หัวใจคือไม่ตระบัดสัตย์/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

หัวใจคือไม่ตระบัดสัตย์

 

ยังจำงานสัมมนาที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เครือมติชน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วได้หรือไม่ ที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ พูดเอาไว้ทำให้ต้องย้อนนึกถึงวันเก่าๆ หลัง “22 พฤษภาคม 2557”

“เศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาก่อนโควิดระบาด คือตั้งแต่ปี 2559-2562 จนถึงวันนี้ ปีนี้เศรษฐกิจก็ยังคงติดลบ สถานะแบบนี้เป็นปัญหาใหญ่แน่นอน สถานการณ์ต่อไปข้างหน้าค่อนข้างลำบาก”

ไทยแลนด์ 2022 จึงต้องมากไปด้วย “ข้อจำกัด”

คำถามที่เป็นอมตะคือ “คสช.” คุณทำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อประโยชน์อันใดและเพื่อใคร

ถัดมาก็จะมีคำถามต่อไปอีกว่า ประเทศมีทหารเอาไว้ทำไม?

แต่ละคำถามไม่ได้กวน teen แต่ถามซื่อๆ ตรงๆ ถามด้วยความหวังให้ฉุกคิด ถามให้ศึกษาค้นคว้าเพื่อได้ข้อยุติเกิดสติปัญญา เป็นประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวม ถ้าหากเป็นการเดินทางผิดก็จะได้ไม่ผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

“ทหาร” มีไว้ป้องกันการรุกรานจากอริราชศัตรู ไม่ใช่มีไว้ให้ก่อการยึดอำนาจการปกครอง สถาปนา “รัฏฐาธิปัตย์” ด้วยกระบอกปืน ทหารมีสถานะเป็น “ข้าราชการ” เสมอข้าราชการอื่นๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปมีสิทธิที่จะสงสัยและตั้งคำถามเช่นกันว่า มีตำรวจเอาไว้ทำไม มีอัยการเอาไว้ทำไม มีตุลาการเอาไว้ทำไม มีองค์กรอิสระเอาไว้ทำไม

ทุกองค์กรถูกแบบมาเพื่อให้ทำหน้าที่เฉพาะด้านเฉพาะทาง

ทหารไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ “บริหารประเทศ” ดังนั้น เมื่อทหารทำรัฐประหาร นานาชาติจึงตั้งข้อรังเกียจว่าป่าเถื่อนไร้อารยธรรมไม่อยากคบค้าด้วย

 

หลังยึดอำนาจการปกครอง 22 พฤษภาคม 2557 เสร็จหมาดๆ “คสช.” ที่มี 3 ป.เป็นผู้นำก่อรัฐประหารนั่งยันนอนยันว่า “คสช.เข้ามาทำงานด้วยเหตุผลของความจำเป็น” เพื่อยุติความขัดแย้งที่ทำให้ระบบการเมืองปกติไม่สามารถเดินหน้าไปได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ย้ำไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งว่า “ไม่เล่นการเมือง”!

ประยุทธ์ ผบ.ทบ.และหัวหน้า คสช.แต่งเพลงและเปิดเพลงโฆษณาชวนเชื่อกรอกหูกันอยู่ทุกวันว่า …เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา…

แต่ “ชัยเกษม นิติสิริ” อดีตอัยการสูงสุดและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 1 ในแกนนำพรรคเพื่อไทยชี้ว่า ให้ดูประวัติศาสตร์ ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร มีใครบ้างที่วางมือแล้วกลับไปอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ทุกคนมีเจตนาอย่างเดียวกันหมดคือ เมื่อเริ่มแล้วต้องอยู่ต่อ แต่จะอยู่ต่อโดยตั้งพรรคของตัวเองหรือให้พรรคอื่นเชิดขี่หลังก็แล้วแต่

ยังมีอาจารย์สุจิต บุญบงการ ศาสตราจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกคนที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ “การพัฒนาทางการเมืองของไทย : ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” ตอนหนึ่งว่า

“สิ่งที่ รสช. (ก่อรัฐประหารเมื่อกุมภาพันธ์ 2534) ทำไม่ต่างไปจากบทบาทของทหารสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เท่าใดนัก คือยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่ทหารจะมีพรรคของตัวเองเพื่อมีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรและให้พรรคการเมืองสนับสนุนผู้นำทหารเป็นหัวหน้ารัฐบาล …การต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้รุนแรงขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม 2535 จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า พฤษภาทมิฬ”

