พลิกคดีฆ่าเสือโคร่ง ถลกหนัง-ขายนายทุน จับทันควัน 5 พรานป่า อ้างแค้นมาลอบกินวัว/อาชญากรรม / อาชญา ข่าวสด

อาชญากรรม / อาชญา ข่าวสด

 

พลิกคดีฆ่าเสือโคร่ง

ถลกหนัง-ขายนายทุน

จับทันควัน 5 พรานป่า

อ้างแค้นมาลอบกินวัว

 

ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าเรื่องราวเหล่านี้ยังเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย หลังจากที่มีการประโคมข่าวความผิดเกี่ยวกับการล่าสัตว์ป่าโดยเฉพาะกรณีเสือดำ ที่ศาลเพิ่งสั่งจำคุกเจ้าสัวหมื่นล้าน เปรมชัย กรรณสูต

แต่ก็ยังเกิดขึ้นอีกจนได้ สำหรับขบวนการล่าสัตว์ป่า โดยคราวนี้เกิดขึ้นภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยเจ้าหน้าที่พบซากสัตว์ป่าเป็นเสือโคร่ง 2 ตัวถูกฆ่าถลกหนัง พบเป็นฝีมือของนายพรานท้องถิ่น

เชื่ออย่างยิ่งว่าเป็นไปตามใบสั่งจากนายทุน ที่ต้องการหนังเสือไปประดับบารมี รวมทั้งชิ้นส่วนของเสื้อที่มากมูลค่า

และแน่นอนว่าสุดท้ายแก๊งพรานกลุ่มนี้ก็หนีไม่รอดเงื้อมมือเจ้าหน้าที่ ต้องติดต่อขอมอบตัว ยอมรับล่าเสือจริง แต่เป็นเพราะเสือมากัดวัวที่เลี้ยงไว้

ปฏิเสธว่าไม่มีใบสั่งจากนายทุน!!

แม้จะขัดแย้งกับแนวทางที่บรรจงถลกหนัง แต่ถือเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม

คำถามที่มากกว่านั้นก็คือทำอย่างไรจะสร้างจิตสำนึก ไม่ให้การล่าสัตว์ป่าเกิดขึ้นอีก!!

ล่า 5 พรานล่า-ถลกหนังเสือโคร่ง

เหตุการณ์สลดครั้งนี้ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา โดยระหว่างวันที่ 8-11 มกราคม นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สั่งการให้พนักงานพิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ 10 นาย นำโดยนายวันชัย สูนคำ พนักงานพิทักษ์ป่าฯ ลาดตระเวนตรวจปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ หลังจากรับแจ้งจากสายข่าวว่าจะมีกลุ่มบุคคลเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ป่า

โดยช่วงสายของวันที่ 9 มกราคม เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวนไปถึงป่าลำห้วยปิล๊อก หมู่ 4 ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ห่างจากเขตชายแดนไทย-พม่า ประมาณ 3-4 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตรวจพบกลุ่มควันไฟมาจากลำห้วย จึงซุ่มเข้าตรวจสอบ

พบกลุ่มบุคคล 5 คน ตั้งแคมป์อยู่ริมลำห้วย จึงแสดงตัวขอตรวจสอบ แต่ระหว่างนั้นสุนัขของกลุ่มพรานก็เห่าขึ้นมาทำให้ทั้ง 5 ใช้ความชำนาญเส้นทางหลบหนีไป

ตรวจสอบบริเวณแคมป์ พบซากเสือโคร่ง 2 ตัว ถูกยิงตาย แล้วแล่เอาเนื้อมาย่างไฟ หนังถูกถลกออก นำมาขึงให้แห้ง พบอาวุธปืน 4 กระบอก โดย 1 ในนั้นเป็นปืนลูกซอง 5 นัด ยี่ห้อวินเชสเตอร์ หมายเลขปืน 1526415 ของเจ้าหน้าที่ อปพร. พร้อมอุปกรณ์ 29 รายการ ถูกทิ้งอยู่ที่แคมป์ ทั้งปืน .22 และระเบิดปิงปอง

ใกล้กันพบซากวัว 1 ตัว ถูกนำมาผูกเอาไว้กับต้นไผ่ คาดว่าใช้เป็นเหยื่อล่อเสือโคร่ง ให้ออกมากินอาหาร ทั้งนี้ คาดว่าเสือดังกล่าวออกหากินตามแนวชายแดนไทย-พม่า

