เกม ‘ของแพง’ / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

เกม ‘ของแพง’

 

ตอนนี้ “ของแพง” มากเลยครับ

เห็นราคาสินค้าขยับราคาขึ้นแล้วสงสารคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาก

เหตุผลหนึ่ง คือ เพราะกระทรวงพาณิชย์ต้องรับผิดชอบดูแลราคาสินค้า

อีกเหตุผลหนึ่ง เป็นเรื่อง “กรรมเก่า”

“กรรม” คือ การกระทำ

เมื่อ 9 ปีก่อนสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” คุณจุรินทร์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ของแพง” อย่างต่อเนื่อง

โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว

ตั้งแต่ “แพงจริงๆ ครับ ปีที่แล้วกะหล่ำปลีกิโลละ 20 กว่าบาท แต่วันนี้กิโลละ 50 บาท ยิ่งถ้าปลอดสารกิโลละ 80 บาท เฉพาะเนื้อหมูหลายที่กิโลละ 150 บาทแล้วครับ”

ตามมาด้วยภาพการนั่งดูสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต

“เจอแต่ผีอีแพงทั้งนั้นเลยครับ”

หรือตอนที่ประชุมสภา

“กำลังประชุมสภาพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ 2556 ชี้ให้รัฐบาลเห็น “แพงทั้งแผ่นดิน” คือราคาสินค้า “ถูกทั้งแผ่นดิน” คือราคาพืชผลการเกษตร

คำว่า “แพงทั้งแผ่นดิน” ไม่ได้เพิ่งใช้ในปีนี้

คุณจุรินทร์ใช้มาก่อนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

ครับ โลกดิจิตอลวันนี้น่ากลัวมาก

ทำอะไรไว้ในอดีต

วันหนึ่ง “อดีต” นั้นมีโอกาสที่จะกลับมาหลอกหลอนคุณ

คุณจุรินทร์คงนึกไม่ถึงว่าวันหนึ่งจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

“หอก” ที่เคยทิ่มแทงคุณยิ่งลักษณ์จึงย้อนกลับมาเสียบอกตัวเอง

เพราะราคาสินค้าวันนี้แพงกว่าสมัย “ยิ่งลักษณ์” อีก

โดยเฉพาะ “ราคาหมู”

ถ้าจะเถียงว่าตั้ง 9 ปีราคาก็ต้องสูงขึ้น

อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เอาดัชนีผู้บริโภคเมื่อ 9 ปีที่แล้ว วันที่คุณจุรินทร์โพสต์ข้อความมาเทียบเคียงกับปัจจุบัน

สรุปว่าราคาสินค้าทั่วไปสูงขึ้นประมาณ 6.4%

เขาเทียบว่าราคาเนื้อหมู 150 บาท/ก.ก. เมื่อวันก่อนที่คุณจุรินทร์ไม่พอใจ

หากราคาสูงขึ้น 6.4% ก็เท่ากับ 160 บาท

อ.เดชรัตบอกว่าแค่ราคานี้คุณจุรินทร์ยังไม่พอใจเลย

แต่วันนี้หมูราคาพุ่งเกิน 200 บาทไปแล้วครับ

อย่าแปลกใจที่วันนี้ประชาชนจะไม่พอใจรัฐบาล

เพราะไม่ใช่แค่ “ผีอีแพง” อาละวาดเหมือนในอดีต

แต่ยกระดับขึ้นเป็น “ผีอีแพงมาก”

และ “ผีอีแพงฉิบ…”

“รุ่นพี่” ของ “ผีอีแพง”

 

ตอนนี้ค่าครองชีพของคนไทยสูงขึ้นมาก

ถ้าคนวัยทำงานในเมืองกรุงที่พึ่งพิง “อาหารจานเดียว” เป็นหลัก

ลองคำนวณดีๆ สิครับว่าค่าใช้จ่ายเรื่อง “อาหาร” ของเราเพิ่มขึ้นเท่าไร

สมมุติว่าข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคาจาก 40 บาทเป็น 50 บาท

