Kennardphillipps ศิลปินคู่ผู้เสียดสีสังคมด้วยภาพตัดต่อ / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Kennardphillipps ศิลปินคู่ผู้เสียดสีสังคมด้วยภาพตัดต่อ

 

ในตอนนี้ขอเล่าเรื่องศิลปินร่วมสมัยที่น่าสนใจกันต่ออีกตอน คราวนี้เป็นคิวของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญในโลกศิลปะที่มากันเป็นคู่

ศิลปินคู่นี้มีชื่อว่า kennardphillipps

ศิลปินคู่หูที่เกิดจากการรวมตัวของ ปีเตอร์ เคนเนิร์ด (Peter Kennard) และ แคต ฟิลลิปส์ (Cat Phillipps) สองศิลปินชาวอังกฤษผู้ทำงานในสื่อภาพถ่าย โดยในช่วงปลายปี 2002

ทั้งคู่เริ่มต้นร่วมกันทำงานศิลปะเพื่อแสดงการประท้วงต่อต้านเหตุการณ์การรุกรานและยึดครองอิรักโดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ด้วยผลงานที่ใช้เทคนิคการปะติด (Collage) และตัดต่อ (Montage) ภาพถ่าย เพื่อตีแผ่ให้ผู้คนเห็นถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในโลก

พวกเขาใช้ภาพถ่ายจากข่าวต่างๆ มาดัดแปลงให้เกิดความหมายใหม่ๆ เพื่อเปิดโปงและเสียดสีความฉ้อฉลทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ร่วมด้วยสหราชอาณาจักร อ้างเหตุผลในการก่อสงครามว่าอิรักมีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงและขีปนาวุธอยู่ในครอบครองจำนวนมาก อีกทั้งยังให้การสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายสากล และแอบซุ่มประดิษฐ์อาวุธนิวเคลียร์ (ซึ่งถูกเปิดเผยในภายหลังว่าไม่เป็นความจริง)

ก่อนหน้านั้น ปีเตอร์ เคนเนิร์ด เองก็เป็นศิลปินที่ทำงานในประเด็นทางการเมืองอย่างเข้มข้นจริงจังมานับตั้งแต่ปี 1960 แล้ว โดยเขาทำผลงานที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามเวียดนามในยุคสมัยนั้น

ต่อมาเขาเปลี่ยนเทคนิคการทำงานจากการวาดภาพมาเป็นการตัดต่อภาพถ่าย เพราะเห็นว่าสามารถแสดงออกถึงทัศนคติทางการเมืองของเขาได้อย่างจะแจ้งกว่า

ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่างเคนเนิร์ดและฟิลลิปส์ภายใต้ชื่อ kennardphillipps นั้นมีแนวคิดในการเผยแพร่ผลงานศิลปะในเชิงประท้วงเสียดสีทางการเมืองในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้, ไม่ว่าจะเป็นการแสดงงานในหอศิลป์, พิพิธภัณฑ์ หรือตามท้องถนน, ในเว็บไซต์ หรือในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่างหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร หรือโปสเตอร์ก็ตามที

พวกเขายังจัดเวิร์กช็อปการทำโปสเตอร์ ที่ช่วยสนับสนุนให้คนทั่วไปสามารถแสดงออกถึงความคิดและทัศนคติเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดในโลก ผ่านการสื่อสารด้วยภาษาภาพ (Visual Language) ได้อีกด้วย

 

ผลงานของ kennardphillipps เป็นเหมือนเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งกระแสความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานโปสเตอร์ของพวกเขาที่ถูกใช้ในการประท้วงทางการเมืองอยู่บ่อยๆ

“พวกเราไม่มองว่าผลงานของเรานั้นแยกตัวออกจากสังคมหรือความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เผชิญหน้ากับอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลก พวกเรามองตัวเองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในกระแสเคลื่อนไหวเหล่านั้น ด้วยการใช้พลังของภาษาภาพเป็นอาวุธในการประท้วง เราไม่ต้องการให้ผลงานของเราเป็นแค่ภาพประดับผนัง ตกแต่งฝาผนังสวยๆ หากแต่ต้องการให้ผู้คนหยิบฉวยมันไปใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขามากกว่า”

“เพื่อการนี้ นอกจากเราจะขายผลงานแบบจำนวนจำกัด (พร้อมลายเซ็น) ทางเว็บไซต์ เพื่อหารายได้มาเป็นทุนรอนในการทำงานแล้ว เรายังเปิดให้คนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดผลงานของเราในเว็บไปใช้ได้ฟรีๆ โดยเปิดรับบริจาคตามความสมัครใจเพื่อนำเงินไปใช้ในการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับสากลอีกด้วย”

ผลงานของพวกเขานอกจากจะใช้ภาษาภาพสื่อสารอย่างจะแจ้งตรงไปตรงมา ยังเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันเชิงเสียดสีอย่างเจ็บแสบแหลมคม ผลงานภาพตัดต่อหลายชิ้นของพวกเขามักนำเสนอภาพจิกกัดเสียดสีอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างโทนี่ แบลร์ หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช สองผู้นำที่ร่วมกันก่อสงครามอิรัก ในอากัปกิริยาและลีลาน่าขันขื่น

