ระเบียบเศรษฐกิจใหม่/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ระเบียบเศรษฐกิจใหม่

 

เผชิญสถานการณ์ใหม่

ระเบียบเศรษฐกิจปัจจุบัน

หากเราทบทวนระเบียบเศรษฐกิจต่างๆ ที่สถาปนาขึ้นมาในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนขณะนี้ นับว่าพอสรุปได้ดังนี้

กรอบใหญ่ ได้แก่ APEC และ G 20

กรอบภูมิภาค ได้แก่ CPTTP และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP ซึ่งนับเป็นระเบียบเศรษฐกิจใหม่ น้องใหม่ที่เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ 1 มกราคม ปีนี้

อย่างไรก็ตาม หากมองด้วยแง่มุมการเมืองโลกเราจะเห็นแง่มุมอื่นๆ ที่เป็นจริงของระเบียบเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ อันอาจสะท้อนความเป็นจริงที่มักอ้างแต่ความร่วมมือ แต่เป็นการแข่งขันระหว่างกัน ความจริงแห่งอำนาจและผลประโยชน์ของชาติอภิมหาอำนาจ ที่เป็น แกนนำ แห่งระเบียบเศรษฐกิจใหม่นั้นๆ

ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์ลึกทั้งผู้เล่นหลัก ยุทธศาสตร์หลัก และการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา

 

ระเบียบของชาติตะวันตก

อาจกล่าวได้ว่าระเบียบเศรษฐกิจที่ใหญ่และสำคัญมีอยู่ กรอบคือ APEC และ G 20 อาจจะมองได้ว่านี่เป็นระเบียบและกติกาดั้งเดิมที่มีมานานแล้ว แต่ก็เป็นระเบียบเศรษฐกิจที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และด้วยเวลาที่เนิ่นนาน สถานะที่เป็นเวทีดั้งเดิม จนเกินไปก็ได้ สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรจึงประดิษฐ์ระเบียบเศรษฐกิจใหม่ที่แข็งขัน

แต่แข็งกร้าวขึ้นมาคือ AUKUS AUKUS เป็นระเบียบทางการเมืองและยุทธศาสตร์การทหารมากกว่าระเบียบเศรษฐกิจ ในแง่ที่ว่า เป็นระเบียบและความร่วมมือที่ก่อตั้งระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ที่ตรงไปตรงมาโดยเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำ ที่อ้างถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาต่อสหราชอาณาจักรและต่อออสเตรเลีย

มีสตอรี่คือ ออสเตรเลียเปลี่ยนแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศฝรั่งเศสมาเป็นสหราชอาณาจักร และได้รับสัญญาว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ไม่เพียงปีที่ผ่านมามีการสถาปนาระเบียบการเมือง ยุทธศาสตร์การทหาร อันโฉ่งฉ่างของชาติตะวันตก อันแสดงชัดเจนมาว่าเพื่อต่อต้านพลังอำนาจทางทะเลของจีนโดยตรง

อันสะท้อนการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับจีนในยุทธศาสตร์ทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งการค้าและการทหารโดยตรงแล้ว

สหรัฐอเมริกายังผลักดันการจัดประชุมที่เรียกว่า Forum for Democracy จัดการประชุมและเปลี่ยนความคิดเห็นทางออนไลน์ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับผู้นำชาติต่างๆ ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ

น่าสนใจเฉพาะอาเซียน ไม่เชิญไทย เมียนมาและสิงคโปร์

การไม่เชิญไทย เมียนมาและสิงคโปร์ เท่ากับแบ่งแยกประเทศประชาธิปไตยตามความคิดของสหรัฐอเมริกาโดยตรง แน่นอนว่าเกิดอาการเสียหน้าอย่างหนัก แม้ใครจะบอกว่า หากเขาเชิญ อาจต้องคิดมากว่าจะไปคุยด้วยดีไหม