ราคาขยับขึ้น 10 บาท จาก 40 บาท

คือ ขึ้นราคา 25% นะครับ

ถ้าเดือนหนึ่งเราใช้ค่าอาหารประมาณ 9,000 บาท

พฤติกรรมการกินเหมือนเดิมเราจะต้องควักกระเป๋าค่าอาหารเพิ่มขึ้น 2,250 บาท

ในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม

อย่าแปลกใจที่กระทรวงพาณิชย์จะภูมิใจที่ตรึงราคาบะหมี่สำเร็จรูปมาม่าไว้เท่าเดิมได้

คือ จะให้คนเปลี่ยนจากกินข้าวแกงมากิน “มาม่า” แทน

แค่ซองละ 6 บาทเท่านั้น

“มาม่า” นั้น ถ้าเป็น “คน” ก็เป็นคนที่มีบุญ

เพราะช่วยชีวิตคนไทยไว้มากมาย

เด็กนักเรียนนักศึกษาที่อยู่หอจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ช่วงปลายเดือน “มาม่า” คือ “พระเจ้า”

อย่างน้อยก็ได้ 1 อิ่ม

เมื่อราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นขนาดนี้ นอกจากการตะโกนด่ารัฐบาลแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำก็คือต้องหาวิธีการดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด

อิ่มอย่างไรให้ประหยัดที่สุด

ถ้ายังหนุ่มสาว อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัว

รายได้ยังเท่าเดิม ไม่ตกงาน

ลองเอา “ปัญหา” นี้มาทำเป็น “เกม” ก็สนุกดีนะครับ

เหมือนรายการเกมโชว์ของญี่ปุ่น

มีเงินเท่านี้จะอยู่รอดได้อย่างไรภายในเวลาที่กำหนด

พอคิดเป็น “เกม” ความคิดสร้างสรรค์ก็จะเกิด

ไม่ได้สนุกมาก

แต่ทุกข์น้อยลง

 

ผมนึกถึงตอนเด็กๆ อ่านคอลัมน์ “ขบวนการแก้จน” ของ “ประยูร จรรยาวงษ์”

เขาคิดวิธีการประหยัดอย่างเอาจริงเอาจังมากนี้

จะใช้เงินน้อยที่สุดให้อิ่มท้องได้อย่างไร

มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำแม่น

เขาเสนอให้กิน “กล้วยแขก” กับ “โอเลี้ยง”

ผมจำราคาเป๊ะๆ ในสมัยนั้นไม่ได้

ประมาณว่า “โอเลี้ยง” แก้วละ 2 บาท

“กล้วยแขก” 3 บาท

รวมกัน 5 บาทได้ 1 อิ่ม

คุณประยูรบรรยายความอร่อยของการกินกล้วยแขกกับโอเลี้ยงอย่างละเมียดละไม

อ่านแล้วอยากกินเลย

เป็นความรู้สึกฝังใจ

จนโตขึ้น พ่ออนุญาตให้กินโอเลี้ยงแล้ว

สิ่งแรกที่ทำก็คือ พยายามหา “กล้วยแขก” มากินกับ “โอเลี้ยง” ให้ได้

อร่อยดีครับ

อิ่มด้วย

ไอเดียเรื่องกินอย่างไรให้อิ่มด้วยการใช้เงินน้อยที่สุด กลายเป็นเรื่องสนุกของผม

ตอนเป็นนักศึกษา ช่วงปลายๆ เดือน

ผมจะเล่นเกมนี้ประจำ

คิดตลอดว่าวันนี้จะกินอะไรให้อิ่ม

และประหยัด

แต่ที่ประทับใจที่สุดคือ ตอนขึ้นมาเรียนพิเศษกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งก่อนจะสอบเอ็นทรานซ์

เงินใกล้หมด

เพื่อนคนหนึ่งก็เสนอให้ต้ม “ข้าวต้ม” แทน “ข้าวสวย”

เพื่อประหยัดข้าว

ส่วนกับข้าว เพื่อนอีกคนสร้างสรรค์มาก

มันไปซื้อข้าวเกรียบกุ้ง “ฮานามิ” มาครับ

บอกว่ารสเค็มๆ คาวๆ กินกับข้าวต้มได้

เป็นเมนูข้าวต้มที่จำได้จนถึงทุกวันนี้