่างนวัตกรกับบริษัทหัตถอุตสาหกรรมคู่สัญญา

ค่าใช้จ่ายในการวิจัยจำนวนมากมาจากพื้นฐานเงินร่วมลงทุนภาคเอกชนในทศวรรษก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งเงินเหล่านั้นคงไม่มีมาถ้าหากยกเว้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อยึดเอาส่วนที่เป็นนวัตกรรมนั้นไปเสีย

สำหรับหุ้นส่วนระหว่างนวัตกรกับบริษัทหัตถอุตสาหกรรมคู่สัญญาเพื่อเร่งรัดผลักดันการผลิตวัคซีนนั้น จะมีมาได้ก็ต่อเมื่อนวัตกรพร้อมแบ่งปันข้อมูลสารสนเทศที่อ่อนไหวกับบริษัทหัตถอุตสาหกรรมผู้ผลิต นี่เป็นเรื่องยาก เข้าทำนองการแบ่งปันความลับทางการค้ากับคู่แข่งทีเดียว มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยบรรยากาศของความไว้วางใจกันซึ่งพึ่งพิงฐานการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้หุ้นส่วนได้ใช้เทคโนโลยีร่วมกันแบบ VL (voluntary licensing)

ด้วยระบบดังกล่าว อุตสาหกรรมยาก็สามารถรับมือการท้าทายใหญ่โดยประดิษฐ์คิดค้นและผลิตวัคซีนแอนตี้โควิดออกมาได้เร็วมากอย่างน่าอัศจรรย์ในชั่วปีเดียว

วินนี บีแยนีมา : ข้อแรกเลย บริษัทยามากมายหลายแห่งโลภโมโทสันและคดในข้องอในกระดูก อย่างข้อเท็จจริงที่แชมโบวีเสนอมานั้นก็เลือกสรรตัดตอนแล้ว ในกรณีวัคซีนแอนตี้โควิดนั้น เอาเข้าจริงข้ออ้างเรื่องตัวแบบทรัพย์สินทางปัญญากำลังทำให้สิ่งที่ควรเป็นสินค้าสาธารณะของโลกถูกขายเพื่อดอกผลของเอกชนไปเสีย

ตัวแบบทรัพย์สินทางปัญญานี้ล้มเหลวค่ะ ที่เราเห็นกันจะจะ ก็คือภายใต้ตัวแบบนี้ ทั้งที่เราทุ่มงบฯ หลวง ทุ่มภาษีของพลเมืองไปลงทุนในวัคซีนอย่างหนักแล้ว แต่กระนั้นก็ยังมีคนป่วยโควิดตายเป็นแสนเป็นล้านทั่วโลก บริษัทเอกชนที่ผลิตวัคซีนทั้งหลายนั้นน่ะ เอาเข้าจริงได้รับการอุดหนุนส่งเสริมจากเงินภาษีเป็นล้านๆ ถึงได้วัคซีนแอนตี้โควิดมา อย่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ร่วมกับบริษัทเอกชนแอสตร้าเซนเนก้า ก็ได้เงินหลวงอุดหนุน ลำพังแอสตร้าเซนเนก้าคงพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเองไม่ได้ ยิ่งบริษัทโมเดอร์นาด้วยแล้วแทบจะได้เงินภาษีพลเมืองอเมริกันอุดหนุนการคิดผลิตวัคซีนเต็มร้อยเลยทีเดียว (อนึ่ง ตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกโอนให้บริษัทยาทั้งหลายเพื่ออุดหนุนการวิจัยและผลิตวัคซีนแอนตี้โควิดตกราว 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ดังนั้น คำคุยเขื่องที่ว่าปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์เกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ของภาคเอกชนนั้นเป็นคำโกหกมดเท็จค่ะ เอาล่ะมันอาจจะจริงบางส่วน แต่ก็มีเงินงบประมาณสาธารณะอุดหนุนอยู่มากมาย วัคซีนแอนตี้โควิดนี้เอาเข้าจริงจึงเป็นสมบัติของประชาชนพลเมืองค่ะ

ข้อสอง การยกเว้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เราแสวงหา มีเหตุผลต้องตรงกับเป้าประสงค์ในข้อตกลงขององค์การการค้าโลกที่ว่าในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องมีสินค้าสาธารณะของโลกเพื่อแก้ปัญหาทั่วโลกนั้นก็พึงยกเว้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้ ข้อกำหนดเรื่องการยกเว้นนั้นมีอยู่และควรนำมาใช้

ข้อสาม นี่ไม่ใช่เรื่องต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการยกเว้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้านต่างๆ ทั้งสองอย่างไปควบคู่กัน ที่เราพึงต้องยกเว้นสิทธิดังกล่าวก็เพื่อเปิดช่องให้ผู้คนสามารถคิดประดิษฐ์นวัตกรรม สร้างสรรค์ ก่อสร้างและผลิตด้วยเทคโนโลยีวัคซีนที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องห่วงว่าจะถูกฟ้องร้องคดีความขึ้นศาลนั่นไงคะ

ข้อสี่ โจนาส ซัลก์ (ค.ศ.1914-1995) นักไวรัสวิทยาชาวอเมริกันผู้คิดประดิษฐ์วัคซีนโปลิโอแต่เลือกที่จะไม่จดสิทธิบัตรหรือแสวงหากำไรอันใดจากวัคซีนดังกล่าวเพื่อที่จะให้มันแพร่กระจายไปได้กว้างขวางที่สุดทั่วโลกนั้น เคยตอบผู้สื่อข่าวที่ถามว่าเขาควรได้ค่าตอบแทนอะไรบ้างไหมจากวัคซีนโปลิโอ? ว่า…

วัคซีนของเขาควรได้ค่าตอบแทนเหมือนดวงอาทิตย์นั่นแหละ เพราะมันต่างก็เป็นสินค้าสาธารณะของโลกด้วยกันทั้งคู่