Know Your Enemy (2005), ภาพจาก https://bit.ly/3feeQAb

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Know Your Enemy (2005) ภาพตัดต่อที่นำเสนอภาพของโทนี่ แบลร์ กับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เดินโอบไหล่หันหลังให้เหยื่อชาวอิรักที่กำลังถูกทหารอังกฤษ (หรือไม่ก็อเมริกัน) กระทำทารุณกรรมอยู่ ราวกับจะเย้ยหยันถึงความเพิกเฉยต่อความรุนแรงและสงครามที่ทั้งคู่เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นก็ไม่ปาน

Photo Op (2005), ภาพจาก https://bit.ly/3FohDRI

หรือผลงานที่เป็นที่รู้จักที่สุดของพวกเขาอย่าง Photo Op (2005) ภาพตัดต่อที่นำเสนอภาพของโทนี แบลร์ กำลังยิ้มร่าถ่ายภาพเซลฟี่ตัวเอง โดยมีฉากหลังเป็นกองเพลิงควันโขมง ผลงานชิ้นนี้ได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นภาพที่นิยามความหมายของสงครามได้อย่างสมบูรณ์แบบ มันแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่ผู้คนทั้งหลายมีต่อความวุ่นวายที่ผู้นำประเทศของพวกเขาก่อขื้น

ราวกับจะเป็นการอุปมาว่า ผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างโทนี่ แบลร์ กำลังถ่ายภาพเซลฟี่อยู่หน้าเปลวไฟของสงครามที่เขาร่วมก่อขึ้นยังไงยังงั้น!

Cerebellum (2017), ภาพจาก https://bit.ly/3GlDUkB

kennardphillipps ระบุว่า พวกเขาทำผลงานชิ้นนี้เพื่อพยายามทำลายเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐว่าสงครามอิรักเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเขายังทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมนำไปใช้เป็นโปสเตอร์ในการประท้วงในการประชุมสุดยอดผู้นำโลก G 8 ครั้งที่ 31 ในปี 2005 ที่สกอตแลนด์ ที่อดีตนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ เป็นเจ้าภาพ

ในเวลาต่อมาภาพนี้ยังถูกใช้เป็นป้ายประท้วงโดยกลุ่ม CIRCA (Clown Army) กลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายต่อต้านเผด็จการโดยไม่ใช้ความรุนแรง

และยังถูกใช้เป็นใบปลิวประท้วงในงานมหกรรมแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์และความปลอดภัยนานาชาติ (DSEI) ที่ประเทศอังกฤษในปี 2005 อีกด้วย

ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เราเห็นว่า ถึงแม้ศิลปะไม่อาจจะหยุดยั้งสงครามได้ แต่ก็อาจย้ำเตือนให้เราตระหนักและจดจำได้ว่าสงครามนั้นเลวร้ายเพียงใด

 

นอกจากจะทำงานในเชิงประท้วงต่อต้านสงครามแล้ว kennardphillipps ยังทำผลงานที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

No Third Runway (2008), ภาพจาก https://bit.ly/33co3q7

ดังเช่นในผลงาน No Third Runway (2008) ภาพตัดต่อที่นำเสนอภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ กอร์ดอน บราวน์ กำลังย่างเท้าก้าวออกจากบ้านพักนายกฯ เลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ลงบนรันเวย์สนามบิน

kennardphillipps ทำผลงานชิ้นนี้เพื่อสนับสนุนการรณรงค์ของกลุ่ม Greenpeace ในการต่อต้านแผนการสร้างรันเวย์แห่งที่สามเพื่อขยายสนามบินฮีตโธรว์ ในลอนดอน ซึ่งบราวน์และพรรคการเมืองของเขาต้องการผลักดันให้สำเร็จ

การสร้างรันเวย์แห่งที่สามที่ว่า อาจทำให้สนามบินฮีตโธรว์กลายเป็นพื้นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร จากรายงานของกลุ่ม Greenpeace สนามบินฮีตโธรว์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 27 ตันต่อปี ซึ่งเท่ากับจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของ 57 ประเทศทั่วโลกปล่อยออกมา

ผลงานชิ้นนี้แสดงการเสียดสีผู้มีอำนาจในสังคมที่มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองโดยไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่เคยใส่ใจคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน หรือแม้แต่โลกที่ตัวเองอาศัยอยู่เลยแม้แต่น้อย

Un (2017), ภาพจาก https://bit.ly/3tl3LFJ

ท้ายที่สุดแล้ว ผลงานของ kennardphillipps แสดงให้เราเห็นว่า ศิลปะนั้นไม่สามารถแยกขาดออกจากสังคมและการเมืองได้เลย เพราะฉะนั้น แทนที่จะมัวหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องการเมือง ศิลปินควรจะกระโจนเข้าหามันมากกว่า เมื่อนั้น ศิลปะอาจมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในสักวันหนึ่ง ไม่มากก็น้อยน่ะนะ

ถึงแม้จะยังไม่มีข่าวดีว่า kennardphillipps มาแสดงงานในบ้านเราแต่อย่างใด แต่มิตรรักแฟนศิลปะก็สามารถเข้าไปชมผลงานของเขาและเธอที่เว็บไซต์ www.kennardphillipps.com กันได้ตามอัธยาศัย

 

ข้อมูลหนังสือ Art & Agenda: Political Art and Activism โดย Silke Krohn,

เว็บไซต์ https://bit.ly/3zTVcTA, https://bit.ly/3GlhbFp