อีก 20 ปี AI จะฉลาดกว่ามนุษย์ไหม?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

อีก 20 ปี

AI จะฉลาดกว่ามนุษย์ไหม?

 

“ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI กำลังเปลี่ยนโลกไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง

เมื่อ 4 ปีก่อน Dr. Kai-Fu Lee หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกเขียนในหนังสือเล่มนี้ว่าจีนสามารถวิ่งไล่ทันสหรัฐอเมริกาในการสร้าง AI แล้ว

สร้างความตื่นเต้นไปทุกวงการ

หนังสือ AI Super-Powers : China, Silicon Valley and the New World Order

สร้างความตระหนักเรื่องการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจโลกอย่างมีสีสัน

วันนี้ เขาสร้างความเกรียวกราวอีกครั้งหนึ่งด้วยหนังสือเล่มใหม่

ดร.ลีมาจากจีนแต่เรียนหนังสือที่อเมริกา เตือนทุกคนว่าโลกกำลังจะถูก AI เขย่าอย่างรุนแรง

และทุกคนทุกอาชีพต้องเริ่มและวางแผนตั้งแต่บัดนี้ว่าจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่หนักหน่วงและกว้างไกลในโลกนี้อย่างไร

หนังสือเล่มใหม่ชื่อ AI 2041 ที่ผมกล่าวเกริ่นไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตั้งคำถามใหญ่ว่า

จะเกิดอะไรในปี 2041?

และบทบาทของ AI ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอย่างโดยพลัน เพราะต้องการจะเข้าใจทิศทางที่เขามองเห็น

ไม่ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าผมจะยังมีชีวิตอยู่เป็นสักขีพยานของความน่ามหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยีหรือไม่ก็ตาม

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไม่ผิดหวัง

เพราะ ดร.ลีชวน Chen Quifan นักเขียนแนวนวนิยายวิทยาศาสตร์มาร่วมเขียน

โดย 10 ตอนในหนังสือคือการวาดภาพจินตนาการว่า AI จะทำให้สังคมในเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองต้องปรับตัวไปอย่างไร

มีทั้งภาพแห่งจินตานาการผสมผสานกับแนวทางวิเคราะห์ของผู้ติดตามศึกษาและลงทุนในแวดวงปัญญาประดิษฐ์อย่าง ดร.ลีอย่างน่าติดตาม

และชวนฉงนนัก

 

หนังสือเล่มใหม่นี้ยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับทั้งภาคธุรกิจ และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์กับ AI ในอนาคตอย่างปฏิเสธไม่ได้

คนเขียนมองว่าในเวลา 20 ปีจากนี้ไป AI จะสามารถสร้างประโยชน์แก่สังคมได้อย่างครบถ้วน

ในช่วงระยะเวลา 20 ปีนี้ AI จะเข้ามาช่วยเหลือ และสร้างความ “ป่วน” หรือ disrupt งานหลายอย่างของมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจหรือสังคม

หมายความว่า ไม่มีใครไม่ว่าอาชีพใดหรือวัยไหนจะสามารถหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่โตกว้างขวางได้

เขาลองวางไทม์ไลน์ว่าอีก 10-16 ปีจากนี้ไป มนุษย์น่าจะพัฒนา AI ได้ถึงระดับดีเยี่ยม

และต่อจากนั้นอีก 5-10 ปีก็คือช่วงเวลาที่จะเพื่อสร้างการยอมรับ ทั้งการออกกฎหมายรองรับ AI อย่างเป็นระบบ

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านเทคโนโลยีและกฎหมายก็คือการใส่ความเข้าใจด้านศีลธรรมและจริยธรรมคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน

เพราะหากเทคโนโลยีขาดเสียซึ่งจริยธรรมและศีลธรรมแล้ว สังคมโลกอาจจะต้องเผชิญกับหายนะก็ได้

 

ดร.ลีคาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนคือการเติบใหญ่ของ e-commerce ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติ

คำถามใหญ่ที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะหาคำตอบก็คืออาชีพอะไรที่จะถูก AI สร้างความปั่นป่วนได้มากที่สุด

เนื้อหาของหนังสือตอกย้ำแนวโน้มที่เราเห็นอยู่ปัจจุบันนั่นคือเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ได้ในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มงานที่มีลักษณะทำซ้ำๆ หรืองาน routine ต่างๆ

ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นว่าเป็นอาชีพกลุ่ม Blue Collar หรืองานที่ใช้แรง

ดร.ลีเตือนว่าแม้อาชีพในกลุ่ม White Collar หรือกลุ่มพนักงานออฟฟิศหรือกลุ่มมนุษย์เงินเดือนก็ใช่ว่าจะอยู่รอดปลอดภัยทั้งหมด

เพราะอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีงานบางอย่างของกลุ่มนี้ที่ AI สามารถเข้ามาแทนที่ได้

โดยเฉพาะที่เป็นงานที่ทำซ้ำๆ หรือทำแบบที่มีความเหมือนกันจนกลายเป็นรูปแบบตายตัว

เช่น งานกรอกเอกสาร งานคำนวณรายรับ-รายจ่าย

ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นงานที่กดคีย์บอร์ดซ้ำๆ เลื่อนเมาส์ไปๆ มาๆ ในรูปแบบเดิมๆ

งานอย่างนี้ไม่ยากที่จะสอน AI ให้เรียนรู้

ไม่แปลกเลยหากถึงวันนั้นหุ่นยนต์อัตโนมัติจะสามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ออฟฟิศได้อย่างง่ายดาย

พอเกิดโควิด-19 ภาพนี้ยิ่งชัดขึ้น

งานของคนทำงานออฟฟิศถูกย้ายไปในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

เมื่อคนทำงานจากบ้านหรือที่ไหนก็ได้ AI ก็ถูกสอนให้ทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างคล่องตัว

