ธงทอง จันทรางศุ | ‘สัญญา’ ในห้วงเลือกตั้ง

ธงทอง จันทรางศุ

ตื่นเช้ามาทุกวันนี้ถ้าเปิดอ่านหนังสือพิมพ์ก็จะพบคำสามสี่คำสลับกลับไปมา

คำแรกติดอันดับมาสองปีเต็มแล้ว คือคำว่า “โควิด-19” แถมเมื่อเร็ววันนี้ยังไปชวนเอาน้องชายชื่อ “เดลต้า” กับ “โอมิครอน” มาสมทบด้วยอีก

คำที่สองมาเร็วมาแรงแซงทางโค้งคือคำว่า “หมูแพง” ผู้สันทัดกรณีบอกว่าจะแพงอย่างนี้ไปอีกหลายเดือนครับ

ส่วนคำสุดท้ายคือคำว่า “เลือกตั้ง”

เพราะอย่างน้อยเวลานี้คนจำนวนไม่น้อยกำลังใส่ใจกับการเลือกตั้งซ่อมในหลายเขตเลือกตั้ง ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด บรรยากาศการหาเสียงเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

พร้อมกันนั้นหลายคนก็มองข้ามไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดบิ๊กเบิ้มคือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งของเมืองพัทยาโน่นแล้ว

ส่วนการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ หมอดูก็ว่ากันไปต่างๆ นานา สมาคมโหรยังไม่ตกลงเป็นที่ยุติครับ

พูดถึงการเลือกตั้งแล้วทำให้ผมนึกย้อนหลังไปถึงอดีตในสมัยตัวเองเริ่มเรียนวิชากฎหมายเมื่อปีพุทธศักราช 2516 ในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าสนใจที่จะขยายความว่าเมื่อผมเรียนหนังสืออยู่ชั้นปีที่หนึ่งนั้น วันที่เปิดภาคเรียนต้นเดือนมิถุนายน ประเทศไทยในเวลานั้นยังใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งตราขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2515 ตอนปลายปีอยู่ และยังไม่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เลย

แต่ถึงกระนั้นวิชาเรียนสำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งก็มีวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและวิชากฎหมายเลือกตั้งเป็นวิชาบังคับสำหรับนิสิตทุกคนต้องศึกษา

อาจารย์เจ้าของวิชาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะเชิญมาบรรยาย ครูของผมท่านนี้คือศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ เวลานั้นท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย เรียกได้ว่าท่านเป็นมือกระบี่หมายเลขหนึ่งของประเทศไทยในยุคนั้นก็ได้

นามสกุลของท่านฟังดูคุ้นหูไหมครับ ทำไมจะไม่คุ้นล่ะครับ ก็ท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันคือคุณดิสทัต โหตระกิตย์ นั่นอย่างไร ลูกชายของท่านคนนี้เดินตามรอยของท่านมาติดๆ

ทุกวันที่อาจารย์สมภพมาสอนหนังสือ ท่านจะแต่งกายด้วยสูทสีสวยงามมาพร้อมกับมาดเท่ของนักเรียนจบปริญญาเอกทางกฎหมายจากฝรั่งเศส และที่เหนือยิ่งกว่านั้นคือภูมิรู้ที่อัดแน่นด้วยหลักวิชาและประสบการณ์

ชั้นเรียนของเราดำเนินไปคู่ขนานกับบรรยากาศทางการเมืองที่คุกรุ่นขึ้นโดยลำดับ จนผ่านเดือนตุลาคม 2516 ไปแล้ว เกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2517 ชั้นเรียนของเราก็ยิ่งสนุกครับ

เพราะมีตัวอย่างให้เห็นสดๆ อยู่นอกห้องเรียน

จากความรู้และบทเรียนที่ผมได้รับจากวิชาทั้งสอง ประกอบกับประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้นตามวันเวลาและหน้าที่ รวมทั้งโอกาสสำคัญที่ผมได้ไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 ทำให้ผมมองเห็นการเลือกตั้งในแง่มุมที่หลากหลายรอบด้าน และเป็นเรื่องที่อยากจะนำมาสนทนาในวันนี้ครับ

ก่อนจะคุยกันถึงรายละเอียดเรื่องอื่นต่อไป เราต้องมาตกลงทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ประเทศที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยได้นั้น ต้องมีการเลือกตั้งโดยประชาชนผู้มีสิทธิมีเสียงได้ลงคะแนนแสดงความจำนงว่าเขาอยากได้ใครมาเป็นผู้ปกครอง

