ย้อนนาทีชวนสยอง : ถ้าทรัมป์กดปุ่มนิวเคลียร์ นายทหารมะกันห้ามได้ไหม?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ย้อนนาทีชวนสยอง

: ถ้าทรัมป์กดปุ่มนิวเคลียร์

นายทหารมะกันห้ามได้ไหม?

 

รายละเอียดหลายตอนในหนังสือ Peril โดยนักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ Bob Woodward และ Robert Costa ที่เพิ่งวางตลาดเมื่อเร็วๆ นี้เป็นการเปิดโปงหลายช่วงตอนที่สร้างความหวาดเสียวว่าโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเปิดศึกนิวเคลียร์กับชาติใดชาติหนึ่งเพื่อรักษาตำแหน่งของตนหรือไม่

วันที่ 6 มกราคม 2021 ก่อนที่โจ ไบเดน จะรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ 14 วัน ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้แพ้เลือกตั้งก่อจลาจลด้วยการบุกถล่มตึกรัฐสภา

เป็นภาพความวุ่นวายที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก

แม้กระทั่งผู้นำทหารจีนเองก็ยังหวั่นเกรงว่าทรัมป์อาจจะสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ณ จุดใดจุดหนึ่งในโลกใบนี้เพื่ออ้างอำนาจของตนในการประกาศภาวะฉุกเฉิน

และอาจจะยึดอำนาจการปกครองไว้กับตนเอง ไม่ส่งไม้ต่อให้ไบเดน

เป็นแนวคิดที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในอเมริกา

แต่สำหรับพลเอกมาร์ก มิลเลย์ ในฐานะประธานเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐแล้ว

ไม่ว่า “ฉากทัศน์” อย่างนั้นจะเข้าข่าย “ไม่น่าจะเป็นไปได้” แต่ก็ประมาทไม่ได้

เขาจึงใช้เบอร์ลับโทร.หานายพลหลี่ จั๊วเฉิง หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการทหารของกองทัพจีนที่ปักกิ่ง

เพื่อบอกกล่าวในฐานะนายทหารด้วยกันว่าอย่าได้ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่วอชิงตัน

นายพลจีนคนนี้เคยแสดงความกังวลว่าทรัมป์อาจจะโจมตีจีนเพื่อสร้างสถานการณ์ความตึงเครียดเพื่อใช้อ้างปฏิบัติอะไรบางอย่างในประเทศสหรัฐเองก็ได้

นายพลมิลเลย์ยืนยันกับนายพลหลี่ว่า “อย่าระแวงสงสัย สถานการณ์ในบ้านผมยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ครับ…”

แต่ในความเป็นจริงนั้น หนังสือเล่มนี้เปิดโปงรายละเอียดหลายประเด็นที่สะท้อนว่าสถานการณ์ในอเมริกาช่วงนั้นอยู่ในภาวะ “ไม่ปกติ” จริงๆ

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับนายพลมาร์ก มิลเลย์ ประธานเสนาธิการทหารร่วม

หนึ่งในคนที่ต้องการต่อสายคุยโดยด่วนกับนายทหารอาวุโสคนนี้คือแนนซี่ เพโลซี แห่งพรรคเดโมแครต ประธานสภาผู้แทนราษฎรและนักการเมืองที่มีประสบการณ์ช่ำชองยาวนานกว่า 34 ปี

เธอถามนายพลมิลเลย์ตรงๆ ว่า

“ท่านมีแผนอะไรที่จะป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีที่มีสภาพจิตไม่ปกติสั่งการให้โจมตีประเทศอื่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเราบ้างไหม”

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร แนนซี่ เพโลซี เป็นบุคคลที่ต้องรับหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีหากตัวประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไม่อาจจะทำหน้าที่ได้

เธอจึงมีตำแหน่งที่สำคัญอันดับ 3 ของประเทศทีเดียว

นายพลมิลเลย์ตอบเธอว่า

“เรามีระบบการถ่วงดุลอำนาจอยู่ครับ เราจะไม่ยอมให้ใครทำอะไรบ้าๆ ที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงครับ”

เพโลซีซักต่อว่า “แล้วคุณจะทำอย่างไร? คุณมีวิธีจะยึดเอาลูกฟุตบอลออกจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้อย่างไร?”

คำว่า “ลูกฟุตบอล” (football) ในที่นี้หมายถึงกระเป๋าเล็กๆ ที่ใส่รหัสลับสำหรับการกดปุ่มอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐเพื่อโจมตีศัตรูในกรณีที่ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน

เจ้า “ฟุตบอล” นี้โดยปกติแล้ว ไม่ว่าตัวประธานาธิบดีไปไหน ก็จะมีนายทหารคนหนึ่งที่ถือติดตัวไปด้วยเสมอ

นอกจากจะมีปุ่มรหัสลับแล้ว ก็ยังมี “สมุดปกดำ” (black book) ซึ่งจะระบุเป้าของการโจมตีที่อยู่ในดุลพินิจของฝ่ายความมั่นคง

แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วคนที่จะกดปุ่มนี้ได้คือตัวประธานาธิบดีเท่านั้น

นายพลมิลเลย์ตอบว่า “เรามีขั้นตอนของเราครับ เรามีทั้งรหัสลับหลายชุดและมีการกำหนดขั้นตอนสำหรับปฏิบัติการครับ ในฐานะประธานเสนาธิการร่วมทหาร ผมให้ความมั่นใจท่านได้ครับว่าผมจะไม่ยอมให้อะไรที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติเกิดขึ้นได้ครับ”