เจ้าหน้าที่จึงรวบรวมหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.ปิล๊อก เพื่อให้ติดตามกลุ่มนายพรานทั้ง 5 ในข้อกล่าวหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นพรานท้องถิ่น และจากการกดดันอย่างหนักในที่สุด พรานชุดแรก 4 คนก็เข้ามอบตัว ประกอบด้วย 1.นายกูกือ ยินดี ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย บุคคลบนพื้นที่สูง อายุ 37 ปี 2.นายจอแห่ง พนารักษ์ อายุ 38 ปี ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย บุคคลบนพื้นที่สูง 3.นายศุภชัย เจริญทรัพย์ อายุ 34 ปี และ 4.นายรัชชานนท์ เจริญทรัพย์ อายุ 30 ปี เป็นน้องชายของนายศุภชัย เจริญทรัพย์ และต่อมาสามารถจับกุมพรานคนที่ 5 ได้แก่ นายโชเอ ไม่มีนามสกุล อายุ 66 ปี ถูกดำเนินคดีถึง 10 ข้อหา

เป็นโทษหนักที่ต้องต่อสู้คดีกันต่อไป

อ้างต้องฆ่าเพราะมากินวัว

ขณะที่การสอบสวน ผู้ต้องหาให้การว่า ทั้งหมดมีอาชีพเลี้ยงวัว เมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมานั้น วัวของชาวบ้าน และกลุ่มผู้ต้องหาถูกเสือโคร่งมากิน และกัดตายไปร่วม 20 ตัว จึงตัดสินใจนำซากวัวที่ถูกเสือกัดตายมาเป็นเหยื่อล่อเสือออกมา

ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ยิงเสือเป็นปืนแก๊ปส่วนตัว ทั้งนี้ อาวุธปืนลูกซอง 5 นัด ยืมมาจากเจ้าหน้าที่ อปพร.เพื่อนำมาป้องกันตัวเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ อปพร.ซึ่งเป็นเจ้าของปืนคนดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเข้าไปร่วมล่าเสือโคร่งแต่อย่างใด

ขณะที่นายโชเอ ผู้ต้องหาที่เข้ามอบตัวคนที่ 5 ให้สัมภาษณ์เป็นภาษากะเหรี่ยงผ่านล่ามว่า ตนไม่รู้เรื่องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยอมรับว่าไปเลี้ยงวัวและอยู่ในกระต๊อบนั้นจริง ต่อมาวัวของตนเดินกลับลงมาด้านล่าง จึงเดินตามฝูงวัวลงมา แต่กลับลืมเอาเปลที่ผู้เอาไว้กลับมาด้วย ยืนยันว่าไม่รู้มาก่อนเลยว่าจะมีการวางแผนในการยิงเสือโคร่งในครั้งนี้

ด้านนายประสาท แดงเถิน ผู้ใหญ่บ้านบ้านปิล๊อกคี หมู่ 4 ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ เปิดเผยว่า ปกติชาวบ้านก็จะต้อนวัวต้อนควายขึ้นไปกินหญ้าบนยอดห้วย เช่น ตามป่าหมาก รวมทั้งพื้นที่พันไร่ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมนั้นเป็นคนขยันทำมาหากิน ไม่เคยมีพฤติกรรมในการล่าสัตว์มาก่อนแต่อย่างใด

ทุกคนไปสร้างกระต๊อบเอาไว้ในป่าเพื่อดูแลวัวควายของตนเอง ซึ่งเขาไม่ได้มีอาชีพเป็นนายพรานแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุตนเชื่อว่าเมื่อพบเสือมากินวัวของตนเองจึงใช้อาวุธปืนยิงเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เสือมากัดวัวกัดควายของชาวบ้านเท่านั้นเอง และไม่เคยคิดว่าเมื่อยิงแล้วจะเอาเสือไปค้าหรือนำไปขาย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ เพราะผลชันสูตรซากเสือโคร่งจากคณะสัตวแพทย์ พบว่าเสือโคร่งโดนยิงเข้าที่หัวอย่างเดียว ตัวแรกโดนยิงไป 12 รู เป็นลูกกระสุนลูกปลาย ตัวที่สองโดนยิงไป 4 รู จากลักษณะเป็นการจ่อยิง จึงเชื่อว่าเป็นความตั้งใจล่ามากกว่า ยิ่งกว่านั้นสภาพหนังเสือที่ถูกถลกอย่างประณีต แสดงถึงเจตนาต้องการประโยชน์จากซากเสือโคร่งให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไม่พบว่าเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิไม่เคยพบเสือโคร่งมาก่อน จึงอาจจะเป็นการขยายถิ่น หรือเป็นเสือที่อาศัยอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านแล้วเข้ามาหากินในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิที่มีชายแดนติดกัน