แต่บรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการเลือกตั้งเพียงประการเดียว ยังมีเรื่องอื่นๆ เป็นองค์ประกอบอีกมาก

อย่างไรก็ดี ผมอยากจะเปรียบว่าการเลือกตั้งเป็นบันไดขั้นต้นของวิถีประชาธิปไตย ถ้าไม่มีเลือกตั้งเสียแล้วก็อย่าพูดให้เหม็นขี้ฟันเลยว่าเป็นประชาธิปไตย

ข้อสำคัญไม่แพ้กันคือการเลือกตั้งนั้นต้องเป็นไปโดยสุจริต มีการแข่งขันที่เป็นธรรม มีกฎกติกาที่เอื้อให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองแห่งความเป็นประชาธิปไตย

แต่เดิมมาก่อนปี 2540 การจัดการเลือกตั้งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ทำให้เกิดความหวั่นเกรงและข้อครหาขึ้นว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่เพียงใด เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยอาจอยู่ในความครอบงำของฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยู่ในเวลานั้นได้โดยง่าย เมื่อพรรครัฐบาลลงสนามเลือกตั้งแข่งขันกับพรรคอื่นด้วยย่อมทำให้มีโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยจะมีความโน้มเอียงเพื่อเอาใจนายของตัวเองได้เป็นธรรมดา

ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงบัญญัติให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้น ด้วยความหวังว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะสามารถทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดการเลือกตั้งได้อย่างแท้จริง

ส่วนผลงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละชุดในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ข้อนี้ขอฝากไว้ในดุลพินิจของท่านผู้ชมครับ

ฮา!

การเลือกตั้งแต่ละครั้งถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนเงินไม่ใช่น้อย แต่ผมก็เห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าคุ้มราคา และถ้านึกให้ละเอียดลออแล้วจะพบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะภาครัฐเท่านั้น ประชาชนแต่ละคนที่จะออกจากบ้านเพื่อไปใช้สิทธิใช้เสียงของตนที่หน่วยเลือกตั้งเขาก็มีค่าใช้จ่ายของเขาอยู่เหมือนกัน ทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องเรือแพยานพาหนะ หรือค่าเสียเวลาที่เขาต้องหยุดการทำมาหากินเพื่อมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

แต่คนเป็นแสนเป็นล้านก็ยอมสละในส่วนนี้ เพราะอะไรหรือครับ

เพราะความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ความรู้สึกว่าหนึ่งเสียงของเราเท่าเทียมกันกับหนึ่งเสียงของคนอื่น และเมื่อทุกเสียงรวมกันแล้วจะเป็นเข็มทิศบอกอนาคตของประเทศ สิ่งเหล่านี้มีราคาและคุณค่าเกินกว่าจะกำหนดเป็นตัวเลขได้

การเลือกตั้งทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งซ่อมหรือการเลือกตั้งใหญ่ จึงเป็นบทเรียนประชาธิปไตยภาคปฏิบัติที่ประชาชนคนทั้งประเทศสามารถจับต้องได้ เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัว และส่งผลต่อชีวิตของเขาในระยะยาว

ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนฯ ในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น จะเรียกชื่อตำแหน่งว่าอะไรก็ตาม จึงก้าวเดินผ่านสนามเลือกตั้งเข้ามาด้วยพันธกรณีที่ผูกพันตนกับประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งว่าเมื่อตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแล้ว จะต้องพยายามจนเต็มกำลังเพื่อให้สิ่งที่ตัวเองสัญญาไว้เกิดผลสำเร็จ

พรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่สัญญาชุ่ยๆ ว่าจะทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างโน้น เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปแล้วกลับไปทำสิ่งที่ตรงกันข้าม หรือไปทำอะไรเลอะเทอะเหมือนจำอวดคั่นเวลาหน้าม่าน แบบมือปืนรับจ้างเป็นองครักษ์ ชาวบ้านเขามีสติปัญญาจะจดจำครับ

และเมื่อเขาจำได้ เขาก็ให้ศีลให้พร

พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ไม่รักษาคำพูด ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับชาวบ้าน หรือไปทำบ้าทำบออย่างที่ว่า ได้พรจากปากพี่น้องประชาชนที่กินเกลือกินปลาร้าเข้าไปทุกวันอย่างนี้

ขอจงได้เจริญขึ้นทุกวัน เทอญ