ไม่ว่ามนุษย์เงินเดือนจะตระหนักมากน้อยเพียงใดว่าอาชีพตนเองกำลังถูกคุกคาม

หนังสือเล่มนี้บอกว่ายังมีงานอีกหลายอย่างในกลุ่มของ White Collar ที่ AI อาจจะยังไม่สามารถทำทดแทนได้ทั้งหมด

เช่น นักข่าว (Journalist) หรือนักเขียน

ใช่ AI อาจจะเขียนข่าวอากาศหรือรายงานผลการแข่งขันกีฬาได้ หรือเริ่มหัดเขียนรายงานขั้นพื้นฐานได้

แต่งานสัมภาษณ์ที่ต้องอาศัยไหวพริบและปฏิสัมพันธ์ของคนต่อคนนั้น AI ก็ยังไม่อาจมาแทนที่ได้ทั้งหมด

ยกเว้นเสียแต่ว่าคนเขียนหนังสือเริ่มขาดจินตนาการ ทำงานเข้าข่ายซ้ำซากและลอกเลียนสิ่งที่มีมาก่อน

หากเป็นเช่นนั้น AI ก็สามารถทำหน้าที่เป็นนักข่าว, นักเขียนหรือแม้แต่นักแต่งเพลงได้ด้วยซ้ำไป

คนกลุ่มอาชีพที่ต้องการความสามารถในการสร้างสรรค์ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา หรือกลุ่มอาชีพที่อาศัยความสามารถเฉพาะด้านทางความคิดและวิเคราะห์ AI ก็คงยังไม่สามารถทำได้ดีกว่ามนุษย์

คนในกลุ่มอาชีพที่ต้องอาศัยการสร้างทีม ความเห็นอกเห็นใจ การสร้างความเข้าใจกับผู้อื่นหรือการอ่านสภาพจิตใจของคนอื่น เช่น อาชีพทัวร์ไกด์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพก็ยังสามารถดำรงความเป็นตัวตนของมนุษย์ได้

เป็นไปได้ว่าอาชีพที่ต้องการ “ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์สุนทรี” ทั้งหลายทั้งปวงนั้นอาจจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นใน 20 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำไป

 

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคืออนาคตของหน้าที่งานการด้านต่างๆ จะเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า

ทางด้านการศึกษา หากครูรู้จักปรับตัวและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างฉลาดก็จะทำให้สามารถยกระดับการเรียนการสอนอย่างมหัศจรรย์

แต่หากคนในวงการการศึกษาปฏิเสธที่จะปรับตัว ยังดึงดันที่จะทำอะไรอย่างที่ทำอยู่วันนี้ อาชีพครูก็จะหมดความหมาย

เพราะนักเรียนในวันข้างหน้าไม่ต้องการ “ครู” ในรูปแบบวันนี้

แต่ต้องการ “โค้ช” หรือที่ปรึกษาการเรียนรู้มากกว่า

ในด้านบวก เราสามารถใช้ AI ออกแบบหลักสูตรการเรียนให้เหมาะสมกับครูและนักเรียนในแต่ละกลุ่ม

อีกทั้งยังสามารถใช้ AI ตรวจสอบความสามารถในการเรียนของเด็กแต่ละคนว่ามีความสามารถในการเรียนรู้ช้า-เร็วแค่ไหน เพื่อให้ครูสามารถจัดการบทเรียนและมอบหมายงานให้ถูกต้อง สอดคล้องกับความพร้อมและศักยภาพของแต่ละคน

ยิ่งไปกว่านั้น หากเด็กบางคนมีความชอบในตัวการ์ตูนต่างๆ ครูผู้สอนก็สามารถตั้งค่า AI ให้แสดงภาพการ์ตูน หรือตัว Avatar ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้สอนเด็กๆ แทน เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง

แต่ต้องยอมรับว่าการจะนำ AI ไปใช้ในด้านการศึกษาของแต่ละประเทศย่อมจะมีความสามารถในการปรับใช้ให้เหมาะสมได้แตกต่างกัน

ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม และการขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้ของแต่ละประเทศ

ขนาดของประเทศและจำนวนประชากรก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างนั้นอีกด้านหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์และอิสราเอลที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และมีความคล่องตัวสูงก็สามารถรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้งานได้รวดเร็วกว่า

 

ด้านสาธารณสุขก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ AI มีบทบาทสำคัญไม่น้อย

พอเกิดโควิด-19 ทำให้ข้อมูล (Data) ต่างๆ เริ่มหลั่งไหลเข้าไปในธุรกิจสาย Healthcare มากขึ้นอย่างฉับพลัน

Kai-Fu Lee มองว่าการนำข้อมูลป้อนให้ AI และ Machine Learning (ML) เรียนรู้เพื่อที่จะให้คาดการณ์หรือพยากรณ์โรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างแม่นยำ

ช่วยให้มนุษย์สามารถเตรียมการ หรือหาทางแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที

นี่เป็นเพียงบางส่วนของหนังสือและข้อเสนอแนะของนักเขียนทั้งสองต่อสังคมโลกที่กำลังตั้งคำถามอย่างร้อนรนว่า

 

AI จะเป็นส่วนเสริมกิจกรรมของคนหรือจะมากำกับควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์

คำตอบของผมหลังจากอ่านและติดตามแนววิเคราะห์ของนักเขียนหนังสือเล่มนี้ทั้งสองแล้วก็คือ

มันขึ้นอยู่กับมนุษย์เองจะยอมจำนน

หรือลุกขึ้นมาสู้ด้วยสมอง…ที่ AI มาทดแทนไม่ได้!

(สัปดาห์หน้า : AI ยังทำอะไรแทนมนุษย์ไม่ได้บ้าง?)