เชื่อว่าเสือทั้ง 2 ตัวอาจจะย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่อื่น และเข้ามาอาศัยหากินอยู่ในเขตอุทยานทองผาภูมิได้ประมาณ 1-2 เดือน และเมื่อกลุ่มนายพรานเห็นร่องรอยของเท้าเสือโคร่ง จึงร่วมกันวางแผนล่า

ขณะที่ศาลให้ประกันตัวโดยตีราคาหลักทรัพย์คนละ 1 แสนบาท

 

สู้คดีกันต่อไป

ละเมิดไซเตส-ย้อนคดีเสือดำ

อย่างไรก็ตาม ในคดีดังกล่าวไม่ใช่เป็นแค่คดีล่าสัตว์ธรรมดา เพราะเป็นความผิดตามอนุสัญญาไซเตส อย่างกรณีเสือโคร่งจัดอยู่ในระดับห้ามเด็ดขาด เพราะเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และเป็น 1 ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าควบคุมและใกล้สูญพันธุ์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบขยายผลถึงกลุ่มนายทุนที่ว่าจ้าง

เป็นเรื่องที่ระดับโลกจับตา

ทั้งนี้ กรณีการล่าสัตว์ ที่เป็นข่าวครึกโครมมากที่สุด ก็หนีไม่พ้นกรณีของนายเปรมชัย กรรณสูต เจ้าสัวแห่งอิตาเลียนไทย ที่เข้าไปล่าเสือดำภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 โดยพบซากสัตว์ป่าจำนวนมาก ประกอบด้วยซากเสือดำชำแหละแล้ว 1 ตัว น้ำหนัก 10.6 ก.ก. หนังเสือดำยาวจากหัวถึงสะโพก 83 ซ.ม. หนังเสือดำชำแหละแล้ว 1 ผืน หนัก 2.6 ก.ก. ความยาวจากหัวถึงหาง 1.48 ม. ซากไก่ฟ้าหลังเทา 1 ตัว หนัก 0.6 ก.ก. และเนื้อเก้ง จึงแจ้งข้อหานายเปรมชัยและพวก คุมตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.ทองผาภูมิ

ต่อมาอัยการสั่งฟ้อง นายเปรมชัย เป็นจำเลยที่ 1 นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 และนายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายเปรมชัย 16 เดือน นายยงค์ 13 เดือน นางนที จำคุก 4 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท โทษจำคุกรอการลงโทษ 2 ปี และจำคุกนายธานี 2 ปี 17 เดือน

อธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษา จำคุกนายเปรมชัย 2 ปี 14 เดือน จำคุกนายยงค์ 2 ปี 17 เดือน จำคุกนางนที 1 ปี 8 เดือน รอการลงโทษ และจำคุกนายธานี ทุมมาศ 2 ปี 21 เดือน

และในชั้นศาลฎีการะบุว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น และไม่มีเหตุต่อการรอการลงโทษ แต่ต่อมาได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกมาตรา 55 การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดในส่วนนี้

แต่ยังคงมีความผิดข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2562 ดังนั้น ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 คงจําคุก 2 ปี 14 เดือน นายยงค์ จำเลยที่ 2 คงจำคุก 2 ปี 17 เดือน นายธานีจำเลยที่ 4 คงจำคุก 2 ปี 21 เดือน

ส่งคุมขังในเรือนจำทันที

ซึ่งก็หวังว่าผลการตัดสินในคดีนี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้รับรู้โทษทัณฑ์ของการล่าสัตว์ป่า แต่สุดท้ายก็ยังเกิดขึ้นมาอีกจนได้

กลายเป็นคำถามว่าจะต้องมีมาตรการอย่างไร ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเช่นนี้อีก??