ตลกนะครับ ผู้นำสิงคโปร์ไม่เห็นต้องตอบโต้ให้เสียหน้าซ้ำๆ อีกเลย

เราตีโจทย์ไม่แตกว่า เขาให้คำจำกัดความว่าเราไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย เพื่อเคาะประตูบ้านเราให้เราตื่นแล้วหันไปหาเขาเสียที อย่ามัวรอรถไฟความเร็วสูงเลย

คราวนี้ลองหันมาดูระเบียบที่จีนสถาปนาเปรียบเทียบแล้วจะเห็นความน่าสนใจระเบียบต่างๆ เพิ่มขึ้น

 

ระเบียบเศรษฐกิจจีน

จีนได้ก่อร่างสร้างระเบียบเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคเอเชียโดยมิได้แสดงตนชัดนักว่าเป็นระเบียบทางยุทธศาสตร์การทหาร คือ CPTTP ความร่วมมือนี้เน้นไปที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แล้วนำไปสู่การเข้าถึงการลงทุนและการค้า ที่เปิดโอกาสให้จีนเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและตลาดในอาเซียนโดยตรง

หากมองจากเศรษฐกิจใหญ่ย่อมได้เปรียบเศรษฐกิจที่เล็กกว่า อ่อนแอกว่า ดังนั้น ตอนนี้เวียดนามและแม้แต่ญี่ปุ่นยังประสบปัญหาการเข้ามาตีตลาดของจีน และเริ่มตอบโต้จีนบ้างแล้ว

ที่น่าสนใจ ปีนี้จีนเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ RCEP ที่มีญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นสมาชิก มีข่าวว่า อินเดียก็สนใจเป็นสมาชิกด้วย

ระเบียบเศรษฐกิจใหม่นี้ มีนักวิชาการจีนและ Think Tank จีนเชื่อว่าจะยกระดับและเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งจีนพัฒนาเป็นเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อดิจิตอลไลเซชั่น เศรษฐกิจข้ามพรมแดน ก้าวข้ามการค้าชายแดนระหว่างจีนกับประเทศนั้นประเทศนี้ การดิจิตอลไลเซชั่น เศรษฐกิจอาเซียน ที่เติบโตมากกว่า ก้าวหน้ากว่า ใหญ่กว่า จะก่อผลดีต่อเศรษฐกิจจีนหลายเท่า มากกว่าเขตการค้าเสรี (Free Trade Area-FTA) หมายความว่า เขตการค้าเสรีก็ดำเนินไป ดิจิตอลไลเซชั่นก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและมีพลวัตสูงยิ่ง

เราไม่ควรหลงลืมระเบียบเศรษฐกิจใหม่ ใหญ่ยักษ์ของจีนคือ

ข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่ครอบคลุม 170 กว่าประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกบีอาร์ไอ เป็นมากกว่าข้อริเริ่ม

มันเป็นกลไกหลัก สัมพันธ์เชื่อมโยงทุกภูมิภาคของโลก สัมผัสเชื่อมต่อภาคพื้นดินกับภาคพื้นสมุทร ตลาดต่อตลาด สินค้าและบริการต่อตลาด และบริการเชื่อมต่อโยงใยเป็นเครือข่ายใยแมงมุมด้วยรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ถนน ทั่วโลก

 

อาเซียน อนาคตและระเบียบเศรษฐกิจ

กล่าวอย่างทุบโต๊ะ เรามีอาเซียน องค์การความร่วมมือระดับภูมิภาค มีสมาชิก 10 ประเทศที่แตกต่างกัน ร่วมมือกันมากกว่าขัดแย้งไม่เหมือนยุคสงครามเย็น

แต่ในความเป็นจริงทางการเมืองโลก อาเซียนยังคงเผชิญกับสงครามเย็นยุคใหม่ (New Cold War)