แล้วรัฐประหารของ “รสช.” เมื่อกุมภาพันธ์ 2534 มีอะไรที่แตกต่างกับรัฐประหารของ “คสช.” เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

 

“คสช.” บอกชัดถ้อยชัดคำทั้งด้วยการแถลงข่าวและบทเพลงกรอกหูให้ผู้คนพากันวางใจว่า อยู่ไม่นาน ไม่สืบทอดอำนาจ ไม่ผูกขาดตัดตอน จนกระทั่งล่วงผ่านไป 3 ปีท่ามกลางความอึดอัดและอดทน “ไอลอว์” หรือโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนก็ได้ทำรายงานออกเผยแพร่ให้เห็นว่า 3 ปีของ คสช.มีอะไรที่เปลี่ยนไป

เป็น 3 ปี ที่มีการเปลี่ยนผ่าน

จาก “ตัวแทนประชาชน” ไปสู่ “รัฐราชการ”!

จากอำนาจที่ควร “กระจาย” ก็กลายเป็น “แช่แข็ง” เอาไว้ ไม่คายให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ตรวจสอบ และถ่วงดุลอย่างกว้างขวาง

มีรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ยกมือให้หัวหน้า คสช.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ที่ไม่มีคือ การปฏิรูประบบยุติธรรม ไม่มีการปฏิรูปตำรวจ ไม่ทำ ไม่สร้างวัฒนธรรมที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ

แต่เคร่งครัดกับธรรมเนียม “ผู้มีอำนาจต้องมาก่อน” และต้องตีความอย่างเคร่งครัดให้ “ผู้เป็นใหญ่-ไม่ผิด”

การบริหารประเทศตั้งแต่ยุค “คสช.” ต่อเนื่องจนถึงยุคสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “3 ป.”

นักการเมืองก็แค่ไม้ประดับในแจกัน

กลไกในระบบยุติธรรมกับองค์กรอิสระถึงยุคตกต่ำ ความขัดแย้งไม่ได้ยุติด้วย “ธรรม” กลับเลวร้ายกลายเป็น “การจองล้างจองผลาญ” ใช้อำนาจหน้าที่เอนเอียง จนถึงขั้นกลั่นแกล้งรังแกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและคนคิดต่าง

จึงมีปรากฏให้เห็นดาษดื่นที่คนคดเป็น “กรรมการ” คอยชี้ขาดตัดสินกรรมของผู้อื่น บางคนเคยทุจริตตั้งแต่เรื่องเล็กๆ จนถึงเรื่องใหญ่ มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเอารัดเอาเปรียบทุกลมหายใจ ไม่เคยให้ ไม่เคยเสียสละ เก็บรับเงินบาป สามารถทำขาวเป็นดำ พลิกดำให้เป็นขาว ประพฤติทุกอย่างตามที่กล่าวหาผู้อื่นว่า “ทุจริต”

นี่ถ้าโทษต้องประหารชีวิตและระบบยุติธรรมมีประสิทธิภาพจริง หลายคนคงต้องตายกันหลายครั้ง!!

รัฐประหารของทหารจึงเป็นความล้มเหลวของประเทศ

แม้แต่ในระบอบการเมืองที่แตกต่างอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน “ทหาร” ก็ไม่ได้มีเอาไว้ให้ “บริหารประเทศ”

 

ด้วยสภาพแวดล้อมที่ว่ามานี้ไม่ต้องสงสัยใดเลยว่า ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงระเนระนาดวิบัติขัดสน คนจนเพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านคน เป็น 10 ล้านคน

แรงงานไทยไม่พัฒนา ไร้วินัย คุณภาพต่ำ ความต้องการสูง

ต้นทุนทำธุรกิจสูง แทบทุกการอนุญาตที่ต้องใช้ลายเซ็นต้องจ่ายใต้โต๊ะแสนแพง คอร์รัปชั่นรุนแรง อันดับความโปร่งใสของประเทศไทยเสื่อมทรามลง

ถามจริงๆ ยังจะยอมให้คนตระบัดสัตย์ “ไปต่อ” อีกหรือ!?!!