เทศมองไทย : จากตัวเลขเศรษฐกิจ ถึงสภาวะทางการเมือง

รายงานภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาส ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อปฏิกิริยาในสื่อต่างชาติพอควร ด้วยเหตุที่ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งที่เป็นจีดีพีสำหรับ 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 3.5 เปอร์เซ็นต์ก็ดี หรือจีดีพีจำเพาะของไตรมาสที่ 2 ของปี ซึ่งขยายตัวสูงถึง 3.7 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2013 เรื่อยมา

อลิซ วูดเฮาส์ แห่งไฟแนนเชียล ไทมส์ สื่อสิ่งพิมพ์ของประเทศอังกฤษ นำเรื่องนี้ไปสอบถามความเห็นจากนักวิเคราะห์บางคน ที่ตรวจสอบรายงานชิ้นเดียวกันนั้น

แล้วตั้งข้อสังเกตบางประการเอาไว้เป็นปฏิกิริยาที่น่าสนใจทีเดียว

 

ตัวอย่างเช่น ความเห็นของ ยูจีเนีย ฟาบอน วิกโตริโน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคอาเซียนของธนาคารออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์ (เอเอ็นซี) ที่ชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพา “การค้าและการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ” อยู่หนักมาก ถึงสามารถขยายตัวในระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปีได้

เพราะตัวเลขอื่นๆ ที่เหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเลขอัตราการขยายตัวของการลงทุน ที่ขยายตัวน้อยที่สุดในรอบเกือบ 2 ปีก็ดี ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศก็ดี ยังอยู่ในระดับ “อ่อนแอ” อยู่มาก

ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ สศช. ประมาณการว่าจีพีดีของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะขยายตัวอยู่ที่ระหว่าง 3.5 เปอร์เซ็นต์ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ นักวิชาการของเอเอ็นซีรายนี้กลับเห็นว่า ทั้งปีการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะอยู่ในระดับเพียง 3.5 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประมาณการของทางการ

วิกโตริโน ชี้เอาไว้ด้วยว่า เมื่อมองไปในอนาคต หากจะให้การขยายตัวที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างยั่งยืน “การบริโภคภายในประเทศจำเป็นต้องกระเตื้องขึ้น”

เพราะถึงแม้ว่าในเวลานี้ การค้าและการท่องเที่ยว สามารถทำหน้าที่เป็นกันชนให้กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้สบายๆ

แต่ถ้าความต้องการภายในประเทศไม่กระเตื้อง การลงทุนภายในประเทศยังคงต่ำอยู่เหมือนเดิมอีกต่อไปก็จะกลายเป็นเครื่องปิดกั้นการขยายตัวต่อเนื่องของจีดีพีในอนาคตนั่นเอง

 

แกเร็ธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียของ “แคปิตอล อีโคโนมิคส์” ตั้งข้อสังเกตเอาไว้คล้ายคลึงกัน นั่นคือการที่การบริโภคของเอกชนลดต่ำลงเล็กน้อย เช่นเดียวกับการขยายตัวของการลงทุนก็ลดลงเช่นเดียวกัน แต่เลเธอร์เชื่อว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย “ยังไปต่อได้อีกเล็กน้อย”

เหตุผลของเลเธอร์ก็คือ เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของความต้องการในระดับโลกที่แข็งแกร่งต่อเนื่องทำให้การส่งออกของไทยจะยังกระเตื้องขึ้นต่อไป ในเวลาเดียวกัน นโยบายทางการเงินและการคลังซึ่งเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็มีส่วนหนุนเสริมต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

เลเธอร์ชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยในไทยยังคงอยู่เพียงแค่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ และเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้โอกาสที่จะเห็นดอกเบี้ยต่ำๆ เช่นนี้ต่อเนื่องไปอีกระยะก็เป็นไปได้สูง ในเวลาเดียวกันนโยบายทางการคลังก็ผ่อนคลายลงมากในช่วงปีที่ผ่านมา

สถานะทางการคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ซึ่งหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสามารถจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกในอนาคต “หากจำเป็น”

 

แต่ แกเร็ธ เลเธอร์ เห็นว่า เศรษฐกิจยังคงมี “สถานการณ์ทางการเมือง” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอยู่นั่นเอง เขาระบุเอาไว้อย่างนี้ครับ

“ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจในเวลานี้ก็คือ ความไม่แน่นอนของภาพรวมทางการเมือง ไม่เพียงแค่การเลือกตั้งจะถูกชะลอออกไปซ้ำแล้วซ้ำอีกเท่านั้น แต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่ของไทย ยังเปิดโอกาสให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งอีกด้วย

“มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะความไม่สงบครั้งใหม่ หากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งรู้สึกว่า รัฐบาลทหารไม่รักษาพันธสัญญาที่จะมอบประเทศกลับไปอยู่ในการปกครองของพลเรือน”

นี่ยังไม่นับคดีความทางการเมืองอีกหลายคดีที่มีโอกาสส่งผลสะเทือนทางการเมืองอยู่มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี เช่น คดีประวัติศาสตร์ “จำนำข้าว” เป็นต้น

บรรทัดหลังนี้ผมต่อให้เอง ไม่เกี่ยวกับ แกเร็ธ เลเธอร์ แต่อย่างใดขอรับ!