อาเซียนยังอยู่ในวังวนของค่ายการเมือง

ชาติอาเซียนยังมีความแตกต่างทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในอาเซียน เรามีกลไกของร่วมมือมากมายอยู่ในกฎบัตร ความตกลง วงประชุม เช่น บวกชาติคู่เจรจา หากมองไปที่อาเซียนภาคพื้นดิน เราจะเห็นอนุระเบียบ สำคัญได้แก่ Lanchang-Mekong initiative และ Lower Mekong Cooperation

โดยที่ทั้งสองอนุระเบียบ นำโดยจีนอันหนึ่ง นำโดยสหรัฐอเมริกาอีกอันหนึ่ง

 

พลวัตแห่งความเปลี่ยนแปลง

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เปลี่ยนแปลงมากมาย

โรคระบาดโควิด-19 ได้เปลี่ยนโลกของเราไปหลายประการ วิถีชีวิต วิถีการทำงาน วิถีการเดินทาง การเมืองรูปแบบใหม่ด้วย ท่ามกลางวิถีใหม่ที่ยังขับเคลื่อนอันนำมาซึ่งความไม่แน่นอนต่างๆ มากมายนี้

มีอีก 2 อย่างที่โลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย อันมีทั้งด้านบวกและลบคือ Digitalization และสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change

ผมไม่อาจสรุปได้ว่า ดิจิตอลไลเซชั่นจะนำโลกไปสู่ในทิศทางใด ภาคส่วนไหนจะเป็นอย่างไรบ้าง

สภาพภูมิอากาศกลับท้าทายเราทุกคนในโลกอย่างน้อยที่สุด โลกเราร้อนขึ้นไม่ว่าจะกี่องศาก็ตาม มองในแง่นี้ มองกลับมาที่ภูมิภาคเอเชีย เราไม่พบระเบียบอะไรเลยที่จะรองรับพลวัตความเปลี่ยนแปลงทั้งสองดังกล่าว

ผมเลยย้อนกลับไปดู Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy-ACMECS

 

ทำไมต้อง ACMECS

ไม่จำเป็นต้อง ACMECS ก็ย่อมได้ แต่ขอให้ดูองค์ประกอบของ ACMECS ก่อตั้งเมื่อ 2003 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว

ตอนนั้น ภูมิภาคอาเซียนกำลังเติบโต กำลังมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อาเซียนกำลังเปลี่ยนจากสังคมเกษตรและอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่รับจ้างผลิตทำของไปขายยังเศรษฐกิจที่เจริญแล้ว ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมากำลังก่อตัว

เศรษฐกิจแม่โขงหรือ Mekong economies เศรษฐกิจแม่โขงคืออะไรและสำคัญอย่างไร?

 

เศรษฐกิจแม่โขง

เศรษฐกิจแม่โขง เป็นระบบเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผนวกกับเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรเกือบหนึ่งพันล้านคน ปี 2022 มี GDP ขนาดใหญ่ขึ้น ตลาดกว้างขวางขึ้นเมื่อรวมกับตลาดจีน ตลาดอินเดีย เศรษฐกิจแม่โขง เป็นจุดเชื่อมต่ออย่างมีนัยยะทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจคือ ตลาดการค้าเสรี ยุทธศาสตร์การเมืองในแง่เป็นพลังขับเคลื่อนทางการเมืองโลกผ่านองค์กรอาเซียน เป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าเชื่อมต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก

ACMECS มีกลไกที่ใช้บูรณาการและหลอมรวมเศรษฐกิจแม่โขงเข้ากับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอยู่แล้ว อย่างไร้รอยต่อเชื่อมโยงหลายด้านพร้อมกันทั้งกายภาพ ดิจิตอล ระดับสถาบันและระดับประชาชนกับประชาชน

ท่ามกลางระเบียบเศรษฐกิจของชาติอภิมหาอำนาจ ที่แข่งขันกัน เป็นระเบียบเศรษฐกิจ ที่เป็นทางเลือกของภูมิภาคและของไทยได้

เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจแม่โขง ไปด้วยกัน