“มือถือ” กับ “การเรียนภาษาไทย”

ครั้งหนึ่งนานมาแล้วในสมัยที่ผู้เขียนเริ่มเรียนภาษาไทยนั้น จำได้ว่าอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในการสอนก็คือ กระดานดำกับชอล์ก

ส่วนอุปกรณ์สำคัญในการเรียนก็คือ กระดาษกับดินสอหรือปากกา

ขออนุญาตไม่ย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาที่นักเรียนยังใช้กระดานชนวนกับดินสอหินฝึกเขียนหนังสือ

ครูจะเขียนข้อความเต็มกระดาน แล้วนักเรียนก็ลอกข้อความลงบนกระดาษ

ครูบางคนก็อ่านข้อความให้ฟัง บางคนก็อธิบายเพิ่มเติม ถ้านักเรียนคนไหนลอกข้อความได้เก่ง อาจจะเพิ่มเติมข้อความที่ครูอธิบายลงไปอีกด้วยก็ได้ ถ้ายังจดไม่ทันก็สามารถจะร้องบอกครูได้ว่า “ครูขา อย่าเพิ่งลบค่ะ หนูยังจดไม่เสร็จ”

ต่อมากระดานดำก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็นสีเขียวบ้าง แต่เราก็ยังเรียกมันว่า “กระดานดำ” อยู่ดี ตามความหมายที่ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเก็บไว้ว่า

“กระดานใหญ่ทาสีดำหรือสีเขียว ใช้ชอล์กเขียน ใช้เป็นอุปกรณ์การสอน”

ต่อมาอุปกรณ์การสอนก็พัฒนาขึ้นตามความเจริญของเทคโนโลยี ใครยังจำ “กระดานขาว” หรือ “whiteboard” ได้ไหม อุปกรณ์ใหม่นี้ได้ช่วยชีวิตมิให้ครูต้องเป็นโรคหืดหอบเพราะฝุ่นชอล์กอีกต่อไป เพราะสามารถใช้ปากกาพิเศษที่เขียนข้อความได้และลบออกได้ด้วยโดยไม่มีฝุ่นรบกวน กระดานขาวบางชนิดก็สามารถแปะติดข้อความ หรือภาพ แล้วดึงออกได้

อันที่จริงทั้งกระดานดำและกระดานขาวก็ยังมิได้ล้มหายตายจากไปไหน โรงเรียนในต่างประเทศบางแห่งยังใช้กระดานดำแต่ใช้ชอล์กที่ปราศจากฝุ่น ส่วนกระดานขาวก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้

ใครยังจำ “เครื่องปิ้ง” เอ๊ย เครื่องฉายแผ่นใสได้ไหม ตอนนั้นครูสามารถตระเตรียมข้อความที่เคยเขียนบนกระดานมาไว้ในแผ่นใส แล้วฉายขึ้นจอได้

ครูบางคนก็ใช้เครื่องฉายสไลด์ ทำให้มีเวลาอธิบายและอภิปรายได้มากขึ้น

ส่วนผู้เรียนก็ยังคงใช้เทคโนโลยีเดิม คือ จดลงกระดาษด้วยดินสอหรือปากกา ทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่ก็ยังมีโอกาสร้องว่า “อาจารย์ครับ อย่าเพิ่งเลื่อนครับ ผมยังจดไม่เสร็จ”

จากนั้นก็มาถึงยุคคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมสร้างและฉาย “สไลด์” ที่เรียกกันว่า Power Point ที่เต็มไปด้วยลูกเล่นมากมาย อันที่จริงโปรแกรมอื่นๆ ก็ยังมีอีก แต่จะไม่ขอเอ่ยถึงในที่นี้

ในยุคแรกๆ ผู้เรียนก็ยังใช้เทคโนโลยีเดิม คือ การจด ต่อมาบางคนก็ใช้วิธีป้อนข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือแท็บเล็ตโดยตรง

แต่เมื่อมีอุปกรณ์ใหม่เกิดขึ้นคือ “มือถือ” หรือ smart phone ผู้เรียนก็เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ คือถ่ายภาพบนจอ หรืออาจจะบันทึกเสียงผู้สอนด้วยก็ได้

บางคนบันทึกไว้หมดทั้งภาพและเสียง หากมองในแง่ดีก็คือ จะได้มีเวลาฟังคำบรรยายและอภิปรายกันได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการบันทึก เมื่อกลับถึงบ้านก็ยังมีโอกาสทบทวนได้อีก

ที่พูดถึงนี้คือผู้เรียนประเภทต้องการความรู้มากกว่าใบรับรองความรู้เท่านั้น

ส่วนผู้ที่ไม่พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียน ต่อให้ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยเพียงใดก็ไม่อาจจะทำให้ “เรียนรู้” ได้

ในส่วนของผู้สอน ในฐานะที่สอนวิชาภาษาไทย สิ่งแรกที่ผู้เขียนบอกนักศึกษาก็คือ ขอให้ทุกคนใช้ smart phone ดาวน์โหลด (download) Application หรือ App ของราชบัณฑิตยสภา ๔ เรื่องคือ พจนานุกรมไทย (Thai Dictionary) อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร (Read and Write) ชื่อบ้านนามเมือง และ ภาษาอาเซียน (ASEAN Vocabulary) มาใช้ เพื่อให้เขียนอ่านภาษาไทยได้อย่างถูกต้องตามพจนานุกรม เขียนชื่อบ้านเมืองของประเทศต่างๆ เป็นอักษรโรมันได้อย่างถูกต้องตามที่ประเทศนั้นๆ กำหนด และเรียนรู้ศัพท์จากภาษาอาเซียนอีก ๙ ภาษา เปรียบเทียบกับศัพท์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วย

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ตรวจสอบความรู้ภาษาไทยจากเว็บไซต์ (web site) ต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณ แล้วอภิปรายกันอย่างมีเหตุผล เพื่อพิจารณาว่าข้อความใดเชื่อถือได้เพียงใด และทำให้สรุปความรู้อะไรได้บ้าง

เรามาถึงจุดนี้แล้ว คงไม่มีใครถอยกลับไปใช้กระดานดำและกระดานชนวนกันอีก