นั่นแปลว่านายทหารที่มีอำนาจสั่งการสูงสุดของอเมริกาคนนี้ก็ตระหนักว่าการที่ทรัมป์ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 14 วัน (ก่อนที่โจ ไบเดน จะรับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคม) นั้นยังมีความเสี่ยงที่ทรัมป์จะทำอะไรเพี้ยนๆ กับปุ่มนิวเคลียร์ได้

เป็นสภาวะที่สุ่มเสี่ยงและน่าหวาดเสียวอย่างยิ่ง

เพราะนายพลมิลเลย์ก็คงไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าทรัมป์สั่งการให้กองทัพอเมริกาโจมตีประเทศไหนโดยไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานว่าสหรัฐตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามจริง เขาจะทำอย่างไร

ที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าที่นายทหารถือติดตามทรัมป์ไปทุกแห่งนั้นคือ football หรือกล่องบรรจุปุ่มรหัสลับระเบิดนิวเคลียร์

ประธานสภาเพโลซีรู้ว่านายทหารคนนี้เองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าทรัมป์เกิดทำอะไรเพี้ยนๆ ขึ้นมาผู้นำกองทัพจะทำอย่างไร

แต่ในนาทีแห่งความตึงเครียดอย่างหนักเช่นนี้ นายพลมิลเลย์ก็ต้องใช้ความเป็นนายทหารในสงครามตอบคำถามของหมายเลขหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

“ผมจะไม่ยอมให้กองทัพเราทำอะไรที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมแน่นอนครับ”

แต่ประธานสภายังไม่เชื่อ ถามต่อว่านายพลคนนี้แน่ใจได้อย่างไรว่าจะสามารถสกัดทรัมป์ได้ถ้าเขาสั่งการที่ทำให้เกิดวิกฤตโลกได้

นายพลมิลเลย์ตอบว่า

“เรามีขั้นตอนและกฎกติกาครับ การที่ประธานาธิบดีจะกดปุ่มนิวเคลียร์จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูล, การนำเสนอหลักฐานและต้องเป็นข้อมูลจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือองค์กรที่มีอำนาจ และต้องถูกต้องตามกฎหมายด้วย การตัดสินใจใช้กำลังหรืออาวุธนิวเคลียร์ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องด้วยกฎหมายและหลักการของเหตุและผลครับ…”

นายพลมิลเลย์ใช้คำว่า authentication กับ certification อันหมายถึงการการต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนที่ประธานาธิบดีจะสามารถตัดสินใจสั่งการใช้กำลังหรืออาวุธร้ายแรง

เพโลซีบอกนายพลมิลเลย์ว่า

“แต่คุณรู้ไม่ใช่หรือว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้กระทำการที่ผิดศีลธรรม, ผิดกฎหมายและผิดจรรยาบรรณก่อนหน้านี้หลายครั้ง แต่ในทำเนียบขาวก็ไม่มีใครยับยั้งเขาได้…”

นายพลมิลเลย์ต้องยอมรับความจริง

“ผมไม่อาจจะเห็นแย้งกับท่านในเรื่องนี้ได้ครับ”

 

เสร็จจากบทสนทนาอันเร่าร้อนกับเพโลซีแล้ว นายพลมิลเลย์ก็ตระหนักว่าเขากำลังแบกภารกิจอันหนักหน่วงที่สุดในชีวิตของการเป็นทหารอยู่บนบ่าของตัวเอง

ทันใดนั้น เขาก็เรียกคณะนายทหารประจำศูนย์บัญชาการทหารของสหรัฐที่มีชื่อเต็มว่า National Military Command Center (NMCC) ให้มาพบเขาโดยด่วน

นี่คือหน่วยงานความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของสหรัฐ เพราะเป็น “วอร์รูม” ที่สื่อสารคำสั่งการจากผู้นำกองทัพหรือประธานาธิบดีให้ปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญๆ ทั้งหลาย

ว่าแล้ว นายพลมิลเลย์ก็สั่งการคณะนายทหารนี้ว่า

“ขอให้ฟังผมให้ดี และขอให้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ของผมอย่างเคร่งครัด พวกเราทราบว่าประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการในฐานะผู้บัญชการทหารสูงสุด (Commander-in-Chief) แต่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากมีคำสั่งทางทหารใดๆ จากประธานาธิบดี ทุกคนต้องแจ้งผมก่อนที่จะตัดสินทำตามคำสั่งใดๆ…โดยไม่มีข้อยกเว้น…เข้าใจไหม? ทุกคนเข้าใจคำสั่งนี้นะ…ขอให้ปฏิบัติตามนี้อย่างเคร่งครัดที่สุด…ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น…เข้าใจไหม?”

นายทหารทุกคนที่เข้าแถวยืนรับคำสั่งนั้นตอบอย่างฉาดฉานว่า

“เข้าใจครับ!”

ได้อ่านรายละเอียดของบทสนทนาของนายพลมิลเลย์กับนายพลหลี่ของจีน, กับประธานสภาเพโลซีและกับคณะนายทหารประจำวอร์รูมสูงสุดของกองทัพอเมริกาแล้ว

บอกได้คำเดียวว่า

หากเกิดความผิดพลาดแม้แต่จังหวะใดจังหวะหนึ่งก่อนไบเดนเข้านั่งทำเนียบขาว ทรัมป์เกือบกดปุ่มเปิดศึกสงครามโลกครั้งที่สามจริงๆ!

รู้แล้วต้องหนาวไปทั้งโลกจริงๆ